ความสมดุลในการแก้ปัญหาเก็งกำไรค่าเงินบาท

มาตรการของธนาคารแห่งประเทศไทยในการกันสำรองเงินตราต่างประเทศร้อยละ 30 และหักเงินร้อยละ 10 สำหรับเงินต่างประเทศที่เข้ามาลงทุนไม่ถึง 1 ปี ส่งผลกระทบต่อจิตวิทยาการลงทุนของนักลงทุนจำนวนมาก เห็นได้จากสภาพการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่ซบเซาต่อเนื่อง รวมทั้งส่งผลกระทบต่อการพัฒนาตลาดตราสารหนี้และการลงทุนภายในประเทศด้วย

แม้ว่า ธปท.จะยกเลิกมาตรการนี้สำหรับการลงทุนในตลาดหุ้นแล้ว แต่อิทธิพลของมาตรการนี้ยังครอบคลุมไปถึงการลงทุนในตราสารหนี้ที่ไม่ได้เป็นเป้าหมายของการเก็งกำไรด้วย จึงเป็นการผลักให้นักลงทุนต่างประเทศบางส่วนที่มีวัตถุประสงค์การลงทุนระยะยาวออกไปจากไทยด้วย และทำให้ตลาดขาดสภาพคล่อง การที่ภาครัฐใช้มาตรการแก้ปัญหาเก็งกำไรค่าเงินบาทแบบเหมารวม จึงเป็นมาตรการที่ขาดความสมดุล เพราะแม้จะเป็นผลดีต่อการส่งออก แต่กลับส่งผลกระทบต่อการลงทุนอย่างรุนแรง

ผมเห็นว่า การแก้ปัญหาเก็งกำไรค่าเงินบาทอย่างสมดุลควรอยู่บนหลักอย่างน้อย 3 ประการ

1. แก้ที่สาเหตุหลักของการเก็งกำไร

สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการเก็งกำไร คือ อัตราดอกเบี้ยของไทยที่สูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน มาตรการดังกล่าวข้างต้นแม้ว่าจะสามารถควบคุมการเก็งกำไรในตลาดในประเทศอย่างได้ผล แต่การเก็งกำไรค่าเงินบาทที่ยังคงมีอยู่ในตลาดต่างประเทศ (Offshore) สะท้อนให้เห็นความต้องการเงินบาทที่มีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากมาตรการนี้ไปทำให้ปริมาณเงินบาทมีอย่างจำกัด และอีกส่วนหนึ่งเกิดจากแรงดึงดูดของอัตราดอกเบี้ย ดังนั้นการแก้ไขปัญหาการเก็งกำไรได้อย่างแท้จริงน่าจะอยู่ที่การลดอัตราดอกเบี้ยเสียมากกว่า

2. คำนึงถึงเสถียรภาพเศรษฐกิจในประเทศ

แม้ว่าดอกเบี้ยจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการควบคุมอัตราเงินเฟ้อ แต่อัตราเงินเฟ้อของไทยได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปและเงินเฟ้อพื้นฐานได้ลดลงเหลือร้อยละ 3.6 และ 1.9 ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2549 จากร้อยละ 5.7 และ 2.6 ในไตรมาสที่ 1 ธปท.จึงควรพิจารณาแนวทางลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อลดแรงดึงดูดของเงินลงทุนระยะสั้นที่เข้ามาเก็งกำไร รวมทั้งกระตุ้นการลงทุนและการบริโภคที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง อันเป็นผลจากสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง และการขาดความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อนโยบายของภาครัฐ

3. ไม่กระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน

มาตรการดังกล่าวส่งผลกระทบต่อจิตวิทยาการลงทุน เนื่องจากนักลงทุนขาดความเชื่อมั่นและจะคาดหวังผลตอบแทนที่สูงขึ้นเพื่อชดเชยความเสี่ยงในด้านนโยบายของไทย ทั้งนี้โบรกเกอร์ต่างชาติหลายสำนักได้แนะนำนักลงทุนให้ออกจากตลาดไทยอย่างสิ้นเชิง โดยให้น้ำหนักการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ไทยเท่ากับศูนย์ (Zero weighting) ผมจึงขอเสนอให้ทบทวนมาตรการนี้สำหรับเงินตราต่างประเทศที่เข้ามาลงทุนในตราสารหนี้บางประเภทที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเก็งกำไรระยะสั้น เช่นกองทุนร่วมลงทุน (venture capital) เนื่องจากเป็นเงินที่เข้ามาลงทุนในภาคธุรกิจที่แท้จริงซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการลงทุนระยะยาวมากกว่า 1 ปีอยู่แล้ว และมีขนาดของกองทุนเล็กมาก จึงแทบไม่มีผลต่อการเก็งกำไรค่าเงินบาทมากนัก

ทั้งนี้หากมาตรการควบคุมการไหลเข้าของเงินทุนระยะสั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อควบคุมการไหลเข้าของเงินทุนระยะสั้นและไม่ต้องการให้ส่งผลกระทบต่อเงินทุนระยะยาว ผมมีข้อเสนอว่า ธปท.อาจจะพิจารณายกเลิกมาตรการในส่วนขาเข้าคือกันสำรองร้อยละ 30 แต่ยังคงมาตรการในส่วนขาออกคือการหักเงินร้อยละ 10 (หรือในอัตราอื่นที่เหมาะสม) หากถอนการลงทุนออกก่อนระยะเวลา 1 ปี โดยใช้มาตรการนี้ในตราสารหนี้ที่ต้องการเงินทุนระยะยาว โดยให้คงมาตรการในส่วนขาออกเป็นการชั่วคราวจนกว่า อัตราดอกเบี้ยจะอยู่ในระดับที่ทำให้ค่าเงินบาทมีเสถียรภาพ

ภาครัฐควรกำหนดนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนที่สร้างความสมดุลในเป้าหมายการส่งออกและการลงทุน และไม่ควรละเลยมาตรการระยะยาวที่สร้างความยืดหยุ่นให้กับภาคส่งออกของไทย โดยการกระจายความเสี่ยงของการส่งออก ไม่พึ่งพาตลาดใดตลาดหนึ่งหรือพึ่งพาสกุลเงินใดมากเกินไป ประการสำคัญคือการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการสร้างนวัตกรรม เพื่อพัฒนาขีดความสามารถการแข่งขันของภาคการผลิตในประเทศ ซึ่งจะทำให้สินค้าส่งออกของไทยรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของค่าเงินได้ดียิ่งขึ้น
admin
เผยแพร่: 
0
เมื่อ: 
2007-01-17