ประเทศไทยหลังเปิดประชาคมอาเซียน (2)
จากบทความตอนที่แล้ว ผมได้กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นต่อประเทศไทยหลังจากการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน คือ การขยายตัวทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น และโครงสร้างเศรษฐกิจที่ปรับตัวไปสู่ภาคเศรษฐกิจที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น ในบทความตอนนี้ผมจะกล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงอีก 3 ด้าน ดังต่อไปนี้
3) กฎระเบียบและมาตรฐานเป็นสากลมากขึ้น
การรวมตัวเป็นประชาคมจะทำให้ประเทศสมาชิกจำเป็นต้องปรับปรุงกฎระเบียบ แนวปฏิบัติและมาตรฐาน
มาตรฐานสินค้าฮาลาลเป็นหนึ่งในมาตรฐานสำคัญสำหรับภาคการผลิตในภูมิภาคนี้ เนื่องจากประชากรของอาเซียนที่นับถือศาสนาอิสลามมีจำนวนมาก เฉพาะอินโดนีเซียเพียงประเทศเดียวก็มีประชากรมุสลิมสูงถึง 209 ล้านคนแล้ว (ตารางที่ 2) กฎระเบียบและมาตรฐานใหม่จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจในประเทศ ทำให้ภาคธุรกิจมีต้นทุนในการปรับตัวให้สอดคล้องกับกฎระเบียบและมาตรฐานเหล่านี้มากขึ้น ซึ่งวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมจะได้รับผลกระทบมากด้านต่าง ๆ ให้สอดคล้องกันมากขึ้นเพื่อความสะดวกในการดำเนินธุรกรรมระหว่างประเทศ เช่น มาตรฐานของสินค้าและการให้บริการ มาตรฐานด้านคุณวุฒิวิชาชีพ กฎระเบียบและพิธีการทางศุลกากรและการตรวจคนเข้าเมือง กระบวนการจัดตั้งและจดทะเบียนธุรกิจ การคุ้มครองสิทธิแรงงานและสิทธิผู้บริโภค บรรษัทภิบาลและความรับผิดชอบต่อสังคม เป็นต้น
ตารางที่ 2 จำนวนประชากรมุสลิมในอาเซียน
หมายเหตุ : *ผู้นำชาวมุสลิมบางคนระบุว่า ตัวเลขน่าจะสูงถึงร้อยละ 20
ที่มา : ดัดแปลงจาก ASEAN (2012) และ Pew Research Center (2009)
4) การกระจายความเจริญมากขึ้น
การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมโยงการคมนาคมระหว่างประเทศ เช่น ถนนและทางรถไฟ จะทำให้เกิดพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ ๆ และการกระจายความเจริญสู่พื้นที่บริเวณจุดผ่านแดนและแนวเส้นทางที่เชื่อมต่อระหว่างประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจตามโครงการเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจในกรอบความร่วมมืออนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ซึ่งประกอบด้วย 3 แนวพื้นที่ ได้แก่
(1) ระเบียงเศรษฐกิจแนวตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor) เชื่อมโยงระหว่างเมืองเมาะละแหม่ง เมียนม่าร์ ผ่านแม่สอด ตาก สุโขทัย พิษณุโลก เพชรบูรณ์ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มุกดาหาร สะหวันนะเขต ลาว และสิ้นสุดที่เมืองดานัง เวียดนาม
(2) ระเบียงเศรษฐกิจแนวเหนือ-ใต้ (North-South Economic Corridor) เชื่อมโยงระหว่างนครคุนหมิง จีน ผ่านเชียงรายที่อำเภอแม่สายและเชียงของ และไปสิ้นสุดที่กรุงเทพฯ
(3) ระเบียงเศรษฐกิจแนวใต้ (Southern Economic Corridor) เชื่อมโยงระหว่างกรุงเทพฯ ไปยังกัมพูชาและเวียดนามมีหลายเส้นทางย่อย โดยมีจุดผ่านแดนระหว่างไทยและกัมพูชา 2 แห่ง คือ อรัญประเทศ/ปอยเปต และตราด/เกาะกง เส้นทางระเบียงเศรษฐกิจแนวใต้จะเชื่อมต่อกับโครงการก่อสร้างมอเตอร์เวย์ระหว่างท่าเรือน้ำลึกทวาย กรุงเทพฯ และท่าเรือแหลมฉบัง
5) สังคมมีความหลากหลากเชื้อชาติและวัฒนธรรมมากขึ้น
ประชาคมอาเซียนจะทำให้ความสัมพันธ์ทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมภายในภูมิภาคเพิ่มมากขึ้น ประชาชนในภูมิภาคอาเซียนมีความใกล้ชิดกันมากยิ่งขึ้นและมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันมากขึ้น โดยเป็นผลจากการเปิดเสรีทางการค้าการลงทุนและการเปิดเสรีการเคลื่อนย้ายแรงงานวิชาชีพที่จะทำให้มีการเคลื่อนย้ายของบุคลากรชาวต่างชาติเข้ามาทำงานในประเทศไทยมากขึ้น การอำนวยความสะดวกเกี่ยวกับการผ่านแดนและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมระหว่างประเทศที่จะทำให้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติมากขึ้น การเปิดเสรีบริการด้านการศึกษาและการแลกเปลี่ยนทางด้านเทคโนโลยี วัฒนธรรมและองค์ความรู้ จะทำให้มีนักศึกษาต่างชาติเข้ามาศึกษาในประเทศมากขึ้น และมีการแลกเปลี่ยนนักเรียน นักศึกษา อาจารย์ และบุคลากรระหว่างกันมากขึ้น ซึ่งทำให้สังคมไทยเป็นสังคมที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติและวัฒนธรรมมากขึ้น
การเปลี่ยนแปลงจากการเข้าเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมอาเซียนอาจส่งผลกระทบทั้งเชิงบวกหรือลบต่อประเทศไทย และอาจเป็นโอกาสหรือภัยคุกคามต่อภาคธุรกิจและประชาชนไทย เงื่อนไขสำคัญของการรับโอกาสและป้องกันภัยคุกคามที่จะเกิดขึ้น คือการพัฒนาความรู้และการเตรียมความพร้อม ซึ่งยังไม่สายเกินไปที่จะเริ่มต้น
ศ.ดร. เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com
Post date:
Friday, 5 April, 2013 - 13:29