เห็นปัญหาก่อนปัญหาเห็นเรา
บุคคลหนึ่งกล่าวไว้อย่างน่าคิดว่า ldquo;บททดสอบภาวะผู้นำที่สำคัญประการหนึ่งคือ ความสามารถของผู้นำในการตระหนักถึงปัญหา ก่อนที่มันจะกลายเป็นภาวะฉุกเฉินrdquo; ชี้ให้เห็นถึงหน้าที่สำคัญประการหนึ่งของผู้นำคือ การมองเห็นปัญหา แม้ในสภาพที่ดูเหมือนปกติ ยังไม่มีใครเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนพอจะคาดการณ์ได้ว่าอนาคตอาจเกิดปัญหา
กล่าวกันว่า ภาวะผู้นำที่ประสบความสำเร็จ จึงต้องเป็นผู้มีความสามารถในการสังเกตเห็นปัญหา และสามารถจัดการได้ก่อนที่มันจะกลายเป็นปัญหา ดังนั้น คนกลุ่มนี้จังมักมีลักษณะที่แตกต่างจากคนทั่วไปที่เราควรเรียนรู้ อาทิ
ตื่นตัวต่อสภาวะแวดล้อมรอบตัว
ความช่างสังเกตและความช่างสงสัย นับเป็นสัญชาตญาณที่มีอยู่ทั้งในคนและสัตว์ แตกต่างกันที่ความสงสัยของสัตว์นั้นนำไปสู่ความกล้า ๆ กลัว ๆ ในการเข้าไปดมกลิ่นหาข้อพิสูจน์หรือมิฉะนั้นจะรีบถอยหนีไปห่าง ๆ ส่วนความสงสัยของมนุษย์นำไปสู่การค้นหาความจริง
ผู้นำที่ตระหนักถึงปัญหาก่อนเกิดปัญหาก็เช่นกัน จะเป็นคนที่ไม่เพิกเฉยต่อข้อมูลที่อยู่รอบตัว แต่มีลักษณะเป็นพวก ldquo;ตาสับปะรดrdquo; หรือมีตารอบทิศเพื่อคอยสังเกตสิ่งต่าง ๆ รอบตัว ติดตามข้อมูลข่าวสารอยู่เสมอ รับฟังความคิดเห็นรอบด้าน โดยเฉพาะจากทีมงาน เพื่อรับฟังความคิดเห็นในมุมมองต่าง ๆ ทั้งสภาพในปัจจุบัน และสภาพที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อให้เห็นมุมมองและภาพอนาคตที่อาจเกิดขึ้นในมุมที่อาจไม่เคยคิดมาก่อน
หาข้อมูลรอบด้าน ทำความเข้าใจเชื่อมโยง เพื่อให้สามารถเข้าใจและตัดสินใจได้อย่างดีเลิศในการกระทำการใด ๆ จำเป็นต้องมีข้อมูลครบถ้วนทุกด้าน ทั้งข้อมูลทางด้านเอกสารและข้อมูลจากการปรึกษาหารือกับผู้อื่น และเมื่อรับข้อมูลใด ๆ มาจะต้องนำมาพิจารณาใคร่ครวญเพื่อทำความเข้าใจ รู้ว่าอะไรเป็นอะไร เชื่อมโยงสัมพันธ์กันอย่างไร สังเกตว่ามีจุดใดหรือไม่ที่ผิดปกติ และคิดต่อได้ว่าเรื่องที่เกิดขึ้นจะส่งผลอย่างไร เกี่ยวข้องกับตนหรือไม่
ขณะเดียวกัน จะไม่เชื่อตามข้อมูลที่ได้รับนั้นอย่างรวดเร็วโดยไม่ได้ฉุกคิดว่ามีสิ่งผิดปกติใด ๆ หรือไม่ แต่จะทำความเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นก่อน โดยสังเกตว่ามีจุดใดหรือไม่ที่ผิดปกติ โดยนำข้อมูลที่ได้รับมาจำแนกแจกแจงเพื่อทำความเข้าใจ หาความสัมพันธ์เชิงเหตุผล พิจารณาอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจ ไม่ด่วนสรุป
นอกจากนี้ เมื่อคิดเรื่องใดต้องให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ พยายามรัดเข็มขัดความคิดหรือจดจ่อในเรื่องนั้น และมีความอดทนที่จะคิด ไม่ล้มเลิกกลางคัน ถ้ายังไม่เห็นความครบถ้วนของเรื่องนั้นจริง ๆ
คิดอนาคตและประเมินสถานการณ์ล่วงหน้า วิเคราะห์สภาพปัจจุบัน และขณะเดียวกันต้องคาดการณ์อนาคตว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับสิ่งที่จะเกิดขึ้น ผู้นำจึงเป็นคนที่คิดล่วงหน้าไปในอนาคตและวางแผนเพื่ออนาคตจนเป็นนิสัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งก่อนการตัดสินใจและดำเนินการใด ๆจะต้องคิดก่อนว่า จะเกิดอะไรขึ้นได้บ้างเมื่อช่วงเวลานั้นมาถึง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาหรืออุปสรรคที่อาจจะเกิดขึ้น