ติดอาวุธการมีส่วนร่วมให้ประชาชนในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
เรียนมิตรสหายที่เคารพรัก
สิ่งที่สังคมเฝ้าจับตามองขณะนี้คือ การได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งหลายฝ่ายเชื่อว่าจะใช้เวลาไม่นานในการจัดทำให้แล้วเสร็จ ความคาดหวังของประชาชนต่อรัฐธรรมนูญนี้ คือ การคงไว้เรื่องสิทธิเสรีภาพ การเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้ามาแสดงความคิดเห็นมากขึ้น
หากพิจารณาจากรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ที่เกิดจากประชาชนทุกภาคส่วนร่วมกันระดมสมอง แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และประมวลข้อเสนอแนะที่หลากหลาย ทำให้ประชาชนได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง โดยเฉพาะในประเด็นเรื่อง สิทธิทางการเมืองภาคประชาชน ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีที่เกิดขึ้น อย่างที่ไม่เคยมีในรัฐธรรมนูญฉบับไหนมาก่อน
ในทางปฏิบัติกลับพบว่า ตลอดระยะเวลา 9 ปีที่ผ่านมา พบว่า ประชาชนยังไม่มีส่วนร่วมทางการเมืองเท่าที่ควร อาจเนื่องมาจากกระบวนการในการดำเนินการไม่สนับสนุนให้บรรลุผลตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ อาทิเช่น
การที่ประชาชนใช้สิทธิในการเสนอกฎหมาย หรือการใช้สิทธิในการถอดถอนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารระดับสูง ในภาคปฎิบัติพบว่า ประชาชนไม่สามารถเป็นผู้ดำเนินการได้ด้วยตนเอง หากประชาชนต้องการใช้สิทธิในเรื่องดังกล่าว ต้องผ่านระเบียบและขั้นตอนในการยื่นเสนอเรื่องที่มีความยุ่งยาก รวมถึงประชาชนที่เป็นผู้เสนอร่างกฎหมายกลับไม่มีสิทธิเข้าไปเสนอหลักการในรัฐสภา โดยต้องทำผ่านนักการเมือง และเมื่อถึงที่สุดกระบวนการในการตัดสินใจสุดท้ายยังขึ้นอยู่กับการเมืองในระบบ คือพรรคการเมือง และ นักการเมือง
การให้ประชาชนมีสิทธิตั้งพรรคการเมือง แต่กลับไม่มีพรรคการเมืองที่เป็นของประชาชนอย่างแท้จริง ทั้งนี้อาจมาจาก เงินที่ได้รับอุดหนุนจาก กกต. ไม่เพียงพอต่อการดำเนินกิจกรรมทางการเมือง เป็นการเปิดช่องให้กับกลุ่มนายทุน หรือบุคคลบางกลุ่ม เข้ามามีอิทธิพลในพรรค ผ่านการบริจาคเงินให้แก่พรรคการเมืองก้อนโต นอกจากนี้ หลักเกณฑ์ของการจัดตั้งพรรค ได้กำหนดให้พรรคการเมืองต้องหาสมาชิก 5,000 คนใน 4 ภาคและตั้งสาขาพรรคอย่างน้อยภาคละ 1 สาขา ภายใน 180 วัน นับแต่วันจดทะเบียนตั้งพรรค หากหาสมาชิกหรือตั้งสาขาพรรคไม่ครบตามกำหนด จะต้องยุบพรรค ระเบียบและขั้นตอนของการจัดตั้งพรรคที่มีความยุ่งยากซับซ้อนในทางปฏิบัติ จึงทำให้การจัดตั้งพรรคการเมืองที่เป็นของประชาชนมีความเป็นไปได้ยาก
จากที่กล่าวมา ผมเห็นว่า หากต้องการให้เกิดพรรคการเมืองที่เป็นของประชาชน ควรต้องมีการทบทวนขั้นตอนและเงื่อนไขในบางเรื่องเสียใหม่ เพื่อให้การดำเนินการจัดตั้งพรรคเป็นไปได้ง่ายขึ้น และเงินสนับสนุนพรรคการเมืองควรมาจากประชาชน มิใช่จากนายทุนเป็นส่วนใหญ่ ในสมัยที่ผมเป็น ส.ส ได้ เตรียมเสนอมาตรการภาษี โดยที่ผู้บริจาคเงินแก่พรรคการเมืองมีสิทธินำเงินบริจาคไปหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคล เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการสนับสนุนและพัฒนาพรรคการเมือง ให้เป็นของประชาชน ไม่จำกัดอยู่ในกลุ่มนายทุนแต่เพียงบางกลุ่ม
ดังนั้นสิ่งที่เราควรเรียนรู้จากตลอด 9 ปีของการใช้รัฐธรรมนูญ 2540 คือ การนำประเทศไปสู่การเป็นสังคมประชาธิปไตยนั้น ไม่เพียงมีรัฐธรรมนูญที่ระบุถึงการให้สิทธิเสรีภาพแก่ประชาชน แต่กลับไม่เอื้อให้ประชาชนได้รับสิทธิอย่างเต็มที่มากนัก เนื่องจากไม่มีกระบวนการที่มีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะมารองรับในทางปฏิบัติ
ด้วยเหตุนี้การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในครั้งนี้ จึงควรดำเนินการอย่างรอบคอบ นอกจากจะมีเนื้อหารับรองสิทธิทางการเมืองของประชาชนแล้ว ยังต้องพยายามสร้างกลไกในการส่งผ่านแนวคิดไปสู่ภาคปฏิบัติอย่างเป็นระบบ เพื่อให้ภาคประชาชนสามารถเข้ามีส่วนร่วมทางการเมืองได้อย่างเต็มที่มากกว่าที่ผ่านมา อันจะส่งผลดีต่อการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ให้เติบโตขึ้นในสังคมไทยอย่างรวดเร็ว