การประกอบการเพื่อสังคม : ภาคส่วนที่ 4 ในการแก้ปัญหาสังคมไทย?
สังคมในยุคปัจจุบันประสบกับปัญหาทางเศรษฐกิจสังคมหลากหลายประการ ทั้งปัญหาในระดับบุคคล เช่น ปัญหาการว่างงาน ปัญหาหนี้สินครัวเรือน ปัญหาการกระทำทารุณเด็ก การแพร่ระบาดของยาเสพติด การเข้าไม่ถึงบริการสาธารณสุขที่มีคุณภาพ หรือปัญหาในระดับสังคม เช่น ความยากจน การขาดการศึกษาระดับพื้นฐาน การเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภคอย่างไม่เป็นธรรม ความขัดแย้งทางเชื้อชาติ การละเมิดสิทธิมนุษยชน การค้ามนุษย์ เป็นต้น ที่ผ่านมามีความพยายามจากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ช่วยกันดำเนินการเพื่อการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจสังคมที่เกิดขึ้น ต่างพยายามเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา แต่หากวิเคราะห์ลงในรายละเอียดแล้วจะพบว่า ความพยายามในการแก้ไขปัญหาของแต่ละภาคส่วนมีจุดแข็งและมีข้อจำกัดในตัวเอง ซึ่งล้วนแต่ส่งผลทำให้การดำเนินการแก้ไขปัญหาไม่อาจเกิดประสิทธิผลได้อย่างเต็มที่
ภาครัฐมีจุดแข็งในแง่ของเครือข่ายของส่วนราชการที่ครอบคลุมพื้นที่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ทรัพยากรบุคลากรที่มีจำนวนมากมายกระจายทั่วประเทศ รวมทั้งงบประมาณที่ต่อเนื่อง แต่ขณะเดียวกัน เราพบว่ารัฐบาลหรือส่วนราชการยังประสบปัญหาการขาดความคล่องตัวในการดำเนินการด้วยข้อจำกัดเรื่องกฎระเบียบ การขาดความต่อเนื่องในนโยบายเนื่องจากการขาดเสถียรภาพของรัฐบาลและการเปลี่ยนรัฐบาล และการเน้นแก้ปัญหาในจุดที่มีผลต่อฐานคะแนนเสียงและประโยชน์ทางการเมือง มากกว่าการแก้ปัญหาที่แท้จริงของสังคม
ขณะเดียวกัน ภาคธุรกิจที่มีจุดแข็งในแง่ของความคล่องตัวในการดำเนินการที่ไม่ถูกจำกัดด้วยกฎระเบียบที่เคร่งครัดเช่นราชการ การปรับเปลี่ยนตัวที่รวดเร็ว การมีทรัพยากรที่ต่อเนื่องตามผลประกอบการขององค์กร ความมีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ แต่ขณะเดียวกัน แม้ว่าปัจจุบันจะมีหน่วยงานธุรกิจจำนวนมากที่เริ่มหันมาให้ความสนใจกับกิจกรรมที่แสดงความรับผิดชอบต่อสังคม แต่ในความเป็นจริงแล้ว ภาคธุรกิจเองยังมีข้อจำกัดในการทำหน้าที่เป็นตัวแสดงหลักที่จะขับเคลื่อนการแก้ปัญหาเศรษฐกิจสังคม เนื่องจากเป้าหมายหลักของการทำธุรกิจคือ ความอยู่รอดทางธุรกิจมากกว่าการมุ่งแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจสังคมอย่างเจาะจง ภาคธุรกิจจะไม่สนใจอยากมีส่วนช่วยเหลือสังคมหากกิจการของตนเองยังไม่สามารถอยู่รอดได้ ยิ่งกว่านั้น จุดหมายสูงสุดของธุรกิจคือ การสร้างผลประกอบการที่ให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าแก่ผู้ลงทุน ไม่ใช่การมุ่งเพิ่มสวัสดิการสูงสุดให้กับสังคม ความรับผิดชอบที่แท้จริงของกิจการธุรกิจจึงอยู่ที่พันธะต่อผู้เป็นเจ้าของและผู้ถือหุ้น หาใช่พันธะความรับผิดชอบต่อสังคมไม่
ในส่วนของภาคองค์กรพัฒนาเอกชน ซึ่งมักถูกนับว่าเป็นภาคที่สาม มีจุดแข็งอยู่ที่ประสบการณ์ในการทำงานที่เข้าถึงประชาชนได้ใกล้ชิด เกาะติดในพื้นที่ และมีความคล่องตัวในการดำเนินการ ไม่ติดกับกฎระเบียบ ซึ่งจะทำให้การดำเนินการสามารถเข้าไปช่วยเหลือผู้มีปัญหา และจัดการกับสภาพปัญหาได้จริง แต่ภาคที่สามนี้ก็มีข้อจำกัดที่สำคัญ คือ เรื่องเงินทุน ที่ไม่มีแหล่งรายได้ประจำองค์กรพัฒนาเอกชนจำนวนมากต้องขอเงินสนับสนุนจากแหล่งทุนต่าง ๆ ซึ่งมักจะต้องทำตามวาระที่กำหนดมาตามความต้องการของผู้ให้ทุน ไม่สามารถดำเนินการได้อย่างอิสระตามรูปแบบและแนวทางของตนเอง ในขณะที่องค์กรพัฒนาเอกชนจำนวนมากจัดตั้งขึ้นในลักษณะของอาสาสมัคร แต่ขาดความเป็นมืออาชีพในการบริหารโครงการหรือการติดตามการใช้จ่ายเงิน รวมถึงขาดการสนับสนุนจากภาครัฐ เพราะภาครัฐมีความหวาดระแวงการดำเนินงานของภาคส่วนดังกล่าวว่าอาจจะต่อต้านการทำงานของภาครัฐ
