การรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจในสภาวะเงินบาทแข็งค่า ตลาดทุนร้อนแรง


แหล่งที่มาของภาพ : http://www.gettingagile.com/wp-content/uploads/2012/03/Stability.jpg

หากพิจารณาสภาวะตลาดเงินและตลาดทุนในปัจจุบันพบว่ามีความไม่ปกติเกิดขึ้น เห็นได้จากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น เนื่องจากมีเม็ดเงินจำนวนมากไหลเข้ามาในตลาดทุน ส่งผลทำให้ตลาดหุ้นไทยปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็วจากความคาดหวังผลตอบแทนที่จะได้รับในอนาคตทั้งจากเงินปันผล และกำไรจากส่วนต่างของราคาสินทรัพย์ที่เพิ่มขึ้น (Capital gain) และอาจมีนักลงทุนบางส่วนที่เข้ามาเก็งกำไรจากค่าเงิน

จากความไม่ปกติที่เกิดขึ้นนี้ บ่งบอกถึงความเสี่ยงที่จะนำไปสู่ปัญหาตามมาได้ ซึ่งที่ผ่านมามีข้อเสนอแนะมากมายที่ส่งไปถึง ธปท. เกี่ยวกับแนวทางรักษาความสามารถในการแข่งขันของภาคการส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากเงินบาทแข็งค่า และรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ จากสถานการณ์ในปัจจุบันนับว่ามีความเสี่ยงที่สำคัญในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งมีความยากลำบากในการบริหารจัดการ ดังนี้

ความเสี่ยงประการแรก คือ ความเสี่ยงด้านอัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากเงินทุนที่ไหลเข้ามาเป็นจำนวนมากทำให้มีความต้องการซื้อเงินบาทมากขึ้น มีเงินบาทเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจจำนวนมาก ในขณะที่เศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงด้านอัตราเงินเฟ้ออยู่แล้ว ทั้งจากแรงผลักด้านต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากนโยบายอัตราค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน และจากแรงดึงของอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้น โดยเป็นผลจากนโยบายของรัฐบาลที่ทำให้ประชาชนมีรายได้สูงขึ้นและใช้จ่ายมากขึ้น เช่น นโยบายจำนำข้าว นโยบายรถคันแรก เป็นต้น
การดำเนินนโยบายรักษาเสถียรภาพของค่าเงินบาทจึงอยู่ในภาวะยากลำบาก เนื่องจากการใช้นโยบายปรับลดอัตราดอกเบี้ย ในด้านหนึ่งอาจช่วยลดปริมาณเงินทุนที่ไหลเข้ามาเก็งกำไรในตลาดทุนจากผลต่างของอัตราดอกเบี้ย ซึ่งทำให้ค่าเงินบาทมีเสถียรภาพมากขึ้น และลดปริมาณเงินบาทที่เข้าสู่ระบบ แต่ในอีกด้านหนึ่งการลดอัตราดอกเบี้ยก็จะยิ่งกระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชนมากขึ้น ซึ่งทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อจากแรงดึงด้านอุปสงค์มากขึ้น

ในระยะ 2-3 ปีต่อจากนี้มีแนวโน้มว่า กระแสเงินทุนจะไหลเข้ามาในเอเชียมากขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจเอเชียยังมีแนวโน้มขยายตัวสูง รวมทั้งการรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจะดึงดูดเงินลงทุนจากนอกภูมิภาคมากขึ้น ในขณะที่เศรษฐกิจของประเทศพัฒนาแล้วยังอยู่ในภาวะชะลอตัว ในขณะเดียวกันรัฐบาลมีนโยบายลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้วยวงเงินกู้สูงถึง 2 ล้านล้านบาท ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเงินกู้จากต่างประเทศ สถานการณ์เช่นนี้ทำให้ยังคงมีแรงกดดันต่ออัตราแลกเปลี่ยนอย่างต่อเนื่อง การลงทุนขนานใหญ่ยังทำให้อุปสงค์เพิ่มขึ้นมากซึ่งทำให้มีความเสี่ยงที่อัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นด้วย

การใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำจึงอาจไม่มีประสิทธิภาพอย่างเพียงพอในการบริหารจัดการเสถียรภาพเศรษฐกิจของประเทศในระยะต่อไป จึงจำเป็นต้องมีมาตรการอื่นเข้ามาช่วยจัดการระบบเศรษฐกิจ อาทิเช่น
การดึงเงินทุนสำรองระหว่างประเทศมาจัดตั้งกองทุนเพื่อลงทุนในโครงการที่เป็นยุทธศาสตร์ เช่น การลงทุนในการสำรวจและพัฒนาแหล่งพลังงานและทรัพยากรที่สำคัญ การลงทุนในอุตสาหกรรมหรือนวัตกรรมที่เป็นยุทธศาสตร์ในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต เป็นต้น ทั้งนี้การลงทุนควรเน้นการลงทุนระยะยาวในต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยลดรักษาสมดุลของเงินทุนไหลเข้า-ออก ทำให้ค่าเงินบาทมีเสถียรภาพมากขึ้น

