รักษาเมล็ดพันธุ์แห่งการเรียนรู้ในตัวเด็ก
19-26 เมษายน 2550 |
ในช่วงวันที่ 8-16 พฤษภาคม 2550 เป็นช่วงการเปิดภาคเรียน ของโรงเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน นักเรียนหลายคนคงได้เตรียมตัวสำหรับการเรียนรู้ในห้องเรียน เช่นเดียวกับพ่อแม่ผู้ปกครองคงเตรียมพร้อมในเรื่องค่าเสื้อผ้า ค่าเทอม และค่าเดินทาง สิ่งสำคัญที่พ่อแม่ผู้ปกครองควรให้ความสำคัญ นอกเหนือจากการตระเตรียมในเรื่องค่าใช้จ่ายคือ การเตรียม ldquo;เวลาrdquo; ให้แก่ลูก เพื่อพัฒนาการเรียนรู้ของพวกเขาไปพร้อมกับการได้รับการศึกษาจากโรงเรียน เนื่องจากมีพ่อแม่ผู้ปกครองจำนวนมาก หลังจากที่ได้นำลูกเข้าสู่ระบบของโรงเรียนแล้ว ได้ฝากทุกอย่างไว้ที่ระบบการศึกษา ปล่อยให้ครูทำหน้าที่ในการอบรมสั่งสอนเด็กผ่านการเรียนในห้องเรียน เพื่อมุ่งให้เด็กเรียนให้เก่งที่สุด เพราะเข้าใจว่าจะช่วยเพิ่มโอกาสในการศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น โดยที่ละเลยการสนับสนุนการเรียนรู้ในด้านอื่น ๆ ของเด็ก ผลจากการที่พ่อแม่ผู้ปกครองมุ่งให้เด็กเรียนเก่งเฉพาะในโรงเรียน โดยขาดการสนับสนุนให้เด็กได้เรียนรู้สิ่งที่อยู่นอกเหนือจากหนังสือเรียนคือ เด็กจะขาดความฉลาดเฉลียว ขาดทักษะการคิด ขาดความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ซึ่งล้วนแต่สำคัญต่อการศึกษาในระดับที่สูงขึ้น และมีผลต่อการสร้างความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ผมไม่ได้กล่าวหาว่าระบบการให้การศึกษาภายในโรงเรียนเป็นสิ่งที่เลวร้าย เพียงแต่เห็นว่าจากการเรียนการสอนในโรงเรียนสามารถพัฒนาเด็กได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น เนื่องจากความจำกัดในเรื่องงบประมาณ ความจำกัดของจำนวนครู ซึ่งทำให้ไม่สามารถดูแลเด็กได้อย่างทั่วถึง ดังนั้น จึงต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้ปกครอง ที่ควรให้เวลาแก่เด็ก เพื่อสนับสนุนพวกเขาในการเรียนรู้สิ่งอื่น ๆ นอกเหนือจากการเรียนในห้องเรียน นักจิตวิทยาและนักการศึกษาในต่างประเทศ ต่างมีความเห็นตรงกันว่าเด็กควรได้รับการส่งเสริมการเรียนรู้ ไม่ใช่การถูกบังคับให้เรียน หรือท่องจำหนังสือเท่านั้น เช่น คาร์ล โรเจอร์ (Carl Rogers) นักจิตวิทยาการเรียนรู้ ได้กล่าวไว้อย่างน่าสนใจในหนังสือเรื่อง Freedom to learn ว่า มนุษย์เราถูกสร้างมาเพื่อเรียนรู้ ทุก ๆ คนมีศักยภาพในการเรียนรู้ได้ และสิ่งสำคัญสำหรับการศึกษาคือ การเรียนรู้hellip; การถูกบังคับให้เรียนเท่ากับเป็นการนำความเจ็บปวดมาให้กับผู้เรียนมากกว่า ทั้งนี้ วิธีการที่ถูกต้องคือการส่งเสริมให้เขาได้ใช้ความสามารถในการเรียนรู้ที่มีอยู่ในตัวให้มากที่สุด ฟริดริค