โอกาสทองของการเกษตรไทยหลังยุคโควิด-19
ภาคเกษตรเป็นภาคเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย แม้ว่าสัดส่วนของภาคเกษตรต่อเศรษฐกิจโดยรวมจะลดลง แต่ภาคเกษตรไทยยังคงสร้างรายได้ให้กับประเทศไทยจำนวนมาก โดยไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกอาหาร อันดับที่ 11 ของโลก และอันดับที่ 2 ของเอเชีย รองจากจีน เป็นผู้ส่งออกสินค้าสำคัญของโลกในสินค้าเกษตรและอาหารหลายชนิดเช่น ข้าว มันสำปะหลัง ไก่ กุ้ง ยางพารา น้ำตาล สับปะรดกระป๋อง ปลาทูน่ากระป๋อง และลำไย เป็นต้นเมื่อเกิดวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด19 ได้สร้างวิกฤตทั้งทางด้านสาธารณสุขและเศรษฐกิจรวมถึงภาคอุตสาหกรรมสินค้าภาคเกษตร จึงส่งผลกระทบเศรษฐกิจโดยรวมและการจ้างงานอย่างรุนแรง และการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ความต้องการสินค้าเกษตรหลายประเภทลดลง เนื่องจากเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจในประเทศได้รับผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์ ร้านอาหารจำนวนมากต้องปิดร้าน การซื้อวัตถุดิบจึงน้อยลง ทำให้อุตสาหกรรมที่ใช้สินค้าเกษตรเป็นวัตถุดิบรับซื้อสินค้าเกษตรน้อยลง สูญเสียช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าจากมาตรการล็อกดาวน์ และส่งผลกระทบต่อการขนส่งในประเทศและระหว่างประเทศ ทำให้เกิดอุปสรรคในการกระจายสินค้าเกษตรและอาหารในพื้นที่ต่าง ๆ วิกฤตครั้งนี้ภาคเกษตรไม่สามารถเป็นเบาะรองรับการกระแทกในช่วงวิกฤตได้เหมือนวิกฤตที่ผ่านมา เนื่องจาก ในปี 2564 ภาคเกษตรต้องเผชิญกับวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสและปัญหาภัยแล้งที่รุนแรงมากที่สุดในรอบ 40 ปี
หากเราพยายามคิดวิเคราะห์และหาทางออกจากปัญหาอย่างสร้างสรรค์ เราอาจพบว่าวิกฤตครั้งนี้เป็นโอกาสทองของภาคการเกษตรไทยหลายประการ ผมขอเสนอ 5 แนวทางที่จะเป็น โอกาสทองของการเกษตรไทยหลังยุคโควิด-19 ดังนี้
1. โอกาสทองในการพัฒนา และ แปรรูปสินค้าเกษตรใหม่ ๆ
ภาคเกษตรของไทยเดิมเน้นปลูกพืชเชิงเดี่ยว ให้ผลผลิตต่ำแต่มีความเสี่ยงสูงและการแปรรูปมีค่อนข้างจำกัด สถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้นถือว่าได้เข้ามาเปลี่ยนให้สังคมมีวิถีชีวิตปลอดเชื้อมากยิ่งขึ้น คนระมัดระวังการใช้ชีวิต สนใจข้อมูลข่าวสารประเด็นทางสุขภาพมากยิ่งขึ้น รวมถึงด้านเศรษฐกิจที่หันกลับมาพึ่งพาภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น เนื่องจากวิกฤต โควิด-19 ทำให้ภาคบริการหดตัวลง ดังนั้นจึงเป็นโอกาสทองที่จะพัฒนาสินค้าเกษตรใหม่ ๆ เช่น การทำเกษตรอินทรีย์ เกษตรปลอดสารพิษ สมุนไพร ที่จะเป็นประโยชน์ในการดูแล รักษาสุขภาพ หรืออาหารแปรรูป จากพืช จากแมลง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมแมลงที่มีการเติบโตถึงร้อยละ 