นิรโทษกรรมทางการเงิน....ระวัง !!! จะปล่อยเสือเข้าป่า
5 มิถุนายน 2550 |
เรียนมิตรสหายที่เคารพรัก ข้อเสนอประการหนึ่งในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ คือการลบชื่อลูกหนี้ที่มีหนี้เสียไม่เกิน 20,000 บาท ออกจากบัญชีดำของเครดิตบูโร เพื่อให้ลูกหนี้ที่ได้รับการนิรโทษกรรมเหล่านี้สามารถกู้เงินจากสถาบันการเงินได้ จากเดิมที่ไม่สามารถทำได้เพราะติดบัญชีดำ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจ แนวคิดนี้แม้เป็นความตั้งใจที่ดีในการประคับประคองเศรษฐกิจให้เดินหน้าไปได้ และช่วยลูกหนี้รายย่อยให้มีโอกาสได้รับสินเชื่อในระบบ แต่รัฐบาลควรประเมินอย่างรอบคอบในการนำแนวคิดนี้มาใช้ เนื่องจาก เป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อระบบสถาบันการเงิน เพราะลูกหนี้ที่จะได้รับการนิโทษกรรมอาจมีทั้งลูกหนี้ที่ไม่ดี คือ ลูกหนี้ที่ขาดวินัยทางการเงิน หรือตั้งใจไม่ชำระหนี้ และลูกหนี้ที่ดี คือ อาจจะเป็นลูกหนี้ที่ลืมจ่ายหนี้ หรือเป็นลูกหนี้ที่มีศักยภาพในการชำระหนี้ถ้าได้รับเงินกู้เพิ่ม การลบรายชื่อลูกหนี้ในกลุ่มนี้ทั้งหมดออกจากบัญชีดำ โดยไม่มีมาตรคัดกรองลูกหนี้ นับว่าเป็นอันตรายต่อเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงิน เพราะลูกหนี้ไม่ดีจะทำให้การปล่อยกู้ของสถาบันการเงินมีความเสี่ยงมากขึ้น และจะทำให้สถาบันการเงินมีภาระต้นทุนในการพิจารณาสินเชื่อมากขึ้น ขาดประสิทธิผลในการกระตุ้นเศรษฐกิจ สมมติฐานของแนวคิดนี้ คือ เมื่อลูกหนี้ถูกปลดออกจากบัญชีหนี้เสียแล้ว ลูกหนี้เหล่านี้จะเป็นตัวแปรที่จะเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจ โดยสถาบันการเงินจะยอมปล่อยเงินกู้ให้กับลูกหนี้ที่หลุดออกจากบัญชีดำ และลูกหนี้ดังกล่าวจะสามารถทำนิติกรรมทางการเงิน เช่น ซื้อรถ ซื้อบ้าน ลงทุน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติอาจไม่เป็นตามสมติฐาน เพราะแม้ลูกหนี้จะไม่มีชื่ออยู่ในบัญชีดำแล้ว แต่ข้อมูลประวัติการทำธุรกรรมทางการเงินยังคงอยู่ และหนี้เดิมยังคงค้างอยู่ เมื่อไปขอสินเชื่อ สถาบันการเงินจึงยังสามารถตรวจสอบข้อมูลจากเครดิตบูโรได้ ซึ่งเป็นไปได้ยากที่สถาบันการเงินจะยอมปล่อยสินเชื่อ หากพบข้อมูลว่าเคยมีประวัติผิดนัดชำระหนี้จนกลายเป็นหนี้เสีย นอกจากนี้ ลูกหนี้ที่มียอดหนี้ต่ำกว่า 20,000 บาท แต่กลับไม่สามารถชำระได้ ไม่น่าจะเป็นกลุ่มคนที่มีกำลังซื้อบ้านและรถยนต์ ผมเชื่อว่า ลูกหนี้ที่ดีแต่ผิดนัดชำระหนี้ด้วยเหตุของการลืมชำระหนี้ ย่อมสามารถและพยายามปลดตัวเองออกจากบัญชีดำอยู่แล้ว โดยไม่ต้องรอมาตรการของรัฐบาล เพื่อให้ตัวเองสามารถรักษาเครดิตที่ดีเอาไว้ได้ และทำให้สามารถทำธุรกรรมทางการเงินต่อไปได้ ส่วนลูกหนี้ที่มีศักยภาพ ในการคืนหนี้หากได้รับเงินกู้เพิ่มเติมคงจะมีจำนวนไม่มากนัก เพราะรัฐบาลที่ผ่านมามีโครงการปรับโครงสร้างหนี้ไปแล้วหลายครั้ง ยิ่งไปกว่านั้น หากเขาเป็นลูกหนี้ที่ดี ย่อมพยายามติดต่อสถาบันการเงินเพื่อเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ด้วยตนเองอยู่แล้ว ผมเสนอว่า การใช้แนวทางดังกล่าวนี้ไม่ควรจะเป็นการล้างบัญชีลูกหนี้เสียแบบปูพรม แต่น่าจะเป็นการขอความร่วมมือไปทางสถาบันการเงิน เพื่อพิจารณาสินเชื่อให้แก่ลูกหนี้บัญชีดำเป็นราย ๆ ไป โดยพิจารณาจากประวัติการชำระหนี้ รวมทั้งพิจารณากระแสรายได้ และศักยภาพในการชำระหนี้ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นแนวทางที่ปลอดภัยกว่า การปล่อยเสือทั้งฝูงเข้าป่าไป |
เผยแพร่:
0
เมื่อ:
2007-06-05