4 ส. สร้างสรรค์งานด้านสิ่งแวดล้อมของฮาร์วาร์ด

ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม นับเป็นประเด็นหนึ่งที่ได้รับความสนใจมากในขณะนี้ สังเกตได้จากในช่วง 2- 3 เดือนที่ผ่านมานี้ ผมได้รับเชิญให้ไปออกรายการวิทยุ และโทรทัศน์หลายรายการเพื่อพูดคุยเกี่ยวกับการพัฒนาเมือง พัฒนากรุงเทพฯ ให้น่าอยู่ ซึ่งมีการพูดคุยเพื่อหาแนวทางรณรงค์ให้ประชาชนเกิดความตื่นตัวในการร่วมรักษาสภาพแวดล้อมกันมากขึ้น
การไปพูดคุยในประเด็นดังกล่าว ทำให้ผมนึกถึงมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ซึ่งแสดงเจตนารมณ์ เป็นส่วนหนึ่งในการร่วมรักษาสิ่งแวดล้อม ดังที่ผมเคยนำเสนอไปในบทความเรื่อง ldquo;มหาวิทยาลัยสีเขียว อีกหนึ่งความห่วงใยใส่ใจสังคมrdquo; ชี้ให้เห็นถึงมาตรการต่าง ๆ ที่ฮาร์วาร์ดนำมาใช้เพื่อการส่งเสริมให้ประชาคมร่วมรักษาสิ่งแวดล้อมที่ดีให้เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยและสังคม
เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2008 ผมพบกับเหตุการณ์หนึ่งที่มีความน่าสนใจนั่นคือ คำประกาศของอธิการบดีดรูว์ กิลพิน เฟาสต์ (Drew Gilpin Faust)ที่ให้ประเด็นสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่มหาวิทยาลัยจะให้ความสำคัญเป็นอันดับต้น ๆ ในการดำเนินการ คำประกาศนี้ เป็นแรงบันดาลใจที่ผมขอสะท้อนมาเป็นข้อคิด 4 ส. ดังนี้
ส.1 แสดงเจตนารมณ์ที่ชัดเจนในการแก้ไขปัญหา ความตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อสภาพแวดล้อม ซึ่งอธิการบดีเฟาสต์ได้กล่าวว่า ฮาร์วาร์ดขอเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมลดปัญหาสิ่งแวดล้อม อันเป็นผลพวงจากกิจกรรมที่มาจากน้ำมือมนุษย์ โดยตั้งเป้าในการที่จะนำความรู้จากการวิจัยทุกสาขา ค้นหาวิธีการที่รักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน และเป็นแบบอย่างในการวางรากฐานเพื่อการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น
ส.2 สร้างความตระหนักถึงผลกระทบที่มีต่อชีวิต ความน่าสนใจของคำเชิญชวนในครั้งนี้คือ การสร้างความตระหนักว่า สภาพแวดล้อมที่เสื่อมโทรมลงอย่างรวดเร็ว ปัญหาภาวะเรือนกระจกที่รุนแรงขึ้นทุกวันนี้ ส่วนใหญ่เกิดมาจากกิจกรรมของมนุษย์ และเราจะเป็นผู้ที่รับผลจากการกระทำเหล่านั้นอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก ด้วยเหตุนี้จึงต้องหันมาร่วมกันคืนสภาพแวดล้อมที่ดี เพื่อสังคมที่น่าอยู่ในอนาคต โดยฮาร์วาร์ดจะขอเป็นผู้นำในการพัฒนาและลงมือปฏิบัติ เพื่อเป็นแบบอย่างแก่สังคมจะก้าวตามได้
ส.3 แสวงหาความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ในคำประกาศนี้ อธิการบดีเฟาสต์ได้กล่าวต่อไปอีกว่า การที่จะทำภารกิจนี้ให้สำเร็จจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ท่านเองจะมีส่วนร่วมโดยจะแสวงหาความร่วมมือจากผู้บริหารมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในกลุ่มไอวีลีค (กลุ่มมหาวิทยาลัยเก่าแก่ของสหรัฐอเมริกา) ซึ่งจะหยิบยกประเด็นเรื่องการแสวงหาวิธีการรักษาสิ่งแวดล้อม หารือในการประชุมผู้บริหารมหาวิทยาลัยกลุ่มไอวีลีค เดือนมิถุนายน 2008
