ความครบถ้วน เรื่องที่ควรตระหนักหากจะร่างกฎหมายเพื่อประชาชน
ร่าง พ.ร.บ.ศาลภาษีอากร ยังต้องทบทวนในเรื่องความครบถ้วน ทั้งการพิจารณาคดีความแพ่งและอาญาในมาตราที่เกี่ยวข้อง ป้องกันความลักลั่นในการตีความ และเลือกปฏิบัติ
ผมได้เข้าร่วมเป็นคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร (ฉบับที่.. ) พ.ศ. hellip;. ซึ่งขณะนี้ได้อยู่ในขั้นที่วุฒิสภากำลังพิจารณา โดยภาพรวมผมเห็นด้วยกับหลักในการแก้ไขเพิ่มเติมร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ที่ให้เพิ่มอำนาจให้ศาลภาษีอากร สามารถพิพากษาคดีได้ทั้งทางแพ่ง และทางอาญาที่เกี่ยวกับภาษีอากร
ทั้งนี้ยังมีบางส่วนผมยังเห็นแตกต่างกับร่างของ กมธ. คือ มีบางประเด็นที่ไม่ครบถ้วน ประเด็นหนึ่งที่ผมมีข้อสังเกตคือ เรื่องการขอสืบพยานหลักฐานล่วงหน้าก่อนวันนัดสืบพยานหรือก่อนฟ้องคดี ในมาตรา 17/2 ผมเห็นว่ามาตราดังกล่าวเป็นการหยิบถ้อยคำมาจาก มาตรา 101 แห่งวิธีพิจารณาความแพ่ง แต่กลับไม่ได้หยิบมาทั้งหมด คือในส่วนวรรคที่ 3 ของมาตรา 101 ไม่ได้ถูกนำมาใช้ประกอบในร่าง พ.ร.บ. นี้ด้วย ทำให้ ม. 17/2ในร่างของ กมธ. ยังขาดวิธีการพิจารณาความอาญา ซึ่งอาจสร้างปัญหาหากต้องมีการตีความในกรณีคดีอาญา
โดยเฉพาะใน ม.17/2 ตามร่างของ กมธ.นี้มีคำว่า ldquo;พยานหลักฐานrdquo; ซึ่งเป็นคำที่กว้าง อาจหมายถึงพยานเอกสาร หรือพยานบุคคลก็ได้ อาจเกิดความลักลั่นในการตีความ และนำไปสู่การเลือกปฏิบัติ เนื่องจากธรรมชาติของการพิจารณาคดีทางแพ่งนั้น จะให้น้ำหนักกับพยานเอกสารมากกว่าพยานบุคคล ดังนั้นควรระบุชัดเจนว่าให้มีการพิจารณาคดีอาญาเพิ่มลงไป เพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าว
นอกจากนี้การระบุชัดเจนว่า ให้นำการสืบพยานล่วงหน้าก่อนฟ้องคดีอาญามาใส่ไว้ โดยไม่ต้องรอให้เหตุการณ์เกิดก่อนค่อยตีความและนำมาใช้อย่างที่ผ่านมานั้น นับว่าเป็นการวางรากฐานที่ดีแก่ศาลที่เพิ่งเกิดใหม่ เช่น ศาลล้มละลาย ศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ เพราะศาลภาษีอากรซึ่งเป็นศาลที่มีอยู่ก่อนจะได้นำประสบการณ์ที่มีมากกว่า แนวทางการดำเนินการที่ได้รับการปรับปรุงจนดีขึ้น ครบถ้วนมากขึ้นมาเป็นแบบอย่างที่ดีต่อศาลที่เพิ่งตั้งใหม่ได้เดินตาม
ผมเห็นว่าการแก้ไขกฎหมายควรเป็นการแก้ไขเพื่อให้กฎหมายดีขึ้น ครบถ้วนมากขึ้น และใช้ได้จริงในทางปฏิบัติ ซึ่งอยากฝากไว้เป็นข้อคิด และคาดหวังว่าวุฒิสภาจะนำความคิดเห็นข้างต้นไปพิจารณาว่า หากจะหยิบบัญญัติใดมาใช้ประกอบกฎหมายที่จะนำมาบังคับใช้กับประชาชนนั้น ก็ควรนำมาให้ครบถ้วนทุกประเด็นที่เป็นสาระสำคัญ เพื่อกฎหมายจะได้ครบถ้วนสมบูรณ์ยิ่ง และประชาชนผู้ที่เป็นเจ้าของอธิปไตยตัวจริงจะเป็นผู้ได้ประโยชน์สูงสุดจากกฎหมายเหล่านั้น ไม่เช่นนั้นอาจเป็นช่องว่างที่ผู้ไม่หวังดีอาจใช้ในการหาประโยชน์เพื่อตนเองได้