บัณฑิตล้นตลาดแรงงาน ปัญหาที่ยังแก้ไม่ได้

ทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพ เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลโดยตรงต่อการพัฒนาและการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศ ผู้บริหารประเทศต่างเร่งพัฒนากำลังคนให้มีคุณภาพระดับสูง โดยพยายามส่งเสริมให้ประชากรได้เรียนในระดับอุดมศึกษาให้มากขึ้น ส่งผลให้บัณฑิตล้นตลาดแรงงาน เนื่องจากขาดการวางแผนการผลิตกำลังคนที่มีคุณภาพและสอดคล้องตามความต้องการตลาดแรงงาน

ตัวอย่างเช่น ประเทศจีน มีจำนวนบัณฑิตจบใหม่เพิ่มขึ้นจนล้นตลาดแรงงาน ในขณะที่บัณฑิตเหล่านี้ประสบกับปัญหาค่าจ้างต่อเดือนที่ใกล้เคียงกับผู้ใช้แรงงาน คาดการณ์กันว่าภายใน 10 ปีข้างหน้า ปัญหาจะรุนแรงขึ้นและคลี่คลายได้ยาก การแก้ไขปัญหาของจีนคือ ลดการขยายตัวของการศึกษาระดับอุดมศึกษาจากร้อยละ 20 ให้เหลือร้อยละ 6-8 โดยเข้าไปกำหนดเงื่อนไขการรับนักศึกษาในมหาวิทยาลัย

ล่าสุดประเทศกัมพูชา มีผู้สำเร็จการศึกษาระดับอุดมศึกษาว่างงานนับแสนคน โดยสถาบันเศรษฐศาสตร์กัมพูชา (Economic Institute of Cambodia: EIC) รายงานว่า ในปี 2550 มีบัณฑิตจบใหม่เพียง 1 ใน 10 คน หางานทำได้ ขณะที่มหาวิทยาลัยผลิตบัณฑิตในจำนวนเพิ่มขึ้น แต่ไม่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน อีกทั้ง การผลิตบัณฑิตยังขาดคุณภาพ และนักศึกษาส่วนใหญ่ศึกษาเล่าเรียนโดยไม่ได้คำนึงถึงความต้องการของตลาด ประกอบกับตลาดแรงงานภายในประเทศต้องการผู้ใช้แรงงานมากกว่า

ตัวอย่างจากทั้งสองประเทศ แสดงให้เห็นว่าการขาดการวางแผนผลิตกำลังคนระดับอุดมศึกษาก่อเกิดปัญหาบัณฑิตล้นตลาดตามมา

เช่นเดียวกับประเทศไทย ที่มีปัจจัยเอื้อให้เกิดปัญหาบัณฑิตระดับอุดมศึกษาล้นตลาดแรงงาน ได้แก่

สถาบันอุดมศึกษามีจำนวนมาก
หากรวมของรัฐและเอกชน สถาบันการศึกษาที่เปิดหลักสูตรปริญญามีกว่า 197 แห่ง โดยสถาบันอุดมศึกษาของรัฐมีทั้งหมด 76 แห่ง (ไม่รวมมหาวิทยาลัยสงฆ์) แบ่งเป็นมหาวิทยาลัยรัฐเดิม 19 แห่ง มหาวิทยาลัยเปิด 2 แห่ง มหาวิทยาลัยที่มาจากสถาบันราชภัฏ 41 แห่ง มหาวิทยาลัย/สถาบันเทคโนโลยี 10 แห่ง มหาวิทยาลัยในกำกับ 4 แห่ง และมีมหาวิทยาลัยรัฐไปเปิดวิทยาเขตอีก 58 แห่ง มหาวิทยาลัยเอกชน 32 แห่ง นอกจากนี้ ยังมีวิทยาลัยเอกชนเปิดหลักสูตรปริญญาตรีอีก 31 แห่งและในอนาคตคาดว่าจะมีสถาบันอุดมศึกษาใหม่เกิดขึ้นอีก
จำนวนบัณฑิตจบใหม่ไม่สอดคล้องกับตลาดแรงงานในอนาคต สถาบันอุดมศึกษาที่มีจำนวนมากนั้น ได้ขยายโอกาสทางการศึกษาในระดับอุดมศึกษาให้แก่ผู้เรียนในพื้นที่ต่าง ๆ ซึ่งสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (2550) ได้ประมาณการจำนวนนักศึกษาเข้าใหม่ ระดับปริญญาตรี พบว่าระหว่างปี 2550-2559 จะมีจำนวนนักศึกษาเข้าใหม่ปีละประมาณ 5 แสนกว่าคน และในช่วงปีเดียวกัน มีบัณฑิตระดับปริญญาตรีจบใหม่ปีละประมาณ 3-4 แสนกว่าคน ในขณะที่ความต้องการของตลาดแรงงานไม่สอดคล้องกับจำนวนนักศึกษาระดับปริญญาตรีเข้าใหม่ และจำนวน