หรือโอกาสที่เราจะเข้าไปใช้ประโยชน์ได้ เพื่อวางแผนและกำหนดวิธีการดำเนินงานให้ได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้และจะต้องมีการวิเคราะห์ปัจจัยแวดล้อมว่า มีการเปลี่ยนเร็วมากน้อยเพียงใด มีรูปแบบการเปลี่ยนแปลงอย่างไร มีการวนซ้ำหรือไม่ บริบทหรือปัจจัยแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่เราจะคาดการณ์อนาคตนั้นในอดีต ในปัจจุบัน และในอนาคตมีความต่างกันหรือไม่ อย่างไร โดยมองให้ครบจากทุกด้านที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้น ทั้งทางตรงทางอ้อม หรือเรียกว่าการมองอย่างองค์รวม (holistic view) เพื่อให้การตัดสินใจเป็นไปอย่างรอบคอบ
เมื่อมองเห็นปัญหา คิดแก้ไขอย่างรอบคอบและสุขุม ในการแก้ปัญหา คนจำนวนไม่น้อยมักเลือกวิธีเลียนแบบผู้อื่นที่ประสบความสำเร็จ ซึ่งในความเป็นจริง หากเรามิได้คิดวิเคราะห์ในเรื่องที่เกิดขึ้น เพื่อหาทางแก้ปัญหา หาทางเลือกที่ดีที่สุดให้กับตนเอง อาจทำให้ตัดสินใจแก้ปัญหาผิดพลาดเพราะไม่เหมาะสมกับปัญหาที่เกิดขึ้น ดังนั้น ผู้นำที่เก่งกาจ จะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นโดยการให้ความสำคัญกับประเด็นต่าง ๆ เหล่านี้ อาทิ รู้ว่าอะไรคือปัญหา กำหนดเป้าหมายของปัญหาให้ชัดเจน และดำเนินการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ ที่สำคัญ ต้องมีลักษณะที่ไม่มั่นคง เตรียมพร้อมเสมอที่จะเผชิญหน้ากับปัญหาใหม่ ๆ ที่อาจเกิดขึ้น และจัดการแก้ไขอย่างรอบคอบ ด้วยท่าทีสุขุมเยือกเย็น
คิดใคร่ครวญก่อนตัดสินใจ ตระหนักว่า การตัดสินใจในเรื่องหนึ่งย่อมมีผลกระทบต่อเรื่องอื่น ๆ ด้วยทั้งนี้เพราะเรื่องต่าง ๆ ล้วนสัมพันธ์เชื่อมโยง ส่งผลกระทบต่อกันทั้งทางตรงและทางอ้อม จึงต้องชั่งน้ำหนักความสำคัญของแต่ละเรื่อง ดูว่าเมื่อตัดสินใจแล้วจะมีผลกระทบต่อเรื่องอื่น ๆ ตามมาอย่างไรบ้าง เรียงลำดับความสำคัญของเรื่องต่าง ๆ ได้ รู้ว่า เรื่องนี้สำคัญ เร่งด่วนหรือไม่เพียงใด รู้ว่าควรทำสิ่งใดในเวลาใด เพื่อมิให้เกิดการตัดสินใจที่ผิดพลาด
ตัดสินด้วยเหตุผล ไม่ใช่อารมณ์ ตระหนักว่า การตัดสินใจผิดพลาดเพียงครั้งเดียว อาจส่งผลร้ายตลอดชีวิตที่ไม่สามารถเรียกคืนได้ แต่การตัดสินใจอย่างรอบคอบ แม้ดูเหมือนเสียเวลา แต่นั่นคือการดำรงไว้ซึ่งความถูกต้องและวิถีแห่งความสำเร็จในชีวิตเสมอ ดังนั้น ในการตัดสินใจเรื่องใด ๆ นั้น จะไม่เอาอารมณ์ ความพอใจ และความรู้สึกส่วนตัวเป็นที่ตั้ง แต่จะแยกข้อเท็จจริง ความคิดเห็น ความเป็นไปได้ และการเกิดผลดี ผลเสียต่อบุคคล องค์กร ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว แล้ววิเคราะห์ข้อดีข้อเสียอย่างปราศจากอคติ เอาข้อดีข้อเสียมาชั่งน้ำหนัก เปรียบเทียบ จากนั้นเขียนทางเลือกออกมา เป็นข้อ ๆ เรียงลำดับ และประเมินทางเลือกว่าจะตัดสินใจเช่นใดจึงดีที่สุด
การตัดสินใจของผู้นำมีความสำคัญยิ่ง เพราะอาจหมายถึงทิศทาง เป้าหมายขององค์กรและบุคคลากรทั้งหมดว่า จะเดินไปสู่ความสำเร็จหรือล้มเหลวในอนาคต ดังนั้น ความสามารถในการตระหนักถึงปัญหาก่อนเกิดปัญหา เพื่อเตรียมความพร้อม และตัดสินใจได้อย่างถูกต้องจึงเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่ง
Tags:
เผยแพร่:
งานอัพเกรด
เมื่อ:
2007-07-05