การเล่นกลตัวเลขจีดีพี
เรียนมิตรสหายที่เคารพรัก
นับเป็นครั้งที่เท่าไรไม่อาจทราบได้ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้กล่าวถึงตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) โดยระบุว่า รัฐบาลทำให้เศรษฐกิจไทยปี 2544 ถึง 2548 โตขึ้นจาก 4.9 เป็น 7.1 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.2 ล้านล้านบาท หรือขยายตัวร้อยละ 44.89 ในช่วงเวลา 5 ปี ซึ่งเป็นการให้ข้อมูลเดิม ๆ
ผมได้เคยวิพากษ์การแถลงตัวเลขเศรษฐกิจของรัฐบาลไปแล้วหลายครั้ง และเมื่อรัฐบาลนำตัวเลขดังกล่าวมาเผยแพร่อีก ผมจึงขออธิบายอย่างละเอียดขึ้นในประเด็นนี้อีกครั้งหนึ่ง
ถามว่ารักษาการนายกฯ พูดตัวเลขจีดีพีไม่ถูกต้องอย่างไร เพราะจีดีพีของปี 2544 และปี 2548 ที่ได้กล่าวอ้างนั้น เป็นตัวเลขที่เผยแพร่อย่างเป็นทางการในฐานของมูลของหน่วยงานราชการ
คำอธิบายคือ การวัดขนาดของเศรษฐกิจของประเทศที่วัดจากจีดีพี หรือมูลค่าผลผลิตที่คนในประเทศผลิตได้ในแต่ละปี อย่างไรก็ตาม ตัวเลขจีดีพีที่นักเศรษฐศาสตร์ใช้กันนั้นมีอยู่ 2 แบบ คือ
แบบแรก คือ จีดีพี ณ ราคาปัจจุบัน (Nominal GDP) โดยคำนวณจากราคาสินค้าในปีปัจจุบัน ตัวเลขจีดีพีนี้จึงไม่สามารถนำไปเปรียบเทียบกับจีดีพีในปีอื่น ๆ ได้โดยตรง เพราะราคาสินค้าในแต่ละปีไม่เท่ากัน
แบบที่สอง คือ จีดีพี ณ ราคาปีฐาน (Real GDP) เป็นตัวเลขจีดีพีที่แท้จริง โดยนำตัวเลขจีดีพี ณ ราคาปัจจุบัน มาหักด้วยอัตราการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าของปีปัจจุบันเมื่อเทียบกับปีฐาน (GDP Deflator) โดยปัจจุบันสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติกำหนดให้ปี 2531 เป็นปีฐาน
ชื่อ ldquo;จีดีพีที่แท้จริงrdquo; เป็นสิ่งที่บอกได้อย่างดีว่า นี่คือตัวเลขจริง นักเศรษฐศาสตร์จึงเปรียบเทียบการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยใช้จีดีพี ณ ราคาปีฐาน เช่นตัวเลขที่มีการรายงานว่าเศรษฐกิจปีนี้โตร้อยละ 4 ร้อยละ 5 หรือร้อยละ 6 เป็นการวัดเปรียบเทียบด้วยจีดีพี ณ ราคาปีฐาน ไม่ใช่จีดีพี ณ ราคาปัจจุบัน
ดังนั้นการที่รัฐบาลวัดด้วยจีดีพี ณ ราคาปัจจุบัน จะทำให้ตัวเลขจีดีพีปี 2544-2548 เพิ่มขึ้นถึง 2,179,497 ล้านบาท จึงเป็นตัวเลขที่ไม่จริง เพราะหากวัดด้วยจีดีพี ณ ราคาปีฐาน เศรษฐกิจในช่วง 5 ปีดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นเพียง 834,341 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นการขยายตัวเพียงร้อยละ 27.7 เท่านั้น (ตารางที่ 1)
ผมขอแสดงตัวอย่างให้เข้าใจง่าย ๆ โดยสมมติว่า สมัยก่อนเรามีเงินเดือน 300 บาท และก๋วยเตี๋ยวราคาชามละ 3 บาท เราสามารถใช้เงินเดือนทั้งหมดซื้อก๋วยเตี๋ยวได้ 100 ชาม แต่ปัจจุบันเงินเดือนของเราเพิ่มขึ้นเป็น 3,000 บาท แต่ก๋วยเตี๋ยวราคาชามละ 20 บาท ทำให้เราใช้เงินเดือนทั้งหมดซื้อก๋วยเตี๋ยวได้ 150 ชาม แสดงว่าแม้เรามีเงินเดือนเพิ่มขึ้น 10 เท่า แต่เงินเดือนที่เพิ่มขึ้นใช้ซื้อสินค้าได้มากขึ้นเพียง 0.5 เท่าเท่านั้น
ตัวอย่างดังกล่าวเปรียบได้กับการอ้างตัวเลขการขยายตัวของเศรษฐกิจของรัฐบาล ซึ่งใช้ตัวเลขจีดีพี ณ ราคาปัจจุบัน เปรียบได้กับการอ้างเฉพาะเงินเดือนที่เพิ่มขึ้น แต่ไม่พูดว่าแล้วเงินที่เพิ่มขึ้นนี้ใช้ซื้อสินค้าได้เพิ่มขึ้นเท่าไร พฤติกรรมเช่นนี้เป็นการเล่นกลตัวเลข ทำให้ดูเหมือนว่าเศรษฐกิจขยายตัวมาก เพื่อทำให้คนส่วนใหญ่ที่ไม่เข้าใจเศรษฐศาสตร์ เกิดความเข้าใจผิด
ตารางที่ 1 จีดีพี ณ ราคาปัจจุบัน และจีดีพี ณ ราคาปีฐาน ปี 2543 ถึง 2548 (ล้านบาท)
ปี |
2543 |
2544 |
2545 |
2546 |
2547 |
2548 |
5 ปี |
NGDP |
4,922,731 |
5,133,502 |
5,450,643 |
5,928,975 |
6,503,488 |
7,102,228 |
2,179,497 |
GDP* |
3,008,401 |
3,073,601 |
3,237,042 |
3,464,701 |
3,678,511 |
3,842,742 |
834,341 |
* คิดจากราคาปีฐาน คือปี 2531
ที่มา : ธนาคารแห่งประเทศไทย