การจัดระบบบริหารจัดการเงินกู้และการใช้จ่ายเงินในการลงทุนของภาครัฐและรัฐวิสาหกิจโดยคำนึงถึงเสถียรภาพเศรษฐกิจของประเทศ กล่าวคือ ต้องมีการวางแผนและจัดตารางเวลาโดยระบุว่า จะมีการนำเงินกู้จากต่างประเทศเข้ามาเท่าไรและเมื่อใด และจะจ่ายเงินเพื่อนำเข้าสินค้ามาใช้ในโครงการของรัฐเท่าไรและเมื่อใด เพื่อมิให้ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของค่าเงินมากเกินไป โดยแผนจะต้องมีความยืดหยุ่นตามสถานการณ์ของเศรษฐกิจในแต่ละช่วงเวลาด้วย ทั้งนี้โครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่จะมีสัดส่วนการนำเข้าถึงร้อยละ 30-40 ของงบประมาณของโครงการ การดำเนินโครงการเหล่านี้จึงจำเป็นต้องมีการบริหารการนำเข้าเพื่อประโยชน์ต่อการรักษาเสถียรภาพของค่าเงินด้วย

อีกมาตรการหนึ่งคือ การบริหารจัดการการชำระหนี้เงินกู้ต่างประเทศของภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ ซึ่งต้องพิจารณาว่าควรเร่งคืนหนี้ก่อนกำหนดหรือไม่ โดยนอกเหนือจากประโยชน์ด้านภาระเงินต้นและดอกเบี้ยที่ลดลงจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าแล้ว ควรพิจารณาถึงการมีส่วนช่วยในการบริหารจัดการเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยนด้วย
ความเสี่ยงอีกประการหนึ่ง คือ ความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะฟองสบู่ การไหลเข้ามาของเงินลงทุนจากต่างประเทศจำนวนมากทำให้ราคาสินทรัพย์ในประเทศมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ปรากฏการณ์ที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือการเพิ่มขึ้นของดัชนีตลาดหลักทรัพย์และราคาหุ้นอย่างร้อนแรง จนเริ่มมีความกังวลว่าจะเกิดภาวะฟองสบู่ในตลาดหุ้นเหมือนที่เคยเกิดขึ้นในช่วงก่อนวิกฤติต้มยำกุ้ง เนื่องจากราคาหุ้นบางตัวมีราคาสูงกว่าปัจจัยพื้นฐานแล้ว

การจัดการภาวะฟองสบู่ในตลาดหลักทรัพย์เป็นสิ่งที่ละเอียดอ่อน เนื่องจากนักลงทุนในตลาดหุ้นมีความอ่อนไหวสูง การใช้มาตรการแทรกแซงตลาดที่เข้มเกินไปอาจส่งผลเสียต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนและทำให้เกิดผลกระทบรุนแรงในทันที ซึ่งนอกจากจะส่งผลกระทบต่อตลาดหลักทรัพย์แล้ว ยังอาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพอัตราแลกเปลี่ยนอย่างรุนแรงด้วย  

รัฐบาลและหน่วยงานที่รับผิดชอบควรส่งสัญญาณเตือนนักลงทุนอย่างต่อเนื่องและทันเวลา และมีมาตรการตรวจสอบและป้องกันภาวะฟองสบู่ในตลาดหุ้น เพื่อปกป้องนักลงทุนจากความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น รวมทั้งมีการให้ความรู้แก่นักลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะนักลงทุนหน้าใหม่ที่จะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นในอนาคต โดยกำหนดให้มีหลักสูตรอบรมและกรทดสอบมาตรฐานความรู้สำหรับนักลงทุนใหม่

ความเสี่ยงของภาวะฟองสบู่อีกด้านหนึ่ง คือ ฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากโครงการลงทุนของรัฐบาลในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ โดยเฉพาะระบบขนส่งมวลชนทั้งระบบรางและถนน จะทำให้เกิดการเก็งกำไรในราคาที่ดินและอาคารที่ตั้งอยู่ตามเส้นทางที่ระบบขนส่งมวลชนและถนนตัดผ่าน รวมทั้งทำให้เกิดการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ใหม่ๆ เป็นจำนวนมากตามเส้นทางดังกล่าว ซึ่งหากรัฐบาลขาดการจัดการที่ดีอาจทำให้เกิดภาวะฟองสบู่ของราคาที่ดินและที่อยู่อาศัย เพราะมีโครงการต่างๆ เกิดขึ้นมากกว่าความต้องการที่มีอยู่จริง

ธนาคารแห่งประเทศไทยควรกำกับดูแลให้ธนาคารพาณิชย์ต่างๆ มีความระมัดระวังในการให้สินเชื่อสำหรับการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์และสำหรับการซื้ออสังหาริมทรัพย์มากขึ้น เพื่อป้องกันมิให้เกิดปัญหาหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งอาจสร้างผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ

ดูเหมือนว่า ความเสี่ยงอันเกิดจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งเป็นผลจากการไหลเข้า-ออกของเงินทุนจะเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยเป็นระยะๆ และดูเหมือนว่าข้อถกเถียงเกี่ยวกับแนวทางจัดการปัญหาจะเกิดทวนซ้ำเหมือนฉายหนังม้วนเก่า แต่เมื่อสถานการณ์ผ่านไปก็กลับไม่มีการพูดคุยเตรียมวิธีป้องกันหรือลดผลกระทบจากปัญหานี้

เราจำเป็นต้องมีการพูดคุยหรือถกเถียงอย่างจริงจังว่า เราจะจัดการปัญหาและป้องกันปัญหานี้อย่างไร และมีวิธีอื่นนอกเหนือจากวิธีเดิมที่มีอยู่หรือไม่ ซึ่งผมเห็นว่า นอกเหนือจากการบริหารนโยบายการเงินการคลังในระดับมหาภาคแล้ว การบริหารเชิงจุลภาคดังที่ได้เสนอในบทความนี้เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ควรมีการพิจารณาอย่างจริงจังเสียที  

ศ.ดร. เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
kriengsak@kriengsak.comhttp://www.kriengsak.com