นักศึกษา ฮาร์วาร์ด: แบบอย่างผู้เรียนคุณภาพ
มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด นับเป็นแหล่งรวมบุคคลระดับหัวกะทิจากทั่วโลก ทั้งนักศึกษาและคณาจารย์ในมหาวิทยาลัยแห่งนี้ ล้วนผ่านระบบคัดเลือกที่เข้มข้นจนเรียกได้ว่า ไม่เพียงแต่คัดคนเก่ง หรือการมีผลการเรียนดี แต่ยังต้องเป็นบุคคลที่มีคุณสมบัติพิเศษอื่นที่โดดเด่นจนเข้าตากรรมการจึงจะได้รับเลือกเข้ามา อาทิ มีความเป็นผู้นำ มีความสนใจกิจกรรมนอกห้องเรียน กิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ มีเป้าหมายในการดำเนินชีวิตที่ดี ซึ่งต้องแข่งขันกับผู้เรียนระดับหัวกะทิจากทั่วโลกจำนวนนับหมื่น เพื่อให้ได้เป็นคนเพียงไม่กี่พันคนที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัยแห่งนี้
นั่นเป็นเพียงจุดเริ่มต้นที่เป็นประตูเปิดก้าวเข้าสู่ฮาร์วาร์ด แต่การจะประสบความสำเร็จในการเรียน ซึ่งเป็นความท้าทายใหม่ของการก้าวเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยนี้คือ การมีคุณลักษณะชีวิตที่เอื้อร่วมด้วย
จากการสนทนาแลกเปลี่ยนความเห็นกับนักศึกษา และผู้ที่จบการศึกษาไปแล้ว ต่างให้ความเห็นที่สอดคล้องกันว่า ความเก่งเพียงอย่างเดียวไม่สามารถเป็นหลักประกันว่า จะประสบความสำเร็จได้ สิ่งสำคัญคือผู้เรียนต้องมีลักษณะชีวิตด้านอื่น มาช่วยสนับสนุน เพื่อสามารถบรรลุเป้าหมายการศึกษาในมหาวิทยาลัยแห่งนี้จนสำเร็จได้ อาทิ
เรียนอย่างมีวิสัยทัศน์ ผู้เรียนแต่ละคนจะวางแผนการใช้ชีวิต การใช้เวลาอย่างรอบคอบ ตลอดระยะเวลาในการเรียน การที่ผู้เรียนคิดอย่างเป็นระบบ จะส่งเสริมให้สามารถเลือกเส้นทางที่มีประสิทธิภาพในการเก็บเกี่ยวความรู้ คือ สามารถวางยุทธศาสตร์ในการเลือกเรียนวิชาที่มีประโยชน์แม้จะอยู่นอกเหนือหลักสูตรที่เรียน การพบปะพูดคุยในเรื่องที่สนใจกับอาจารย์ที่ล้วนมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน การแสวงหาแหล่งความรู้จากกิจกรรมทางวิชาการนอกห้องเรียน เช่น สัมมนา เสวนา เวทีพูดคุยในหัวข้อที่หลากหลายตามความสนใจ
มุมานะ บากบั่น เนื่องจากการเรียนการสอนที่เข้มข้น ต้องอ่านหนังสือและเอกสารจำนวนมาก ต้องทำรายงานหลายวิชาพร้อมกัน ผู้เรียนจึงต้องมุมานะ มีการวางแผนอ่านหนังสือ ทำรายงาน ค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติม เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการเรียนทุกวิชา เรียกได้ว่า หากไม่ขยัน ไม่มีวินัย ไม่จัดระเบียบชีวิต ไม่วางแผนเวลาอย่างดี แม้จะเป็นคนเก่ง คงประสบความสำเร็จได้ยาก
เป็นนักเรียนเพื่อรู้ ไม่ใช่ นักเรียนเพื่อสอบ แม้จะเรียนหนักมากเท่าใด นักศึกษาส่วนใหญ่ จะจัดเวลาเพื่อพบปะกับเพื่อนนอกเวลาเรียนด้วย นับว่าเป็นวัฒนธรรมปกติที่ทุกคนให้ความสำคัญและทำกิจกรรมร่วมกัน ซึ่งไม่เป็นเพียงการผ่อนคลายความเครียด แต่ยังเป็นโอกาสเก็บเกี่ยวประสบการณ์ ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเพื่อนต่างวัฒนธรรม ที่ไม่สามารถหาได้ในตำราเรียน เช่น การทัศนศึกษา การจัดทัวร์ชมเมือง การจัดชมรมชิมไวน์ ฯลฯ
เปิดใจกว้าง รับฟังความเห็นที่แตกต่าง ผู้เรียนส่วนใหญ่จะเป็นคนที่มีความถ่อมใจ ใจกว้าง ยินดีรับฟังคำวิพากษ์ วิจารณ์ ข้อเสนอแนะ ความคิดเห็นที่แตกต่าง เพราะการมาเรียนที่นี้ถือว่าเป็นโอกาสที่ผู้เรียนได้ปฏิสัมพันธ์กับคณาจารย์ เพื่อนนักศึกษาที่มาจากประเทศต่าง ๆ แทบทุกมุมโลก มีความแตกต่างทางวัฒนธรรม เกิดการสะท้อนความคิด การตีความในประเด็นต่าง ๆ บนฐานของคนที่มาจากต่างที่ ต่างเชื้อชาติ ทำให้มีการเสริมแต่งความรู้กัน และเป็นการเปิดโลกทัศน์ใหม่อยู่เสมอ
กล้าคิด กล้าแสดงความเห็น ถกเถียงเชิงความคิด วัฒนธรรมที่ผู้เรียนแต่ละคนกล้าคิด กล้าแสดงออก ได้ถกเถียงทางความคิด และแสดงทัศนคติของตนในแต่ละเรื่องอย่างเปิดเผย โดยไม่กลัวว่าสิ่งที่ตนเองแสดงความเห็นออกไปเป็นสิ่งผิด แต่เป็นการสะท้อนมุมมองที่แตกต่าง เพื่อแสดงเหตุผลและจุดยืนของตนเองในเรื่องนั้น ๆ และที่สำคัญเมื่อถกเถียงกันแล้ว ทุกคนต่างมีความเข้าใจอันดีต่อกันมากขึ้น ก่อเกิดมิตรภาพอันดีในการสานความสัมพันธ์ในระยะยาว แม้จบการศึกษาไปแล้วก็ตาม
สิ่งเหล่านี้จึงเป็นเหมือนการบ่มเพาะทางปัญญา ที่ผู้เรียนต้องเรียนรู้เสริมต่อจากสิ่งแวดล้อมรอบตัว ไม่ว่าจะเป็นเพื่อน คณาจารย์และกิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งเป็นการผสมเกสรทางปัญญาก่อเกิดความคิดที่ลึกซึ้ง และเป็นการพัฒนาการคิดสร้างสรรค์ใหม่ ๆ ต่อไป
สะท้อนสู่ระบบการศึกษาและมหาวิทยาลัยไทย ผมเห็นว่า ระบบการศึกษาควรหล่อหลอมให้นักศึกษาได้รับการพัฒนาคุณลักษณะชีวิตที่ดีที่เอื้อต่อการเรียนรู้ สร้างทักษะที่จำเป็นสำหรับผู้เรียน ทั้งในแง่การแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง การอยู่ร่วมกับผู้อื่น รวมถึงสนับสนุนผู้เรียนตามความถนัด เพื่อให้เกิดการพัฒนาตนเองอย่างก้าวกระโดด
เริ่มตั้งแต่ระบบการคัดเลือกนักศึกษาที่ควรเป็นสิ่งสะท้อนให้ผู้เรียนแต่ละคนรู้จักตนเอง มีเป้าหมายที่ชัดเจนในการเลือกศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นไป มีการวางแผนเวลา มีเป้าหมายที่ชัดเจนในการทำกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อการพัฒนาตนเองและส่วนรวม
ระบบการเรียนการสอนที่จะหล่อหลอม บ่มเพาะความคิดเรื่อง การยอมรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง กล้าในการรับฟังคำวิพากษ์วิจารณ์ และเรียนรู้ที่จะนำความเห็นนั้นเสริมสร้างกัน ทั้งในระดับอาจารย์และศิษย์ และระดับนักศึกษาด้วยกัน รวมถึงสร้างนิสัย กล้าคิด กล้าแสดงความคิดเห็นทางวิชาการ เพื่อทำให้เกิดการก่ายกันขึ้นทางความรู้ ก่อเกิดปัญญา สร้างบุคลากรมีคุณภาพที่มีผลต่อการพัฒนาประเทศ
คุณลักษณะชีวิตที่ดีเป็นส่วนในการสนับสนุนผู้เรียนให้ประสบความสำเร็จ หากแต่สิ่งที่มากกว่านั้นคือ ระบบการศึกษาที่สนับสนุนให้ผู้เรียนมีช่องทางในการสะสมประสบการณ์ที่สำคัญต่อการทำงานและทักษะการใช้ชีวิตในอนาคต มีมุมมองที่ถูกต้องและให้ความสำคัญกับการใช้ชีวิตในช่วงการศึกษานี้ได้อย่างคุ้มค่า ทั้งด้านการเรียนรู้ในชั้นเรียน และนอกชั้นเรียนอย่างเต็มที่
Tags:
เผยแพร่:
สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
เมื่อ:
2007-07-06