20 ต่อปี เพื่อเพิ่มมูลค่าหรือพัฒนาสินค้าเกษตรใหม่ ๆ ให้ประสบความสำเร็จ เกษตรกรควรแสวงหาความรู้ทางการเกษตร เช่น การประกอบการ เทคโนโลยี รวมทั้งการคิดสร้างสรรค์ คิดนอกกรอบ เพื่อมองหาความเป็นไปได้ ไม่ยึดติดแนวทางการทำการเกษตรแบบเดิมที่เคยทำมาในอดีต นอกจากนี้ ภาครัฐควรสนับสนุนความรู้ เทคโนโลยี และทรัพยากรสำหรับการปรับตัว การจัดหาที่ปรึกษาเป็นพี่เลี้ยงดูแลเกษตรกรตลอดการปรับตัว การให้ข้อมูลการตลาด และการส่งเสริมการลงทุนในการเพิ่มมูลค่าและแปรรูปสินค้าเกษตร
2. โอกาสทองในการสร้างอัตลักษณ์ เอกลักษณ์ในสินค้าเกษตรของตัวเอง
เดิมทีเกษตรกรไทยนิยมปลูกพืชเศรษฐกิจที่คล้ายกัน แต่วิกฤตโควิด-19 เป็นโอกาสทองสำหรับเกษตรกรในการสร้างอัตลักษณ์และเอกลักษณ์ในสินค้าเกษตร เช่น ข้าวที่มีกลิ่นและรสชาติพิเศษเฉพาะ ผลไม้ที่มีขนาด รูปทรง สี รสชาติ พิเศษเฉพาะ หรือปศุสัตว์ วัว สุกร ที่มีเนื้อรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ ดังตัวอย่าง “เนื้อโกเบ” จากจังหวัดเฮียวโงะ ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นที่รู้จักไปทั่วไปโลก เป็นต้น
โอกาสที่เกิดขึ้นนี้เป็นผลมาจากมาตรการปิดเมือง ปิดประเทศ ทำให้โลกาภิวัตน์ (globalization) มีแนวโน้มลดลง การเดินทางและการค้าระหว่างประเทศลดลง อุปสงค์ต่อสินค้าเกษตรทั่วโลกลดลง ทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ตกต่ำลง ภาคเกษตรจึงจำเป็นต้องหันมาสร้างความแตกต่างของสินค้า โดยให้ความสำคัญกับการทำให้เป็นท้องถิ่น (localization) มากขึ้น เกษตรกรจึงควรตั้งเป้าปลูกหรือผลิตสินค้าเพื่อสร้างอัตลักษณ์ เอกลักษณ์ในสินค้าเกษตรของตัวเอง ลงทุนวิจัยและพัฒนาพันธุ์ สร้างความร่วมมือในกลุ่มเกษตรกร มหาวิทยาลัย ภาครัฐ เอกชน รวมถึงภาครัฐควรส่งเสริมมหาวิทยาลัยเฉพาะทางในแต่ละจังหวัด เพื่อเป็นแหล่งความรู้และวิทยาการเพื่อสนับสนุนการเกษตรและการพัฒนาในพื้นที่ ช่วยรวบรวมความรู้และแนวปฏิบัติที่ดีที่สุด (best practice) ช่วยเชิญวิทยากร ระดับโลก มาให้ความรู้ ให้คำแนะนำ ให้คำปรึกษาเกษตรกร และมีส่วนในการกำหนดตำแหน่ง (positioning) ของจังหวัดให้ชัดเจน ต้องช่วยให้ทิศทาง แก่เกษตรกรในจังหวัด
3. โอกาสทองในการปรับโครงสร้างการผลิตในระดับจุลภาคและมหภาค
ที่ผ่านมาภาคเกษตรของไทยพึ่งพาระบบตลาดและผลิตเพื่อส่งออกเป็นส่วนใหญ่ ยิ่งไปกว่านั้นยังพึ่งพาการอุดหนุนของภาครัฐอยู่ค่อนข้างมาก นโยบายของรัฐยังสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรเพาะปลูกพืชเชิงเดี่ยวเป็นหลัก ปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ทำให้เกษตรกรมีความเสี่ยงสูงและไม่สามารถพึ่งตนเองได้ในยามวิกฤต
ในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 นั้นทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมหลายประการ เช่น การให้ความสำคัญกับเสถียรภาพและการป้องกันความเสี่ยงมากขึ้น การหันมาปกป้องและพยายามพึ่งพาเศรษฐกิจในประเทศมากขึ้น การรวมกลุ่มเพื่อช่วยเหลือกันและกันและทำการผลิตเพื่อพึ่งตนเองก่อน (self-reliance first) เป็นต้น
การเปลี่ยนแปลงนี้เป็นโอกาสทองของเกษตรกรและภาครัฐที่จะปรับโครงสร้างการผลิตของภาคเกษตรทั้งในระดับจุลภาคและมหภาค เช่น 1) ปรับโครงสร้างจากเน้น “เกษตรเชิงเดี่ยว” เป็น ผสมผสาน เพื่อลดความเสี่ยงจากความผันผวนของตลาด 2) ปรับโครงสร้างจากเน้น “พาณิชย์” เปลี่ยนเป็น พาณิชย์และพึ่งตนเอง เพื่อให้สามารถอยู่ได้ในช่วงที่เกิดวิกฤต ซึ่งคาดว่ายาวถึง 2 ปี และมีแนวโน้มจะเกิดบ่อยขึ้นในอนาคต 3) ปรับโครงสร้างจากเน้น “ระบบตลาด” แบบกระแสหลัก เป็นกระแสกลาง เพื่อสร้างรายได้จากการจำหน่ายในตลาดยามปกติ และสามารถปรับตัวสู่การพึ่งตนเองได้ในยามวิกฤตเกษตรกรอาจใช้โอกาสนี้ปรับโครงสร้างการผลิต โดยการแสวงหาความรู้และประสบการณ์ด้านการทำเกษตรที่มีผลผลิตหลากหลาย การศึกษาดูงาน ฝึกอบรม และทดลองทำด้วยตนเอง รวมทั้งการรวมกลุ่มหรือเข้าเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายการเกษตรแบบผสมผสานและการเกษตรพึ่งตนเองก่อน ส่วนภาครัฐควรรวบรวมองค์ความรู้ และสนับสนุนการวิจัยและพัฒนา เพื่อพัฒนาองค์ความรู้และเทคโนโลยีการทำเกษตรแบบผสมผสาน และกระจายความรู้ให้เกษตรกรเข้าถึงได้ง่าย นอกจากนี้ภาครัฐควรมีระบบจัดเก็บข้อมูลการผลิตและสต็อกของผลผลิต
4. โอกาสทองในการพัฒนากระบวนการผลิตให้ทันสมัย
ก่อนวิกฤตโควิดเกษตรกรไทยมีแนวโน้มการใช้เทคโนโลยีในการผลิตมากขึ้นแต่กระจุกตัวอยู่ในเกษตรกรซึ่งมีที่ดินแปลงใหญ่ นอกจากนี้ผลผลิตต่อไร่ และผลิตภาพยังถือว่าน้อยเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่ง แต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีหรือนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้มากขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงการแพร่กระจายของเชื้อโรค เช่น นำเครื่องจักร หุ่นยนต์เข้ามาแทนที่ มีการนำ AI มาสนับสนุนการปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนและหุ่นยนต์ (AI enhanced robot and human interface) โดยการเปลี่ยนให้เศรษฐกิจเป็นดิจิทัลมากขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวก ในการดำเนินชีวิต ในช่วงที่ต้องเว้นระยะห่างทางสังคม
ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเป็นโอกาสทองของเกษตรกรที่จะปรับปรุงกระบวนการผลิตในภาคเกษตรให้ทันสมัย ใช้เทคโนโลยีมากขึ้น เช่น 1) การนำ big data มาใช้ประโยชน์จากข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียม และข้อมูลสภาพภูมิอากาศที่เจาะจงในแต่ละพื้นที่ 2) การวิเคราะห์โดยเทคโนโลยี AI และ machine learning เพื่อให้คำแนะนำเกี่ยวกับสภาพการเติบโตของผลผลิต น้ำ ปุ๋ยที่ต้องใช้ พยากรณ์สภาพการเปลี่ยนแปลงอากาศ ช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการเริ่มเพาะปลูกและการเก็บเกี่ยว หรือพื้นที่ใดในไร่ที่พืชมีการเติบโตได้ไม่ดี 3) การนำเทคโนโลยีเครื่องจักรกลอัตโนมัติหรือหุ่นยนต์/แขนกลในแปลงเกษตร 4) การใช้ QR Trace เพื่อตรวจสอบย้อนกลับไปถึงแหล่งผลิต เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและสร้างความเชื่อมั่นในแหล่งที่มาของสินค้า เป็นต้น
เกษตรกรที่สูงอายุอาจจะไม่ถนัดในการใช้เทคโนโลยี สามารถให้ลูกหลานคนรุ่นใหม่ช่วยสอน แนะนำการใช้เทคโนโลยีได้ เกษตรกรรายย่อย ต้องรวมกลุ่ม ใช้ประโยชน์จากโครงสร้างที่มีอยู่ เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาที่เอื้อประโยชน์ต่อกลุ่ม ในขณะที่ภาครัฐอาจส่งเสริมการพัฒนากระบวนการผลิตในภาคเกษตรให้ทันสมัยได้หลายทาง ร่วมมือกับสถาบันการศึกษาหรือภาคเอกชนที่มีศักยภาพ ลงทุนเมกะโปรเจ็กต์ สร้างแพล็ตฟอร์มกลางด้านเทคโนโลยีที่จะเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกร หรือการกำหนดหัวข้อวิทยานิพนธ์และงานวิจัยให้มหาวิทยาลัย เพื่อช่วยแก้ปัญหาเกษตรกร เป็นต้น
5. โอกาสทองในการขายและสร้างรายได้ออนไลน์ ลดการพึ่งพาพ่อค้าคนกลาง
เกษตรกรเคยต้องพึ่งพาพ่อค้าคนกลางในการจำหน่ายสินค้า รายได้ส่วนใหญ่มาจากผลผลิต และ เงินช่วยเหลือของรัฐ รวมทั้งการทำงานนอกภาคเกษตร ในช่วงนอกฤดูกาล แต่ช่วงหลังโควิด – 19 ถือเป็นโอกาสทองของเกษตรกรในการเปลี่ยนแปลงช่องทางการขายและการสร้างรายได้ อาทิ 1) การทำการตลาดกับผู้บริโภคโดยตรง เช่น ฮาซัน ชาวประมง จ.สตูล ไลฟ์ขายอาหารทะเลตากแห้งจนสามารถสร้างยอดขายได้มากกว่า 1 ล้านบาทต่อคืน 2) การสร้างรายได้จากแพลตฟอร์มออนไลน์ เพิ่มเติมจากรายได้ปกติ ซึ่งไม่ใช่จากการขายสินค้าเกษตรโดยตรง แต่อาจเป็นยูทูปเบอร์ (youtuber) ที่มีรายได้จากค่าสปอนเซอร์หรือค่าโฆษณา เป็นต้น โอกาสที่เกิดขึ้นนี้เป็นผลมาจาก การที่โควิดเข้ามาเปลี่ยนเศรษฐกิจให้เป็นดิจิทัลมากขึ้น และเปลี่ยนสังคมให้เป็นสังคมบนโลกออนไลน์ (online predominance) มากขึ้น รูปแบบใช้ชีวิต การติดต่อสื่อสาร การทำงานและการซื้อขายแลกเปลี่ยน ย้ายไปอยู่บนออนไลน์มากขึ้น เช่น การจำหน่ายสินค้าผ่านระบบอีคอมเมิร์ซ การชำระเงินผ่านระบบพร้อมเพย์ การทำการตลาดผ่านสื่อสังคมออนไลน์ เป็นต้น
เกษตรกรจึงควรเรียนรู้การใช้โซเชียลมีเดีย ฝึกไลฟ์ พัฒนาทักษะ เช่น การพูด การนำเสนอหาต้นแบบของเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จในการทำการตลาดออนไลน์ และ ประยุกต์ให้เข้ากับตัวเอง และภาครัฐควรมีส่วนทำโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่เอื้ออำนวยแก่เกษตรกร เช่น อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ให้เกษตรกรสามารถใช้งานได้ในราคาถูก มีการอบรมสอนทักษะการไลฟ์ การทำวิดีโอลงโซเชียลมีเดีย หรือการให้บริการแปลภาษาราคาถูก เพื่อทำคอนเทนต์เป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการทำการตลาดสินค้าทั่วโลก และส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศไทยด้วย
