การเปิดประชาคมอาเซียนเกี่ยวข้องกับคนกทม.อย่างไร? : ผลกระทบ (1)
แหล่งที่มาของภาพ : http://airpano.ru/files/bangkok_sausage.jpg
ในช่วงที่ผ่านมาผมได้วิเคราะห์และเขียนถึงการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในภาพรวมประเทศไทยไว้พอสมควร แต่ในฐานะที่กรุงเทพมหานครเป็นเมืองหลวงของประเทศไทย เป็นศูนย์กลางของกิจกรรมหลายๆ อย่าง และคนกทม.เองเป็นส่วนที่สำคัญไม่น้อยในการขับเคลื่อนสังคม ผมคิดว่าจะเป็นประโยชน์มากหากมีการวิเคราะห์เจาะจงเพื่อตอบคำถามว่าการเปิดประชาคมอาเซียนเกี่ยวข้องกับกรุงเทพและคนกทม.อย่างไร? โดยผมจะวิเคราะห์ถึงผลกระทบและโอกาสที่เกิดขึ้นจากการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนที่มีต่อคนกทม.รวมทั้งนำเสนอแนวทางในการปรับตัวสำหรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นการเข้าเป็นสมาชิกของประชาคมอาเซียนจะส่งผลกระทบต่อคน กทม.ในหลายด้าน ดังต่อไปนี้
1) แรงงานระดับล่างมีความเสี่ยงต่อการว่างงาน
ผู้ประกอบการใน กทม.ต้องเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นจากสินค้าและบริการที่ผลิตจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะจากประเทศที่มีต้นทุนแรงงานต่ำกว่าไทย หรือการแข่งขันจากธุรกิจข้ามชาติที่เข้ามาลงทุนในประเทศ ซึ่งอาจทำให้ภาคธุรกิจบางส่วนใน กทม.ไม่สามารถแข่งขันกับสินค้าและบริการราคาถูกจากประเทศเพื่อนบ้านได้ และต้องสูญเสียส่วนแบ่งการตลาดหรือปิดกิจการลงหรือย้ายฐานออกไปลงทุนในต่างประเทศที่มีค่าจ้างแรงงานต่ำกว่า ซึ่งผลกระทบต่อเนื่องคือการว่างงานของแรงงานในอุตสาหกรรมที่ไม่สามารถแข่งขันได้
นอกจากนี้ การเปิดเสรีการลงทุนภายในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจะทำให้กระแสการลงทุนและเงินทุนเคลื่อนไปยังประเทศเพื่อนบ้านของไทยมากขึ้น เช่นเดียวกับนักลงทุนที่มีฐานการผลิตใน กทม.อาจย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น เพื่อแสวงหาโอกาสใหม่ๆ และฐานการลงทุนที่มีต้นทุนต่ำ ทั้งนี้ทั้งนั้นแนวโน้มที่กำลังเกิดขึ้นในระดับโลก คือการที่นักลงทุนกำลังหาฐานการลงทุนใหม่ที่มีต้นทุนต่ำกว่าจีน เช่น อินโดนีเซีย เมียนมาร์ กัมพูชา เวียดนาม เป็นต้น ทิศทางการลงทุนในระดับภูมิภาคและในระดับโลกดังกล่าวจะส่งผลกระทบทำให้มีการลงทุนและการจ้างงานในอุตสาหกรรมบางประเภทลดลง โดยเฉพาะแรงงานในอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น
2) แรงงานระดับสูงเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น
ประชาคมอาเซียนจะทำให้คน กทม.ต้องเผชิญการแข่งขันจากบุคลากรจากประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น เนื่องจากประเทศสมาชิกประชาคมอาเซียนได้จัดทำความตกลงสำคัญ 2 ฉบับ ซึ่งจะทำให้มีการเคลื่อนย้ายแรงงานภายในภูมิภาคอย่างเสรี ฉบับแรก คือ ความตกลงเกี่ยวกับคุณสมบัติของวิชาชีพหลัก แรงงานเชี่ยวชาญหรือผู้มีความสามารถพิเศษ เพื่ออำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายได้อย่างเสรี 7 สาขาในปี พ.ศ. 2558 ได้แก่ วิศวกรรม พยาบาล สถาปัตยกรรม การสำรวจ แพทย์ ทันตแพทย์ และบัญชี ส่วนฉบับที่สอง คือ ความตกลงว่าด้วยการเคลื่อนย้ายบุคคลธรรมดาของอาเซียน โดยอนุญาตให้ผู้โอนย้ายภายในบริษัท (โอนย้ายข้ามประเทศ) สามารถพำนักอยู่ในประเทศได้ไม่เกิน 1 ปี และขยายเวลาการพำนักได้ไม่เกิน 3 ครั้งๆ ละไม่เกิน 1 ปี ซึ่งครอบคลุมการเคลื่อนย้ายบุคคลากรใน 25 สาขา
3) ปัญหาการขาดแคลนแรงงานรุนแรงขึ้น
ประชาชนและผู้ประกอบการใน กทม.อาจต้องเผชิญปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ทั้งแรงงานต่างด้าวและแรงงานระดับสูง เนื่องจากการเปิดเสรีทางการค้าและการลงทุนของประเทศสมาชิกประชาคมอาเซียนจะทำให้มีการลงทุนโดยตรงเข้าไปในประเทศสมาชิกใหม่ของอาเซียนมากขึ้น โดยเฉพาะเมียนม่าร์ กัมพูชา และลาวที่มีค่าจ้างแรงงานต่ำ การลงทุนในประเทศเหล่านี้จะทำให้เกิดความต้องการแรงงานจำนวนมาก และเกิดกระแสการไหลกลับของแรงงานต่างด้าวในประเทศไทย ดังนั้นคน กทม.ที่จ้างแรงงานต่างด้าวเป็นลูกจ้างในสถานประกอบการหรือเป็นคนทำงานที่บ้านจะต้องเผชิญปัญหาขาดแคลนแรงงานหรือหาคนงานได้ยากขึ้น ปัญหาดังกล่าวจะทำให้ต้นทุนการจ้างแรงงานต่างด้าวเพิ่มสูงขึ้น และทำให้สินค้าและบริการที่ใช้แรงงานต่างด้าวมีราคาสูงขึ้นจนอาจไม่สามารถแข่งขันได้
สำหรับปัญหาการขาดแคลนแรงงานในระดับสูงจะเกิดขึ้นจากสองปัจจัยสำคัญ ปัจจัยประการแรก คือ การเปิดเสรีทางการค้าภายในภูมิภาค จะทำให้สินค้าและบริการบางประเภทที่ผลิตใน กทม.สามารถส่งออกไปยังประเทศในประชาคมอาเซียนได้มากขึ้น ทำให้ขนาดของการผลิตขยายตัวขึ้นและมีความต้องการแรงงานเพิ่มขึ้น ประการที่สอง การเปิดเสรีการเคลื่อนย้ายแรงงานอาจทำให้เกิดปัญหาสมองไหลออกไปทำงานในประเทศที่มีระดับค่าจ้างที่สูงกว่า ตัวอย่างเช่นบุคลากรทางการแพทย์ การเปิดเสรีบริการทางการแพทย์จะทำให้ประชาชนในประเทศเพื่อนบ้านเข้ามารับบริการในประเทศไทยมากขึ้น ขณะเดียวกันแพทย์ของไทยก็มีโอกาสออกไปทำงานในต่างประเทศได้ โดยเฉพาะสิงคโปร์ บรูไน และมาเลเซียที่ให้ค่าตอบแทนสูงกว่าไทย ส่งผลทำให้บุคลากรทางการแพทย์ที่มีไม่เพียงพอต่อความต้องการอยู่แล้ว ยิ่งทวีความขาดแคลนมากขึ้น
4) ปัญหาสังคมและคุณภาพชีวิตรุนแรงขึ้น
กรุงเทพฯจะกลายเป็นเมืองที่มีชาวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยว ประกอบอาชีพและอยู่อาศัยมากขึ้น ภาวะเช่นนี้อาจทำให้เกิดความเสี่ยงที่จะมีความขัดแย้งอันเนื่องจากความแตกต่างของภาษา วัฒนธรรม ศาสนา และวิถีการดำรงชีวิตระหว่างคน กทม.กับคนต่างชาติที่เข้ามาอาศัยอยู่ใน กทม.มากขึ้น รวมทั้งความขัดแย้งทางสังคมเนื่องจากการเข้ามาแย่งอาชีพ แย่งที่อยู่อาศัย แย่งทรัพยากรโดยคนต่างชาติ ซึ่งอาจทำให้คน กทม.มีต้นทุนการอยู่อาศัยใน กทม.เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะราคาที่ดินและที่อยู่อาศัยที่สูงขึ้น และอาจทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจระหว่างคนต่างชาติและคนท้องถิ่นมากขึ้น นอกจากนี้ปัญหาทางสังคมที่เกิดจากอาชญากรรมข้ามชาติอาจเพิ่มสูงขึ้น เช่น ปัญหายาเสพติด การค้ามนุษย์ ธุรกิจผิดกฎหมาย การฟอกเงิน เป็นต้น
คุณภาพชีวิตบางด้านของคน กทม.อาจจะแย่ลง เนื่องจากความแออัดของเมืองที่เพิ่มมากขึ้นจะส่งผลทำให้ปัญหาสิ่งแวดล้อมทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะมลพิษทางอากาศอันเนื่องจากการจราจรติดขัด ปัญหามลพิษจากน้ำเสียอันเกิดจากน้ำทิ้งจากที่อยู่อาศัยและสถานประกอบการที่เพิ่มขึ้น และปัญหาขยะที่เพิ่มจำนวนขึ้น นอกจากนี้การเปิดเสรีทางการค้าอาจทำให้มีสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานหรือคุณภาพต่ำจากประเทศเพื่อนบ้านทะลักเข้ามาในประเทศมากขึ้น เช่น อาหาร ยา เครื่องสำอาง เป็นต้น หากระบบการรับรองและการตรวจสอบมาตรฐานขาดประสิทธิภาพ สินค้าเหล่านี้อาจเข้ามาสร้างอันตรายต่อผู้บริโภคได้ โดยที่การดำเนินคดีและเรียกร้องความรับผิดชอบต่อผู้ผลิตในต่างประเทศเป็นไปได้ยาก
เราจะเห็นว่าการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนนั้นอาจสร้างผลกระทบในทางลบหลายประการแก่คนกทม. แต่นอกจากผลกระทบในทางลบแล้ว การเข้าสู่ประชาคมอาเซียนยังเปิดประตูแห่งโอกาสให้กับคนที่มองเห็นโอกาสนั้นด้วย ซึ่งผมจะวิเคราะห์ถึงโอกาสที่เกิดขึ้นแก่คนกทม.จากการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในบทความครั้งต่อไปครับ
ศ.ดร. เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com