เฟอร์เบล (Friedrich Froebel) เป็นนักปรัชญาการศึกษา ชาวเยอรมัน และเป็นผู้ที่ริเริ่มโรงเรียนอนุบาลเป็นคนแรกของโลก ทฤษฎีทางการศึกษาของเขา มุ่งที่จะส่งเสริมอำนาจที่มีอยู่ในตัวเด็กตามธรรมชาติ ไม่ใช่การบังคับจากภายนอก หากบังคับให้เด็กเรียนหนังสือ เด็กอาจจะเรียนได้ แต่จะไม่เกิดความเจริญทางสติปัญญา เช่นเดียวกับการฝึกให้เด็กท่องจำอย่างเดียว ย่อมไม่เกิดประโยชน์สูงสุด เพราะเด็กไม่ถูกสอนให้รู้จักคิดพิจารณา ซึ่งไม่ต่างอะไรกับคนโง่ เฟอร์เบลจึงเห็นว่าควรปล่อยให้เด็กได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ก่อให้เกิดเรียนรู้ตามความเหมาะสมในแต่ละวัย เช่น กิจกรรมการเล่น กิจกรรมกลุ่ม เป็นต้น รากฐานการศึกษาในต่างประเทศต่างมาจากนักคิดทั้ง 2 ท่านนี้ จึงสังเกตได้ว่า เด็กนักเรียนในต่างประเทศมักจะเป็นนักคิดตั้งแต่เด็ก เนื่องจากมีเสรีภาพในการเรียนรู้ มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เด็กเหล่านี้จึงเป็นผู้ที่มีความคิดสร้างสรรค์ รู้จักวิธีการค้นคว้าหาความรู้ และไม่กลัวที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ซึ่งต่างจากเด็กนักเรียนไทย ที่ยังยึดติดกับระบบการศึกษาภายในโรงเรียน ยังยึดติดอยู่กับการท่องหนังสือเพื่อสอบให้ได้คะแนนดี ๆ ไม่สนใจกับการเรียนรู้นอกห้องเรียน เด็กไทยจำนวนมากจึงเป็นเด็กที่ขาดทักษะการคิด ไม่รู้จักวิธีการแสวงหาความรู้ ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการที่พ่อแม่ผู้ปกครอง ที่ไม่มีเวลามากพอที่จะพาเด็กไปเรียนรู้นอกห้องเรียน ผมจึงเสนอว่า พ่อแม่ผู้ปกครองควรสนับสนุนการเรียนรู้ของเด็ก ไม่ควรทอดทิ้งเด็กให้อยู่ในระบบการศึกษาอย่างโดดเดี่ยวและรับรู้เพียงผลการเรียนที่พวกเขาได้รับจากการสอบในแต่ละภาคเรียน แม้ว่าพ่อแม่ผู้ปกครองจะยุ่งกับการทำงานมากเพียงใดก็ตาม ควรสละเวลาสัก 1-2 ชั่วโมง เพื่อพัฒนาการเรียนรู้ของเด็ก โดยใช้วิธีการง่าย ๆ ดังนี้ ดึงเด็กให้หันมาสนใจสิ่งรอบตัว พ่อแม่ผู้ปกครองควรฝึกให้เด็กตั้งคำถามกับสิ่งที่อยู่รอบตัว สอนให้เขาสังเกตเห็นว่ามีสิ่งใหม่ ๆ เกิดขึ้นมากมายในแต่ละวัน เพื่อให้เขาเข้าใจว่านอกจากการเรียนรู้ในห้องเรียนแล้ว โลกภายนอกยังมีสิ่งใหม่เพื่อให้พวกเขาได้เรียนรู้ตลอดเวลา สอนเด็กให้รู้สิ่งต่าง ๆ อย่างลึกซึ้ง หลังจากการเรียนในแต่ละวันควรถามเด็กว่า ได้เรียนรู้อะไรบ้างจากห้องเรียน มีอะไรที่ยังไม่เข้าใจบ้าง และให้ย้ำว่าอย่าหยุดความสงสัยไว้เพียงเท่านั้น แต่ต้องไปหาความรู้เพิ่มเติม ซึ่งจะทำให้พวกเขาแตกต่างจากเพื่อนคนอื่น ๆ ในห้องเรียน และผลพลอยได้จากการที่สอนให้เด็กรู้จักหาความรู้เพิ่มเติมจากสิ่งที่เรียนมาคือ ทำให้พวกเขากลายเป็นคนที่ไม่ทำในสิ่งที่สบายหรือทำสิ่งง่าย