ความเข้าใจผิดเรื่องรถไฟฟ้า

ความเข้าใจผิด 3 ประการเกี่ยวกับโครงการก่อสร้างส่วนต่อขยายของรถไฟฟ้า ความคุ้มค่าของโครงการ รัฐเป็นผู้ดำเนินโครงการทั้งหมด และการกำหนดค่าโดยสาร 15 บาทตลอดสาย อาจทำให้ประชาชนเสียโอกาสในการได้รับประโยชน์จากโครงการ หรือทำให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมในระยะยาว
โครงการก่อสร้างส่วนต่อขยายของรถไฟฟ้าสายสีลม จากสะพานตากสินถึงถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน เป็นประเด็นโต้เถียงที่ร้อนแรงที่สุดในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ภายใต้กระแสการโต้แย้งระหว่างรัฐบาลกลางกับกรุงเทพมหานคร ผมจึงขอเข้าร่วมในการถกเถียง เพราะพบความเข้าใจผิดบางประการ
ความคุ้มค่าของโครงการ การตัดสินใจลงทุนในโครงการใด ๆ ควรพิจารณาความคุ้มค่าเชิงเศรษฐศาสตร์ของโครงการนั้น โดยเปรียบเทียบกับโครงการทางเลือกอื่น ๆ แต่กระนั้น รัฐต้องพิจารณาปัจจัยอื่น ๆ ด้วย เช่นหากโครงการมีความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ แต่ไม่คุ้มทุนทางการเงิน รัฐจำเป็นต้องพิจารณาเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการจัดหาเงินทุนและบริหารเสถียรภาพทางการคลัง รวมทั้งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมหภาคด้วย ในกรณีส่วนต่อขยายของรถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้ม หากบริษัทผู้รับสัมปทานมิได้ติดปัญหาใด ๆ มีความเป็นไปได้ที่การลงทุนจะไม่คุ้มทุนทางการเงิน ไม่เช่นนั้นบริษัทคงดำเนินการลงทุนไปแล้ว แต่ไม่ได้หมายความว่า กทม.ไม่ควรลงทุนในโครงการนี้ เพราะหากพิจารณาสภาพการจราจรที่ติดขัด และปริมาณผู้โดยสารที่ต้องเดินทางในเส้นทางดังกล่าวที่หนาแน่น โครงการนี้น่าจะมีความคุ้มค่าในเชิงเศรษฐศาสตร์สูง
รัฐเป็นผู้ดำเนินโครงการทั้งหมด การกำหนดนโยบายให้รัฐเป็นผู้ลงทุนและดำเนินงานโครงข่ายรถไฟฟ้าทั้งการลงทุนก่อสร้างเส้นทางรถไฟฟ้าใหม่ และซื้อคืนรถไฟฟ้าที่มีการดำเนินการโดยภาคเอกชนมาเป็นของรัฐ อาจเป็นความเข้าใจไม่ถูกต้องเท่าใดนัก หลักการที่สมเหตุสมผลคือ รัฐควรทำสิ่งที่เอกชนทำไม่ได้หรือไม่ยินดีทำ และรัฐไม่ควรทำสิ่งที่เอกชนทำได้ดีกว่า เพื่อที่รัฐจะนำงบประมาณไปลงทุนด้านอื่นที่จำเป็น หากเอกชนยินดีลงทุน โดยรัฐสามารถเจรจาให้เอกชนคิดค่าโดยสารในราคาที่เป็นธรรมได้ ไม่มีความจำเป็นที่รัฐต้องดำเนินการเอง แต่รัฐอาจกำหนดเงื่อนไขให้ทุกสายเป็นระบบและมาตรฐานเดียวกัน เพื่อให้เชื่อมต่อกันได้
ค่าโดยสาร 15 บาทตลอดสาย การกำหนดค่าโดยสาร 15 บาทตลอดสาย เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการรถไฟฟ้าได้มากที่สุด แม้เป็นวัตถุประสงค์ที่ดี แต่ไม่ได้หมายความว่าสังคมจะได้รับประโยชน์สูงสุด หรือทำให้สวัสดิการสังคมสูงที่สุดเสมอไป การที่ผู้โดยสารได้รับประโยชน์ส่วนบุคคล และยินดีจ่ายมากกว่า 15 บาทโดยไม่เดือดร้อน รัฐไม่จำเป็นต้องอุดหนุนในส่วนที่ผู้บริโภคยินดีจ่ายอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาด้วยแนวคิดที่ว่า รถไฟฟ้าเป็นบริการที่จำเป็น รัฐอาจจะใช้วิธีผสม คือเก็บค่าโดยสารตามระยะทาง แต่ผู้ที่จำเป็นต้องใช้รถไฟฟ้าเป็นประจำ จะเปิดโอกาสให้ซื้อตั๋วแบบเหมาจ่ายในอัตราค่าโดยสารคงที่ตลอดสาย ซึ่งเป็นวิธีที่ดำเนินการอยู่แล้วในรถไฟฟ้าที่เปิดให้บริการทั้ง 2 เส้นทาง
ทั้งนี้ผมไม่ได้หมายความว่ารัฐไม่ควรอุดหนุนผู้ใช้รถไฟฟ้า หากการมีผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าเป็นประโยชน์ต่อสังคมภาพรวม แสดงว่ารัฐควรอุดหนุนผู้ใช้รถไฟฟ้าด้วย ปัญหาอยู่ที่ว่า ณ ระดับราคาเท่าไรที่จะทำให้สังคมได้รับประโยชน์สูงสุด ผมไม่ทราบว่าราคา 15 บาทตลอดสายจะเป็นระดับราคาที่เหมาะสมหรือไม่ แต่ผมไม่พบว่าหน่วยงานภาครัฐได้เคยมีการศึกษาความคุ้มค่าของการลงทุน ภายใต้เงื่อนไขค่าโดยสาร 15 บาทเลย

ความเข้าใจที่ผิดเกี่ยวกับการลงทุนในโครงการรถไฟฟ้า อาจทำให้การตัดสินใจดำเนินโครงการหรือยับยั้งโครงการใด ๆ ตั้งอยู่บนหลักการที่ไม่เหมาะสม ซึ่งอาจทำให้ประชาชนเสียโอกาสในการได้รับประโยชน์จากโครงการ หรือทำให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมในระยะยาว

admin
เผยแพร่: 
0
เมื่อ: 
2005-11-02