6. โอกาสทองในการเพิ่มพลังด้วยการรวมกลุ่มภราดรภาพเพื่อทำการเกษตร
ที่ผ่านมาเกษตรกรไทย เป็นเกษตรกรรายย่อย ทำให้ต้นทุนการผลิตสูง การบริหารจัดการ การใช้เทคโนโลยีการผลิตต่างๆ ไม่คุ้มค่า ไม่เกิดการประหยัดต่อขนาด (economy of scale) ขาดอำนาจต่อรอง แต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงที่จะส่งผลทำให้เกิดการเกษตรแบบใหม่ โดยการทำให้สังคมเป็นหน่วยภราดรภาพ (Fraternity Unit) มากกว่า หน่วยครอบครัว (family unit) เพื่อให้สามารถสนองความจำเป็นได้กว้างมากยิ่งขึ้น โดยชุมชนมีแนวโน้มเป็นชุมชนที่ยั่งยืนได้ด้วยตัวเอง (self-sustained communities) และเป็นชุมชนที่ยั่งยืนได้ด้วยตัวเองที่เชื่อมโยงกัน (Linked Self-Sustained Communities) เพื่อให้สามารถพึ่งตนเองได้ในยามวิกฤต และยืนได้อย่างมั่นคงในยามปกติ
สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นโอกาสทองของเกษตรกรรายย่อยในการรวมกลุ่มภราดรภาพเพื่อทำเกษตรยั่งยืน เกษตรกรจึงควรตั้งเป้าจะเป็นผู้ให้แทนที่จะมุ่งแสวงหาประโยชน์จากการรวมกลุ่ม เป็นแกนนำในการจัดตั้งกลุ่มกลุ่มจะเกิดขึ้นได้ต้องมีแกนนำ จัดตั้งโครงสร้าง สร้างระบบ และแบ่งหน้าที่ตามความเชี่ยวชาญ นอกจากนี้ภาครัฐช่วยในการประชาสัมพันธ์ อำนวยความสะดวก เพื่อให้เกิดการจับคู่เกษตรกรที่มีความต้องการเหมือนกัน และช่วยสร้างแรงจูงใจให้เกิดการรวมกลุ่ม สร้างฐานข้อมูลเกษตรกรให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงได้
ในทุกวิกฤติมีโอกาส หากเราพยายามมองหา การคิดดี คิดบวก คิดเป็น คิดครบ จะช่วยให้เรามองเห็นโอกาสทองในวิกฤติที่เกิดขึ้นได้ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้น เป็นวิกฤตที่ส่งผลกระทบต่อคนจำนวนมากทั่วโลก และทุกภาคส่วน ภาคเกษตรก็ได้รับผลกระทบไม่น้อยจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ผมขอเอาใจช่วยพี่น้องเกษตรกรประเทศไทยให้สามารถมองเห็นโอกาสและสามารถฉวยโอกาสที่เกิดขึ้นไว้ได้ เพื่อทำให้ภาคเกษตรพัฒนาก้าวหน้าอย่างมากในช่วงหลังโควิด-19 ที่จะผ่านไปครับ
แหล่งที่มา : หนังสือ กระชากเปลี่ยนอนาคต : วิเคราะห์ปฏิวัติโควิด
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันการสร้างชาติ (NBI)
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.com, www.drdancando.com
www.facebook.com/drdancando
แหล่งที่มาของภาพ : https://img.freepik.com/free-photo/close-up-box-with-ripe-vegetables_329181-4612.jpg?w=1380&t=st=1649391239~exp=1649391839~hmac=0b5c6aedffb21cf98d5b7e5811300a4e39d4d50e8fa885af734382b301b8fc50