ๆ แต่ยินดีเลือกที่จะยากลำบากเพื่อทำให้ไปถึงเป้าหมาย สอนเด็กให้รู้ว่า ผลการเรียนไม่ใช่เป้าหมายหลักในการเรียนรู้ พ่อแม่ผู้ปกครองไม่ควรให้ความสำคัญกับผลการเรียนของเด็ก จนนำมาตัดสินการเรียนรู้ของเด็ก ในทางตรงข้าม ควรสอนให้เด็กรู้ว่าแม้ผลการเรียนจะมีความสำคัญมากเพียงใดก็ตาม แต่ไม่ใช่เป้าหมายหลักในการศึกษาเล่าเรียน และผลการเรียนไม่ใช่สิ่งที่จะนำมาวัดคุณค่าในตัวเขา แต่คุณค่าของเขาอยู่ที่การเป็นนักเรียนรู้ตลอดชีวิตต่างหาก สอนเด็กให้ไม่ยึดติดกับความคิดของตนเอง พ่อแม่ผู้ปกครองควรให้เด็กได้รับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างจากความคิดของพวกเขา เพื่อให้เด็กไม่ยึดติดกับความคิดของตนเองที่มีต่อเรื่องต่าง ๆ แต่ชอบที่จะเรียนรู้ความคิดเห็นในมุมตรงกันข้าม และพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนความคิดหากพบว่าความคิดของคนอื่นเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ซึ่งผลพลอยได้จากสิ่งที่ฝึกให้เด็กรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างคือ ทำให้เด็กเข้าใจคนอื่นมากขึ้น และ ทำให้เด็กไม่หยุดอยู่กับสิ่งที่ตนเองมองว่าดีแล้ว แต่พยายามค้นหาว่าสิ่งที่ดีที่สุดคืออะไร พ่อแม่ผู้ปกครองทุกคนควรตระหนักว่า เด็กทุกคนที่เกิดมาได้รับสิ่งหนึ่งเหมือนกันคือ เมล็ดพันธุ์แห่งความสามารถในการเรียนรู้ มนุษย์เราได้รับการออกแบบมาให้เรียนรู้ ลองสังเกตพฤติกรรมของทารก ที่เสมือนว่ากำลังปฏิบัติหน้าที่สำคัญคือ เรียนรู้จักโลกนี้ให้มากที่สุด โดยเด็กทารกจะสนใจสิ่งต่าง ๆ รอบ ตัว เขาจะจ้องมองสิ่งที่เคลื่อนไหว พยายามหยิบจับฉวยคว้า ทั้งสัมผัส ทั้งชิม ทั้งฉีกดึง เพื่อค้นหาว่าสิ่งนั้นมันคืออะไร สิ่งที่เด็กทารกทำนั้นเรียกว่า ldquo;การเรียนรู้rdquo; และเมื่อเขาเติบโตขึ้น การเรียนรู้ของเขาจะเพิ่มพูนขึ้นผ่านการเล่นของเล่น เกม กีฬา การท่องเที่ยว โดยเฉพาะการเห็นสิ่งแปลก ๆ ใหม่ ๆ ที่สามารถดึงดูดความสนใจ แต่น่าเสียดายว่าการเรียนรู้เหล่านี้ไม่ได้รับการส่งเสริมจากพ่อแม่ผู้ปกครองมากนัก หลังจากที่เด็กได้เข้าสู่ระบบการศึกษา การเรียนรู้อย่างต่อเนื่องของเด็กเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะการเรียนรู้จะนำเด็กไปสู่การมีทักษะการคิด การมีสติปัญญา และความเฉลียวฉลาด แม้ว่าเด็กจะเข้าสู่ระบบการศึกษาในโรงเรียนแล้ว พ่อแม่ผู้ปกครองยังต้องสนับสนุนให้เด็กได้เรียนรู้อย่างต่อเนื่อง เมล็ดพันธุ์การเรียนรู้ที่มีอยู่ในตัวเด็กทุกคน ควรได้รับการพัฒนาให้เจริญงอกงามมากยิ่งขึ้นในทางบวก มิให้เลือนหายไปตามกาลเวลาเมื่อเติบโตขึ้น |
ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ |