วิวาทะว่าด้วย Barter Trade
เรียนมิตรสหายที่เคารพรัก
เกี่ยวกับนโยบายบาเตอร์เทรด (Barter trade) ของรัฐบาล ซึ่งผมได้เขียนบทความวิพากษ์ไปก่อนหน้านี้ และมีเพื่อน ๆ ได้กรุณาเขียนจดหมายเพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นกับผม โดยระบุถึงข้อดีของระบบบาเตอร์เทรด คือลดการพึ่งพาสกุลเงินต่างประเทศ ลดความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน และช่วยขยายตลาดเข้าไปในประเทศกำลังพัฒนา ผมจึงขอแลกเปลี่ยนความเห็นในประเด็นนี้ ดังต่อไปนี้
แม้ว่าการใช้ระบบบาเตอร์เทรดมีข้อดีในการลดการพึ่งพาสกุลเงินตราต่างประเทศ แต่การเลือกใช้ระบบการค้าแบบใดจำเป็นต้องพิจารณาข้อดี-ข้อเสียอย่างรอบด้าน โดยเปรียบเทียบกับระบบอื่น ๆ ด้วย ทั้งนี้ระบบบาเตอร์เทรดยังมีข้อด้อย ซึ่งผมอยากจะตั้งข้อสังเกตดังต่อไปนี้ คือ
ขาดความยืดหยุ่นในการค้าขายระหว่างประเทศ และมักจะใช้ได้เฉพาะการซื้อขายระหว่างรัฐต่อรัฐ ทำให้การเจรจาตกลงเพื่อแลกเปลี่ยนสินค้ามีความยุ่งยากมากกว่าระบบที่ใช้เงินเป็นตัวกลาง ขณะที่การค้าทั่วโลกใช้ระบบเงินตราเป็นสื่อกลาง การใช้ระบบบาเตอร์เทรดจะทำให้เรามีทางเลือกในการส่งออกและซื้อสินค้าเข้าที่จำกัด อาจจะทำให้เราได้สินค้าที่คุณภาพไม่ดีที่สุดและไม่ใช่ราคาต่ำที่สุด
ต้นทุนทางธุรกรรม (Transaction cost) ของการซื้อขายจะสูงกว่าระบบที่ใช้เงินตราเป็นตัวกลางอย่างแน่นอน เพราะมีขั้นตอนและความซับซ้อนมากกว่า การที่ทั่วโลกใช้ระบบเงินตราเกือบทั้งหมดเป็นตัวสะท้อนอย่างดีว่า ระบบเงินตรามีประสิทธิภาพมากกว่าระบบบาเตอร์เทรด
สำหรับประเด็นความผันผวนอัตราแลกเปลี่ยน ผมคิดว่าการใช้ระบบบาเตอร์เทรดไม่ได้ทำให้รอดพ้นจากผลกระทบของความผันผวนของค่าเงิน เนื่องจากการค้าระหว่างประเทศทั่วโลกใช้ระบบเงินตราเกือบทั้งหมด เพราะผู้ที่จะยอมรับระบบบาเตอร์เทรดมีไม่มากนัก ดังนั้นการกำหนดราคาสินค้าที่ใช้ในการแลกเปลี่ยนด้วยระบบบาเตอร์เทรด มีความจำเป็นต้องอ้างอิงกับราคาสินค้าในตลาดโลก ซึ่งราคาสินค้าในตลาดโลกจะได้รับผลกระทบจากค่าเงินของแต่ละประเทศด้วย
ประเด็นสุดท้าย แม้ว่าระบบบาร์เตอร์เทรดอาจใช้เป็นกลยุทธ์เจาะตลาดในประเทศกำลังพัฒนาที่มีระบบการเงินการธนาคารที่ยังล้าหลัง แต่สิ่งที่ต้องพึงระวัง คือ ประเทศไทยจะต้องซื้อสินค้าจากประเทศดังกล่าวนั้นด้วย แต่สินค้าที่มีอยู่ในประเทศเหล่านั้นอาจเป็นสินค้าที่เราไม่มีความต้องการ หรืออาจมีคุณภาพและราคาอาจจะไม่เหมาะสม เมื่อเปรียบเทียบกับการซื้อจากประเทศอื่น ๆ
ในความเป็นจริง ระบบเศรษฐกิจที่ใช้เงินเป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้านั้นมีประโยชน์ เป็นระบบที่พัฒนาขึ้นมาจากระบบบาร์เตอร์เทรดในสมัยโบราณ การใช้เงินทำให้ระบบการค้าขายมีความคล่องตัวและทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจเกิดประสิทธิภาพมากกว่าระบบเศรษฐกิจที่ใช้การแลกเปลี่ยนสินค้า
อย่างไรก็ตาม ระบบบาร์เตอร์เทรดอาจมีประโยชน์ในกรณีพิเศษบางกรณี เช่น กรณีที่สินค้าบางชนิดล้นตลาด รัฐบาลอาจระบายสินค้านั้นออกนอกประเทศ ด้วยการนำไปแลกกับสินค้าอื่นที่รัฐบาลมีความต้องการอยู่แล้ว หรือกรณีที่ประเทศไทยขาดแคลนเงินตราต่างประเทศ การทำบาร์เตอร์เทรดจะช่วยให้สามารถทำการค้าระหว่างประเทศต่อไปได้ เป็นต้น