แนวทางนำแรงงานนอกระบบเข้าสู่ระบบประกันสังคม

การปฏิรูประบบประกันสังคมกลายเป็นกระแสที่มีการกล่าวถึงในช่วงที่ผ่านมา เมื่อตัวแทนแรงงานได้ยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาลให้ดูแลความปลอดภัยและยกฐานะของแรงงาน ขณะที่นักวิชาการบางท่านเสนอให้นำเงินประกันสังคมบางส่วนให้แรงงานกู้ยืม และกลุ่มสมัชชาแรงงานนอกระบบและตัวแทนแรงงานนอกระบบจำนวน 22.5 ล้านคน เรียกร้องขอมีสิทธิประกันสังคม เพื่อให้พวกตนได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานเหมือนกับแรงงานในระบบ

ผมเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งว่า รัฐบาลควรเร่งแก้ไข ปัญหาแรงงานนอกระบบที่ยังไม่มีระบบสวัสดิการสังคมมารองรับ เพราะแรงงานนอกระบบเป็นแรงงานส่วนใหญ่ของประเทศ และมีความเป็นไปได้ที่แรงงานกลุ่มนี้อาจมีจำนวนเพิ่มขึ้น การที่แรงงานส่วนใหญ่ยังขาดหลักประกันในชีวิต ถือเป็นความเสี่ยงต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน

สาเหตุให้แรงงานนอกระบบเพิ่มขึ้น เกิดจากปัจจัยสองกลุ่ม คือ ปัจจัยผลักและปัจจัยดึง

ปัจจัยผลัก คือ ปัจจัยที่ผลักดันให้แรงงานต้องย้ายจากการทำงานในระบบ ไปทำงานนอกระบบ เช่นการประกาศใช้ พ.ร.บ.คุ้มรองแรงงาน พ.ศ. 2541 ซึ่งมีความเข้มงวดและให้สิทธิประโยชน์แก่แรงงานมาก ทำให้ต้นทุนการจ้างงานในระบบสูงขึ้นมาก นายจ้างจึงเปลี่ยนวิธีการจ้างงานเป็นแบบจ้างเหมาหรือจ้างแรงงานนอกระบบ แต่จะไม่ทำสัญญาเป็นลูกจ้างประจำ นอกจากนี้ ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอาจทำให้แรงงานจำนวนหนึ่งต้องถูกให้ออกจากงาน แต่ยังไม่สามารถหางานประจำได้ จึงจำเป็นต้องทำงานนอกระบบเพื่อเลี้ยงชีพเป็นต้น

เหตุผลด้านครอบครัวเป็นปัจจัยอีกประการที่ทำให้เกิดแรงงานนอกระบบมากขึ้น โดยเฉพาะแรงงานสตรีที่ต้องดูแลลูกที่บ้าน แต่ต้องการหารายได้เสริม การรับงานมาทำที่บ้านจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการแบ่งเบาภาระครอบครัว เพราะสามารถเลี้ยงลูกและทำงานไปพร้อม ๆ กันได้ ด้วยเหตุนี้การทำงานนอกระบบจึงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น และยังสามารถสร้างความมั่งคั่งให้กับประเทศได้เช่นเดียวกับการทำงานในระบบ แต่แรงงานเหล่านี้กลับไม่เข้าข่ายความคุ้มครองของระบบประกันสังคม

ปัจจัยดึง คือ ปัจจัยที่ดึงดูดให้การจ้างงานในระบบไปสู่การในทำงานนอกระบบ โดยปัจจัยสำคัญ คือเทคโนโลยีสารสนเทศที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว ทำให้คนสามารถรับงานไปทำที่บ้านได้มากขึ้น เช่น สถาปนิก นักออกแบบ นักเขียน นักวิจัย นักเขียนโปรแกรม หรือแม้แต่งานขาย และงานบริการข้อมูลแก่ลูกค้า เป็นต้น รูปแบบการจ้างงานโดยให้รายได้ตามชิ้นงานเป็นอีกปัจจัยที่ดึงดูดแรงงานออกจากงานในระบบ เนื่องจากแรงงานจะมีความเป็นอิสระ ไม่ต้องถูกควบคุม และผลตอบแทนขึ้นอยู่กับความขยัน ในขณะที่แรงงานในระบบส่วนใหญ่จะได้รับเป็นเงินเดือนคงที่ไม่ว่าจะทำงานมากหรือน้อย

เมื่อพิจารณาในมุมของนายจ้าง ที่ต้องการลดต้นทุนการจ้างแรงงาน ซึ่งมิได้มีเพียงเงินเดือนเท่านั้น แต่รวมถึงสวัสดิการแรงงาน โบนัส และการประกันต่าง ๆ อีกทั้งความเสี่ยงจากการถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายเมื่อลูกจ้างได้รับอุบัติเหตุ หรือการประท้วงนัดหยุดงาน ดังนั้นธุรกิจต่าง ๆ จึงหันมาใช้ใช้วิธีจ้างเหมาช่วงงานหรือหาแรงงานจากภายนอก (outsource) มากขึ้น เช่น งานรักษาความปลอดภัย งานทำความสะอาด งานส่งเอกสาร เป็นต้น