ส.4 ส่งเสริมการบูรณาการข้ามศาสตร์เพื่อการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน การดำเนินโครงการเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมนั้น อธิการบดีเฟาสต์ได้ดึงคณาจารย์ที่สนใจในเรื่องสิ่งแวดล้อม มาร่วมคิดหาวิธีส่งเสริมกิจกรรมเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมให้ได้รับความสนใจ รวมถึงการนำความรู้จากหลากหลายสาขาวิชา เพื่อทำให้เกิดการค้นคว้า หาทางออกที่เป็นรูปธรรม และมีผลอย่างยั่งยืน ผู้ที่มาร่วมกับโครงการนี้จึงมีทั้งนักศึกษา นักวิจัย คณาจารย์ มาจากหลากสาขาวิชา ไม่ว่าจะเป็น ภาควิชาการออกแบบ ปฐพีวิทยา วิศวกรรม ศิลปศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ชีววิทยา สาธารณสุข รัฐศาสตร์ บริหารธุรกิจ กฎหมาย ต่างมีสิทธิเข้ามาร่วมในโครงการ
คำกล่าวของอธิการบดีเฟาสต์ ในครั้งนี้จึงเป็นการจุดประกายให้แก่ประชาคมฮาร์วาร์ด ในการร่วมรณรงค์ และเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสรรค์กิจกรรมที่รังสรรค์สภาพแวดล้อมในสังคมดีขึ้น ถือว่าเป็นการปลุกเร้า เพื่อทำให้เกิดการสานต่อกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง ภายหลังจากอธิการบดีในหลายยุคหลายสมัยได้พยายามสนับสนุนโครงการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วยดีเสมอมา
สะท้อนคิดมาสู่ประเทศไทย หากเราต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนในสังคมไทย ทั้งในด้านการรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นประเด็นที่หลายฝ่ายต่างกังวลถึงผลกระทบที่จะตามมา รวมไปถึงประเด็นทางสังคมอื่น ๆ ที่เราต้องพิจารณาร่วมกัน ผมเห็นว่า การขับเคลื่อนที่สำคัญต้องเริ่มต้นมาจากผู้นำ ซึ่งสะท้อนมาจากสิ่งที่อธิการบดีเฟาสต์ได้แสดงออกในครั้งนี้
ความสามารถในการขับเคลื่อนสังคมนั้น เริ่มต้นจากผู้นำที่วาดวิสัยทัศน์ให้ชัดเจน เพื่อทำให้ทุกคนเห็นเป้าหมายที่จะไปร่วมกัน มีความกล้าหาญนำความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีมาสู่ส่วนรวม รวมถึงการเรียนรู้ที่จะดึงทรัพยากรที่มีอยู่มาแก้ปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ
ตัวอย่างเช่น หากเราต้องการเห็นกรุงเทพเป็นเมืองสะอาด เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ผู้ว่าราชการฯ จำเป็นต้องกล้าที่จะประกาศเจตนารมณ์ที่ชัดเจนในการปฎิบูรณาการเมือง มีการลงทุนขนาดใหญ่ (Mega-Project) เพื่อการสนับสนุนงานด้านสิ่งแวดล้อม เป็นผู้ผลักดันให้ชาว กทม. เข้าชื่อร่วมกันเพื่อเสนอกฎหมายสิ่งแวดล้อม แสวงหาความร่วมมือจากมหาวิทยาลัย สถาบันการวิจัยเพื่อได้มาซึ่งนโยบาย และแนวทางในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมทั้งในเชิงรับและเชิงรุก รวมถึงเป็นตัวอย่างในการปฏิบัติตามนโยบายที่ตนประกาศไป
ผมเชื่อว่าหากผู้นำเห็นคุณค่าของงานต่าง ๆ ที่มีผลต่อสังคมส่วนรวมในระยะยาว และเริ่มต้นขับเคลื่อนงานตั้งแต่วันนี้ เราจะเห็นว่าทั้งสังคมจะเคลื่อนตาม ส่งผลต่อประเทศชาติที่จะพัฒนาและเติบโตอย่างยั่งยืน
admin
เผยแพร่: 
สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
เมื่อ: 
2008-03-27