จากจุดแข็ง และจุดอ่อนของภาคส่วนต่าง ๆ ที่กล่าวมาข้างต้น หากมีการนำจุดแข็งในแต่ภาคส่วนมาใช้ผสมผสานกันอย่างกลมกล่อม น่าจะช่วยให้ได้แนวทางใหม่ในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจสังคมให้ดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ผมได้พบว่ามีแนวคิดหนึ่งที่กำลังได้รับความนิยมในระดับนานาชาติเป็นแนวคิดที่ได้ผสานจุดแข็งของแต่ละภาคส่วนมาใช้ นั่นคือ แนวคิดเรื่อง ldquo;การประกอบการเพื่อสังคม (social entrepreneurship)rdquo; แนวคิดนี้ถูกนำมาใช้เพื่ออธิบายปรากฎการณ์การขยายตัวของภาคส่วนใหม่ในสังคม ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์ต่อการแก้ปัญหาเศรษฐกิจสังคมไทย
แนวคิดเบื้องต้นของการประกอบการเพื่อสังคมคือ เป็นกิจการที่ริเริ่มโดยบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่มีเป้าหมายเพื่อสังคมโดยตรง บุคคลหรือกลุ่มบุคคลเหล่านี้ไม่ได้สนใจเรื่องของการมุ่งหวังให้ได้กำไรหรือผลตอบแทนสูงสุด ความสนใจของคนเหล่านี้ไปไกลกว่าการแสวงหาความมั่งคั่งเพื่อตนเอง แต่เป็นการมุ่งเข้าไปมีส่วนหรือมีบทบาทในการช่วยเหลือหรือแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจสังคมในประเด็นที่สนใจเป็นสำคัญ เป็นความปรารถนาที่จะเห็นสังคมถูกพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้นผ่านกิจการที่คนเหล่านี้ดำเนินการ
กิจการที่ทำอาจจะเป็นกิจการที่สร้างรายได้หรือไม่สร้างรายได้ก็ได้ จะมีกำไรหรือไม่มีกำไรก็ได้ แต่ต้องเป็นกิจการที่สามารถเลี้ยงตัวเองได้ สามารถสร้างรายได้เพียงพอที่จะสนับสนุนการดำเนินกิจการนั้นต่อไป แต่หากมีกำไรก็เป็นกำไรในระดับที่เพียงพอให้มีรายได้หมุนเวียนสนับสนุนกิจการให้ดำเนินต่อไปได้ หรืออาจจะเอากำไรส่วนเกินไปใช้เพื่อสร้างกิจการเพื่อสังคมกิจการใหม่ได้ หากทำเป็นธุรกิจ ก็ใช้ธุรกิจของตนเป็นเครื่องมือหาแหล่งเงินทุนเพื่อสนับสนุนความตั้งใจที่จะแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจสังคมที่ตนเองสนใจ ด้วยวิธีนี้ทำให้การดำเนินกิจกรรมแก้ปัญหาเศรษฐกิจสังคมสามารถดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่อง ไม่ขาดตอน เพราะไม่ขาดแคลนแหล่งทุนสนับสนุน เหมือนบางองค์กรที่แม้มีความตั้งใจดีแต่ขาดกำลังทรัพย์สนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ทำให้ภารกิจขององค์กรไม่บรรลุผลอย่างที่ควรจะเป็น
แต่ในอีกทางหนึ่ง หากจะเป็นกิจการที่ไม่ได้สร้างรายได้โดยตรงจากตัวกิจการนั้น ผู้ประกอบการเพื่อสังคมก็มีแนวทางหรือช่องทางอื่นในการระดมทรัพยากร เพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพยากรที่จำเป็นต้องการดำเนินการกิจการอย่างเพียงพอที่จะทำให้กิจการดำเนินต่อเนื่องได้ ไม่ว่าจะเป็นทรัพยากรด้านเงินทุน บุคลากร หรือเทคโนโลยีที่จำเป็น ผู้ประกอบการเหล่านี้มักมีความสามารถในการบริหารจัดการกิจการของตนเองอย่างมืออาชีพ
ลักษณะของผู้ประกอบการเพื่อสังคมจึงเป็นการประสานองค์ประกอบของความคล่องตัว ความมีประสิทธิภาพ และความสามารถในการสร้างนวัตกรรมแบบผู้ประกอบการ ร่วมกับความมีจิตสำนึกต่อสังคม และความมุ่งหมายในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจสังคมแบบนักพัฒนาสังคมไว้ด้วยกัน
กล่าวโดยสรุป แนวคิด ldquo;การประกอบการเพื่อสังคมrdquo; จึงเปรียบเหมือนแนวคิดที่ประสานจุดแข็ง แก้ไขจุดอ่อนของภาคส่วนต่าง ๆ และน่าจะเป็นทางเลือกในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจสังคมไทยได้อย่างน่าสนใจ
Catagories:
เผยแพร่:
กรุงเทพธุรกิจ
เมื่อ:
2007-06-27
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
ค่าแรงขั้นต่ำ: ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการบริหารจัดการ
Total views: อ่าน 115 ครั้ง
การหมิ่นประมาท คือ ฆาตกรรมชื่อเสียง
Total views: อ่าน 84 ครั้ง
Passive Outcome
Total views: อ่าน 200 ครั้ง
เกียรติระบบ : Honour System สังคมให้เกียรติ หลู่เกียรติ ทอนเกียรติ ตู่เกียรติ
Total views: อ่าน 166 ครั้ง
ยุติสงคราม สร้างสันติภาพโลกถาวร (ซ้ำ)
Total views: อ่าน 146 ครั้ง