แนวทางขยายระบบประกันสังคมให้ครอบคลุมแรงงานนอกระบบ
การนำแรงงานนอกระบบเข้าสู่ระบบประกันสังคมนับเป็นเรื่องที่ท้าทาย เนื่องจากรายได้ของแรงงานนอกระบบไม่แน่นอน จึงมีปัญหาต่อการกำหนดอัตราเงินสมทบเข้ากองทุนฯ และการที่ไม่มีนายจ้างทำให้ขาดกลไกในการรวบรวมเงินสมทบเข้าสู่กองทุน และไม่มีเงินสมทบในส่วนของนายจ้างอีกด้วย นอกจากนี้ การทำงานของแรงงานนอกระบบยังไม่มีวันเวลาที่แน่นอน ทำให้ตรวจสอบได้ยากว่า แรงงานอยู่ในสถานะของการมีงานทำหรือไม่

ผมจึงขอเสนอแนวทางกว้าง ๆ ในการเก็บเงินสมทบจากแรงงานนอกระบบเข้ากองทุนฯ โดยกำหนดการจ่ายเงินสมทบตามความสามารถของแต่ละคน และกำหนดเงินสมทบสูงสุดที่ผู้ประกันตนต้องจ่าย เพื่อมิให้ผู้มีรายได้สูงต้องจ่ายเงินสมทบมากจนเกินไป และควรยืดหยุ่นให้สามารถจ่ายเป็นรายเดือน รายไตรมาส รายครึ่งปี หรือรายปี ขึ้นกับลักษณะความถี่ของรายได้หรือความสะดวก

แรงงานนอกระบบทุกคนจะต้องมาขึ้นทะเบียนและแจ้งรายได้ของตน โดยจะต้องแจ้งรายได้ตามความเป็นจริง และกำหนดให้มีโทษปรับในกรณีที่ตรวจสอบพบว่าแจ้งข้อมูลเท็จ ในอนาคต แรงงานอาจจะต้องแจ้งทรัพย์สินด้วย เนื่องจากคนที่อยู่นอกระบบจำนวนหนึ่งอาจไม่มีรายได้ แต่มีทรัพย์สินหรือเงินออมเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้เพื่อลดภาระกองทุนในการช่วยเหลือคนที่มีฐานะร่ำรวยแต่อาจไม่มีรายได้มากนัก และเพิ่มช่องทางในการระดมทรัพยากรจากประชาชนทั้งประเทศ และจัดสรรสวัสดิการแก่ประชาชนโดยการประกันแทนการสงเคราะห์

ผู้ที่ไม่เข้าสู่ระบบประกันสังคมจะมีต้นทุนของการอยู่นอกระบบ เพราะระบบสวัสดิการสังคมทั้งหมดจะรวมเป็นระบบเดียว ผู้ที่ไม่เข้าสู่ระบบจะไม่สามารถได้รับบริการด้านสวัสดิการสังคมจากรัฐ รวมทั้งไม่สามารถรับบริการอื่น ๆ จากภาครัฐด้วย

การให้สิทธิประโยชน์ของกองทุนฯ จะครอบคลุมประกันสุขภาพ ประกันชราภาพ และสวัสดิการจากการทำงาน เช่นเดียวกับประกันสังคมปัจจุบัน และอาจขยายให้ครอบคลุมการประกันอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากที่มีอยู่ในปัจจุบันด้วย รวมทั้งอาจผูกระบบประกันสังคมกับการให้สวัสดิการกับเด็กและคนชราด้วย กล่าวคือเด็กหรือคนชราที่อยู่ในความดูแลของผู้ประกันตน จะได้สิทธิประโยชน์ของการประกันสังคมด้วย ทั้งนี้เพื่อจูงใจให้คนที่อยู่ในวัยแรงงานเข้าระบบประกันสังคมให้มากที่สุด

การนำกำลังแรงงานทั้งหมดเข้าสู่ระบบประกันสังคม แม้ว่าจะเป็นมาตรการที่ผลักดันได้ยากและต้องอาศัยความกล้าหาญของรัฐบาล แต่หากทำสำเร็จจะเป็นคุณูปการแก่ประชาชนจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม การดำเนินการจะต้องมีการศึกษาวิจัยในรายละเอียดต่อไป โดยเฉพาะในประเด็นเกี่ยวกับอัตราเงินสมทบ การจัดทำระบบข้อมูลข่าวสาร สิทธิประโยชน์ และภาระต่องบประมาณแผ่นดิน
admin
Catagories: 
เผยแพร่: 
สยามธุรกิจ
เมื่อ: 
2007-06-27