ลอยตัวค่าก๊าซ : มาตรการซ้ำเติมค่าครองชีพ
เรียนมิตรสหายที่เคารพรัก
นายวิเศษ จูภิบาล รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ภายในระยะเวลา 2 เดือนนี้กระทรวงพลังงานจะประกาศลอยตัวราคาก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ทั้งที่ใช้ในรถยนต์และครัวเรือน จากเดิมที่จะปรับเฉพาะแอลพีจีสำหรับรถยนต์ โดยให้เหตุผลว่า หากลอยตัวเฉพาะแอลพีจีสำหรับรถยนต์อาจเกิดการลักลอบนำแอลพีจีสำหรับการหุงต้มไปใช้รถยนต์ ซึ่งอาจเกิดอันตรายได้
ผมคิดว่าเหตุผลที่กระทรวงพลังงานจะลอยตัวราคาก๊าซหุ้งต้มในครัวเรือนด้วยนั้น เป็นเหตุผลที่ไม่เพียงพอสำหรับการขึ้นราคาก๊าซหุงต้ม เมื่อเปรียบเทียบกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น เนื่องจากก๊าซหุงต้มเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของประชาชนในปัจจุบัน เพราะครัวเรือนจำนวนมากต้องใช้ก๊าซเพื่อหุงหาอาหาร รวมทั้งผู้ประกอบการหรือกิจการอีกจำนวนมากที่ต้องใช้ก๊าซแอลพีจีเป็นปัจจัยหลักในการผลิต เช่น โรงแรม ภัตตาคาร ร้านอาหารทั้งเล็กและใหญ่ทั่วประเทศ เป็นต้น
สำหรับนโยบายในครั้งแรกของกระทรวงพลังงานคือการจะยกเลิกการอุดหนุนเฉพาะภาคขนส่ง ผมเห็นว่ามีเป็นมาตรการที่พอรับได้ เนื่องจากก๊าซแอลพีจีในภาคขนส่งนั้นถือว่าเป็นสินค้าประเภทฟุ่มเฟือย และผู้ที่จะได้รับผลกระทบมีไม่มากนัก เช่น กลุ่มผู้ประการรถแท็กซี่ รถตุ๊กตุ๊ก และรถยนต์นั่งส่วนบุคคลที่ติดตั้งระบบก๊าซแอลพีจี เป็นต้น โดยผู้ขับรถแท็กซี่และรถตุ๊กตุ๊กนั้นสามารถผลักภาระให้กับผู้บริโภคที่มีความสามารถในการจ่ายได้ และผู้ที่มีรถยนต์ส่วนบุคคลยังมีทางเลือกในการใช้พลังงานและบริการประเภทอื่น ๆ ได้ เช่น การหันไปใช้ระบบขนส่งมวลชน หรือใช้ยานยนต์ที่ใช้ก๊าซเอ็นจีวี เป็นต้น
ในทางตรงข้าม ก๊าซหุงต้มถือเป็นสินค้าที่มีความจำเป็นตามที่ได้กล่าวมาแล้วในข้างต้น การยกเลิกการอุดหนุนเท่ากับว่า ผู้บริโภคกลุ่มนี้ซึ่งเป็นประชาชนกลุ่มใหญ่จะไม่มีทางเลือกในการใช้พลังงานอื่นเลย นอกจากนี้ผู้ผลิตและจำหน่ายอาหารจะมีต้นทุนเพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบต่อภาวะค่าครองชีพของประชาชน เพราะราคาอาหารจะสูงขึ้นและภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานของครัวเรือนจะสูงขึ้น ซึ่งจะกดดันให้ปัญหาเงินเฟ้อรุนแรงขึ้นอีก จากเดิมที่อัตราเงินเฟ้อ 7 เดือนแรกของปีนี้สูงถึงร้อยละ 5.7 แล้ว
ผมเสนอว่ารัฐบาลไม่ควรลอยตัวค่าก๊าซแอลพีจีสำหรับภาคครัวเรือนในช่วงเวลานี้ เพราะประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากค่าครองชีพและราคาน้ำมันที่สูงขึ้นมากอยู่แล้วแต่หากรัฐบาลเลิกอุดหนุนก๊าซแอลพีจีอีก จะทำให้ค่าราคาก๊าซแอลพีจีเพิ่มขึ้นจาก 16.81 บาท เป็น 22.81 บาทต่อกิโลกรัม หรือเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 35 เลยทีเดียว
ข้ออ้างของรัฐบาลที่ว่า หากลอยตัวเฉพาะรถยนต์อาจเกิดการลักลอบนำแอลพีจีสำหรับหุงต้มไปใช้ในรถยนต์ซึ่งอาจเกิดอันตรายได้นั้น เป็นสิ่งที่สามารถป้องกันได้ หากรัฐบาลมีความจริงใจที่จะช่วยเหลือประชาชนจริง ๆ แล้ว รัฐบาลควรเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบร้านจำหน่ายก๊าซหุงต้มซึ่งเป็นกลไกที่รัฐมีอยู่แล้ว พร้อมทั้งกำหนดบทลงโทษที่รุนแรงเอาผิดกับผู้ฝ่าฝืน
แม้มาตรการขึ้นราคาแอลพีจีอาจจะก่อให้เกิดปัญหาการลักลอบถ่ายเทก๊าซหุงต้ม แต่ในความเป็นจริงปัญหาเช่นนี้เกิดขึ้นอยู่แล้วในปัจจุบัน ถึงกระนั้นรัฐบาลไม่ได้พยายามหาทางแก้ปัญหา แต่กลับใช้ปัญหานั้นเป็นข้ออ้างในที่ฟังดูเหมือนจะดี เพื่อซ้ำเติมประชาชนที่ไม่มีทางเลือก