สร้างตัวชี้วัดความมั่นคงของมนุษย์เครื่องมือพัฒนาความมั่นคงของมนุษย์
รัฐสภาไทยร่วมกับสำนักงานเลขาธิการสหภาพรัฐสภา (IPU) และ ศูนย์ประชาธิปไตยเพื่อกองทัพประจำกรุงเจนีวา จัดการสัมมนาระดับภูมิภาคของรัฐสภาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชีย-แปซิฟิกเมื่อวันที่ 1-2 ก.ย. 2549 ว่าด้วยการปฏิรูปด้านความมั่นคงในระดับประเทศและระดับภูมิภาค จังหวัดภูเก็ต โดยมีสมาชิกรัฐสภาจากประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเข้าร่วมสัมมนา จำนวน 15 ประเทศ
วัตถุประสงค์การสัมมนาครั้งนี้ เพื่อทบทวนแนวความคิดด้านความมั่นคงและสร้างความเข้าใจด้านความมั่นคงแห่งรัฐ ตลอดจนสร้างความร่วมมือระหว่างรัฐสภาด้านความมั่นคง
ผมได้รับเชิญให้กล่าวปาฐกถาเปิดสัมมนาดังกล่าวในฐานะตัวแทนสมาชิกรัฐสภาไทยภายใต้หัวข้อ ldquo;แนวคิดใหม่และความจำเป็นสำหรับวิถีความมั่นคงแบบครอบคลุมrdquo; โดยผมได้กล่าวถึงความจำเป็นในการเปลี่ยนแปลงนิยามและขอบเขตของความมั่นคงใหม่ เพราะปัจจุบันกระแสโลกาภิวัตน์เป็นสิ่งที่ขับเคลื่อนสังคม ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระเบียบโลกไปสู่กระบวนทัศน์ใหม่หรือระเบียบโลกใหม่ ความท้าทายและปัญหาความมั่นคงจึงเป็นประเด็นที่เชื่อมโยงระหว่างประเทศมากขึ้น ส่งผลให้การมองความมั่นคงระดับประเทศจึงไม่เพียงพออีกต่อไป
แนวความคิดเกี่ยวกับความมั่นคงจำเป็นต้องได้รับการเปลี่ยนแปลงเช่นกันโดยเริ่มจากการให้คำจำกัดความของความมั่นคงเสียใหม่โดยมองในมิติที่ลึกซึ้ง กว้างขวางและกว้างไกลขึ้นและเคลื่อนย้ายจุดเน้นจากความมั่นคงที่ให้รัฐเป็นศูนย์กลางไปสู่ ความมั่นคงที่ให้มนุษย์เป็นศูนย์กลางหรือความมั่นคงของมนุษย์ (Human Security)
ผมเสนอให้มีการสร้างตัวชี้วัดความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งเป็นชุดของดัชนีที่วัดทุกมิติและทุกองค์ประกอบในสังคมที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของมนุษย์ โดยมีการวัดและประมวลผลบนหลักวิชาการ เพื่อให้เป็นดัชนีสากลที่นำไปวัดความมั่นคงมนุษย์ในทุกประเทศ และมีการจัดอันดับความมั่นคงมนุษย์ระหว่างประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก เพื่อจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเรื่องความมั่นคงของมนุษย์ในแต่ละประเทศและในระดับโลก
อีกข้อเสนอหนึ่งคือการจัดตั้งองค์กรระหว่างประเทศเพื่อดูแลในเรื่องความมั่นคงของมนุษย์โดยเฉพาะ คล้ายกับองค์การการค้าโลก (WTO) ที่ดูแลการค้าโลก โดยองค์กรนี้จะทำหน้าที่จัดวาระให้เกิดความร่วมมือและข้อตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับความมั่นคงของมนุษย์ การให้คำปรึกษาและช่วยเหลือทางวิชาการ การตรวจสอบปัญหาความมั่นคงของมนุษย์ และการแก้ไขกรณีพิพาทระหว่างประเทศที่เกี่ยวกับความมั่นคงของมนุษย์
รวมถึง ข้อเสนออื่นๆ อีกหลายประการ อาทิ ศาลความมั่นคงของมนุษย์ จัดระบบภาษีความมั่นคงของมนุษย์ ศูนย์ศึกษาความมั่นคงของมนุษย์ การสร้างความร่วมมือกับภาคเอกชนในเรื่องการประกันภัยความมั่นคงของมนุษย์ การสร้างจิตสำนึกสิทธิเรื่องความมั่นคงของมนุษย์ จัดระบบเตือนภัยล่วงหน้าปัญหาความมั่นคงของมนุษย์ และการศึกษาผลกระทบต่อความมั่นคงของมนุษย์อันเกิดจากนโยบายของประเทศในด้านต่างๆ รวมถึงการชดเชยผู้รับผลกระทบจากนโยบายต่างๆ ไม่ว่าจากระดับชาติหรือนานาชาติ
ส่วนในกลุ่มคนที่มีโอกาสจะได้รับผลกระทบรุนแรงและกลุ่มชายขอบ เช่น เด็ก กลุ่มสตรีที่ยากจน ควรได้รับความเอาใจใส่เป็นพิเศษในการจัดอันดับความสำคัญในเรื่องนี้ และควรผูกโยงนักการเมืองกับความรับผิดชอบต่อสาธารณะในเรื่องนี้ผ่านสัญญาการปฏิบัติการหน้าที่ (performance contract) ด้วย
ผมคาดหวังว่าข้อเสนอต่างๆจะนำมาซึ่งความมั่นคงของมนุษย์ในภูมิภาคนี้ เพราะผู้ร่วมสัมมนากลุ่มนี้เป็นกลุ่มคนชั้นนำในแต่ละประเทศ น่าจะเป็นกลุ่มคนสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ รวมถึงมิตรสหายที่เคารพรักที่สามารถเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความมั่นคงของมนุษย์ให้เกิดขึ้นภายในภูมิภาคนี้ได้เช่นกัน