ระวัง !!! ปล่อยเสือเข้าป่า...นิรโทษกรรมทางการเงิน
แนวทางหนึ่งที่มีการเสนอให้รัฐบาลดำเนินการ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่อยู่ในภาวะซบเซาในช่วงเวลานี้ คือ การนิรโทษกรรม หรือลบชื่อลูกหนี้ที่มีหนี้เสียไม่เกิน 20,000 บาท ออกจากบัญชีดำของเครดิตบูโร เนื่องจากการสำรวจข้อมูลจากบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ หรือเครดิตบูโร พบว่า ปัญหาหนึ่งที่ทำให้สถาบันการเงินไม่ยอมปล่อยกู้ให้กับประชาชน เนื่องจากมีลูกหนี้จำนวนมากที่ติดอยู่ในบัญชีหนี้เสีย หรือเป็นลูกหนี้ที่ถูกขึ้นบัญชีดำ
แม้แนวคิดดังกล่าวเป็นความตั้งใจที่ดี ในการประคับประคองเศรษฐกิจของประเทศให้สามารถเคลื่อนไปได้ รวมทั้งช่วยประชาชนที่เป็นลูกหนี้รายย่อยให้มีโอกาสได้รับสินเชื่อในระบบ แต่แนวคิดนี้มีประเด็นที่ควรตระหนัก เพราะอาจจะทำให้ได้ไม่คุ้มเสีย
สร้างความเสี่ยงต่อระบบสถาบันการเงิน
ลูกหนี้ที่ติดอยู่ในบัญชีดำ อาจเปรียบเทียบเป็นภาพเสมือนหนึ่งว่า กำลังติดคุกแต่เป็นการติดคุกทางการเงิน เพราะลูกหนี้กลุ่มนี้ไม่สามารถทำนิติกรรมสัญญาทางการเงินได้ ทั้งนี้เมื่อมีการตรวจสอบฐานข้อมูลเครดิตแห่งชาติพบว่า เป็นลูกหนี้ขึ้นบัญชีดำ สถาบันการเงินจะปฏิเสธที่จะปล่อยสินเชื่อให้ลูกหนี้เหล่านี้ จนกว่าจะมีการชำระหนี้ที่ค้างชำระทั้งหมดเสียก่อน จึงจะถูกปลดออกจากบัญชีดำ
อย่างไรก็ตาม ลูกหนี้ทั้งหมดที่จะได้รับการนิโทษกรรม อาจมีทั้งลูกหนี้ที่ไม่ดี (ลูกหนี้ที่ขาดวินัยทางการเงิน หรือตั้งใจไม่ชำระหนี้) และลูกหนี้ที่ดี (โดยอาจเป็นลูกหนี้ที่ลืมชำระหนี้ หรือเป็นลูกหนี้ที่มีศักยภาพในการชำระหนี้หากได้รับเงินกู้เพิ่ม) การลบรายชื่อลูกหนี้ในกลุ่มนี้ออกจากบัญชีดำ โดยไม่มีมาตรการใด ๆ มาคัดกรองลูกหนี้ดีและไม่ดีออกจากกัน นับว่าเป็นอันตรายต่อเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงิน หรือทำให้สถาบันการเงินมีภาระต้นทุนในการพิจารณาสินเชื่อมากขึ้นในอนาคต
ขาดประสิทธิผลในการกระตุ้นเศรษฐกิจ
สมมติฐานของแนวคิดนี้เชื่อว่า เมื่อลูกหนี้ถูกปลดออกจากบัญชีหนี้เสียแล้ว ลูกหนี้เหล่านี้จะเป็นตัวแปรที่จะเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจ โดยสถาบันการเงินจะยอมปล่อยเงินกู้ให้กับลูกหนี้ที่หลุดออกจากบัญชีดำ และลูกหนี้ดังกล่าวจะสามารถทำนิติกรรมทางการเงิน เช่น ซื้อรถ ซื้อบ้าน ลงทุน เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติอาจไม่เป็นเช่นนั้น เพราะแม้ลูกหนี้เหล่านี้จะไม่มีชื่ออยู่ในบัญชีดำแล้ว แต่ข้อมูลประวัติการทำธุรกรรมทางการเงินยังคงอยู่ และหนี้เดิมยังคงมีอยู่ เมื่อลูกหนี้เหล่านี้ไปขอสินเชื่อ สถาบันการเงินจึงยังสามารถตรวจสอบข้อมูลเครดิตของลูกหนี้จากเครดิตบูโรได้ จึงเป็นไปได้ยากที่สถาบันการเงินจะยินดีปล่อยสินเชื่อ หากพบข้อมูลว่าเคยมีประวัติผิดนัดชำระหนี้จนกลายเป็นหนี้เสีย นอกจากนี้ ลูกหนี้ที่มียอดหนี้ต่ำกว่า 20,000 บาท แต่ยังไม่สามารถชำระได้ ไม่น่าจะเป็นกลุ่มคนที่มีกำลังซื้อบ้านและรถยนต์
ลูกหนี้ที่ดีแต่ผิดนัดชำระหนี้ด้วยเหตุของการลืมชำระหนี้ ย่อมสามารถและพยายามปลดตัวเองออกจากบัญชีดำอยู่แล้ว โดยไม่ต้องรอมาตรการของรัฐบาล เพื่อให้ตัวเองสามารถรักษาเครดิตที่ดีเอาไว้ได้ และทำให้สามารถทำธุรกรรมทางการเงินต่อไปได้
ส่วนลูกหนี้ที่มีศักยภาพในการคืนหนี้หากได้รับเงินกู้เพิ่มเติมคงจะมีจำนวนไม่มากนัก เพราะรัฐบาลที่ผ่านมามีโครงการปรับโครงสร้างหนี้ไปแล้วหลายครั้ง ยิ่งไปกว่านั้น หากเขาเป็นลูกหนี้ที่ดี ย่อมพยายามติดต่อสถาบันการเงินเพื่อเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ด้วยตนเองอยู่แล้ว
ผมจึงขอเสนอว่า การใช้แนวทางดังกล่าวนี้ไม่ควรจะเป็นการล้างบัญชีลูกหนี้เสียแบบปูพรม แต่ควรเป็นการขอความร่วมมือไปทางสถาบันการเงิน เพื่อพิจารณาสินเชื่อให้แก่ลูกหนี้บัญชีดำเป็นราย ๆ ไป โดยพิจารณาจากประวัติการชำระหนี้ รวมทั้งพิจารณากระแสรายได้ และศักยภาพในการชำระหนี้ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นแนวทางที่ปลอดภัยกว่า การปล่อยเสือทั้งโขยงเข้าป่าไป
Tags:
เผยแพร่:
สยามธุรกิจ
เมื่อ:
2007-07-04