บัณฑิตจบใหม่
มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) วิจัยเรื่อง ldquo;แผนพัฒนากำลังคนของประเทศไทยเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศrdquo; (2549) ประมาณการความต้องการแรงงานส่วนเพิ่ม จำแนกตามสาขาการผลิตหลักและระดับการศึกษาใน 10 ปีข้างหน้าพบว่า 5 ปีแรก (ปี 2550-2559) ในทุกสาขาการผลิต (ภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการ) มีความต้องการแรงงานระดับปริญญาตรีขึ้นไป 161,140 คน ต่อปี ใน 5 ปีหลัง (ปี 2555-2559) มีความต้องการแรงงานระดับนี้ 145,348 คนต่อปี

จากการประมาณการตัวเลข พบได้ว่า มีบัณฑิตจำนวนมากต้องตกงาน กล่าวคือ มีบัณฑิตจบใหม่ในช่วงปี 2550-2559 จำนวนหนึ่งต้องตกงาน และตัวเลขการตกงานจะเพิ่มขึ้นทวีคูณในอนาคต เมื่อนักศึกษาเข้าใหม่ในช่วงปี 2550-2559 จบการศึกษา เพราะความต้องการแรงงานระดับอุดมศึกษามีแนวโน้มลดลง

แนวทางแก้ไขปัญหานั้นควรมีลักษณะบูรณาการโดยร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และปรับปัจจัยที่ส่งผลให้บัณฑิตล้นตลาด มีการประสานความร่วมมือระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงแรงงาน และสถาบันอุดมศึกษา ในการทำวิจัยและกำหนดทิศทางการผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพสอดคล้องความต้องการของตลาดแรงงาน นอกจากนี้ ควรควบคุมการจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาและขยายวิทยาเขตของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ให้เหมาะสม โดยพื้นที่ที่มีสถาบันอุดมศึกษาตั้งอยู่แล้ว ไม่ควรให้เปิดสถาบันอุดมศึกษาเพิ่มหรือมีการขยายวิทยาเขตของมหาวิทยาลัยเข้ามา รวมถึงสนับสนุนให้ผู้เรียนศึกษาต่อในการอาชีวศึกษาโดยเฉพาะกลุ่มสาขาขาดแคลน เนื่องจากความต้องการกำลังคน ระดับ ปวช. ปวส. มีเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรม และกลับประสบกับภาวะขาดแคลนอย่างหนัก

ปัญหาแรงงานระดับอุดมศึกษาล้นตลาด จะส่งผลให้บัณฑิตที่ตกงานจำนวนมากจะถูกผลักออกไปเป็นแรงงานนอกระบบ หรือหาทางออกโดยการเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลให้เกิดภาวะแรงงานระดับปริญญาโทและปริญญาเอกล้นตลาดตามมา โดยปัจจุบันเริ่มมีแนวโน้มผู้เรียนจบปริญญาโทและปริญญาเอกมากขึ้น แต่ไม่มีงานทำหรือทำงานต่ำกว่าระดับการศึกษา

ดังนั้นหากประเทศไทยยังไม่มีการจำกัดจำนวนนักศึกษาที่เข้าสู่สถาบันอุดมศึกษา และสร้างความตระหนักในปัญหาแรงงานระดับอุดมศึกษาล้นตลาดให้กับผู้บริหารมหาวิทยาลัยต่าง ๆ อนาคตประเทศไทยจะประสบปัญหานี้ต่อไป
admin
เผยแพร่: 
สยามรัฐรายวัน
เมื่อ: 
2007-11-05