เหตุที่ควรจัดงบปี 50 แบบขาดดุล
เรียนมิตรสหายที่เคารพรัก
เมื่อไม่นานมานี้ คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ได้เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อวางกรอบงบประมาณปี 2550 ซึ่งแม้ในเวลานี้ยังไม่มีข้อสรุปว่างบประมาณปี 2550 จะเป็นอย่างไร แต่ทันทีที่ได้ข้อสรุป คปค.จะอนุมัติการเบิกจ่ายทันทีโดยไม่รอรัฐบาลใหม่ และคาดว่าจะสามารถดำเนินการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2550 ได้ในเดือนมกราคม 2550
ในกรณีนี้ ทางกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย ได้แสดงความเห็นไปในทางเดียวกันว่า ควรจัดงบประมาณในลักษณะขาดดุลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในปีหน้า ซึ่งผมเองเห็นด้วยเช่นเดียวกัน เพราะนโยบายการคลังแบบขาดดุลสอดคล้องกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในปัจจุบันและในปีหน้าที่มีแนวโน้มชะลอตัว เนื่องจากขาดแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ โดยเห็นได้จากสัญญาณต่าง ๆ เช่น
การชะลอตัวของการบริโภค เห็นได้จากรายได้ภาษีมูลค่าเพิ่มเดือนสิงหาคมขยายตัวเพียงร้อยละ 9.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ชะลอตัวลงจากเดือนกรกฎาคมที่ขยายตัวร้อยละ 13.9 และชะลอตัวต่อเนื่องนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นมา ส่วนมูลค่าการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐในเดือนสิงหาคมขยายตัวร้อยละ 14.7 ชะลอตัวลงจากร้อยละ 23.1 ในเดือนกรกฎาคม เพราะอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นจูงใจให้ประชาชนออมเงิน และราคาน้ำมันที่สูงทำให้ค่าครองชีพของประชาชนสูงขึ้น แนวโน้มการบริโภคภาคเอกชนในปีหน้าจะยังคงชะลอตัว เพราะอัตราดอกเบี้ยและราคาน้ำมันที่ยังคงทรงสูงอยู่ในระดับสูง
การหดตัวของการลงทุนภาคเอกชน โดยเฉพาะในหมวดการก่อสร้าง ซึ่งทำให้ภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์เดือนสิงหาคมลดลงร้อยละ 11.5 เมื่อเทียบกับเดือนกรกฎาคม ในขณะที่มูลค่าการนำเข้าสินค้าทุนหดตัวลงร้อยละ 0.1 เมื่อเทียบกับเดือนกรกฎาคม ซึ่งเป็นการปรับตัวลดลงต่อเนื่องตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นมา สาเหตุยังคงมาจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงทำให้ผลตอบแทนการลงทุนไม่จูงใจ และปัญหาทางการเมือง ทำให้ต่างประเทศไม่กล้าเข้ามาลงทุน ถึงแม้ว่าสถานการณ์จะดีขึ้นแต่ยังคงขาดความชัดเจนในเรื่องนโยบาย
การจัดงบประมาณแบบขาดดุลเพื่อให้ภาครัฐมีงบประมาณเพื่อใช้จ่ายมากขึ้น จึงน่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของไทยให้ขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง แต่สิ่งที่ต้องพิจารณาต่อไป คือ การตั้งงบประมาณขาดดุลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจจะส่งผลกระทบด้านลบต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและฐานะการคลังของประเทศหรือไม่?
การจัดทำงบประมาณขาดดุลจะไม่กระทบเสถียรภาพของระดับราคาสินค้า เพราะอัตราเงินเฟ้อในช่วงที่ผ่านมาทรงตัวในระดับที่ไม่สูงมาก และมีแนวโน้มขยายตัวลดลง โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนสิงหาคมชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องมาอยู่ที่ร้อยละ 3.8 จากร้อยละ 4.4 ในเดือนกรกฎาคม สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ซึ่งไม่รวมราคาอาหารสดและพลังงาน ขยายตัวร้อยละ 1.9 ในเดือนสิงหาคม ชะลอตัวเล็กน้อยจากร้อยละ 2.0 ในเดือนกรกฎาคม สาเหตุที่เงินเฟ้อปรับตัวลดลง เนื่องจากราคาน้ำมันมีแนวโน้มลดลง นอกจากนี้แนวโน้มเงินเฟ้อในปีหน้าน่าจะอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากราคาน้ำมันเริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้น
ส่วนการขาดดุลไม่กระทบเสถียรภาพทางการคลัง เพราะสัดส่วนหนี้สาธารณะในปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 41.64 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี) ซึ่งยังคงต่ำกว่าเพดานหนี้สาธารณะที่กำหนดให้ไม่เกินร้อยละ 50 ของจีดีพี แสดงว่าเรายังสามารถเป็นหนี้เพิ่มขึ้นจากการจัดงบประมาณขาดดุลได้
การจัดงบประมาณขาดดุลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในเวลานี้เป็นสิ่งที่จำเป็น แต่วงเงินงบประมาณจะเป็นเท่าไรนั้น ต้องคำนึงถึงเป้าหมายต่าง ๆ อย่างสมดุล ระหว่างการทำให้เศรษฐกิจยังเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง โดยไม่กระทบต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจ