ยุทธศาสตร์จังหวัดสระแก้วกับการขับเคลื่อน EEC
สระแก้วเป็นจังหวัดในกลุ่มตะวันออก 2 ที่มีการค้าชายแดนมากที่สุด เนื่องจากเป็นประตูการค้าไปสู่กัมพูชา ลาว และเวียดนาม อีกทั้งมีแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ที่ได้รับอิทธิพลจากอารยธรรมขอม กลายเป็นส่วนหนึ่งในเส้นทางการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ที่เชื่อมโยงไปสู่นครวัด อันเป็นเป้าหมายปลายทางของการท่องเที่ยวระดับโลก ขณะที่ยังอยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นเมืองเป้าหมายของนักท่องเที่ยวทั่วโลกด้วยเช่นกัน
แม้สระแก้วจะมีศักยภาพในการพัฒนา แต่มีปัญหาหลายประการที่จะต้องแก้ไข เช่น ปัญหาการขาดแคลนน้ำจนก่อให้เกิดสถานการณ์ภัยแล้ง ปัญหาสิ่งแวดล้อมจากขยะและมลพิษทางน้ำ ปัญหาข้อพิพาทที่ดินบริเวณแนวชายแดน และปัญหายาเสพติด เป็นต้น
การพัฒนาจังหวัดสระแก้วอย่างเต็มศักยภาพ เพื่อให้เป็นจังหวัดที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจในระดับสูง และมีส่วนช่วยสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ จำเป็นต้องมียุทธศาสตร์ที่เหมาะสม โดยผมได้นำเสนอยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดสระแก้วไว้หลายด้าน ในการบรรยายในหลักสูตรนักบริหารระดับสูงเพื่อการสร้างชาติภาคตะวันออก EEC (นสช. EEC) ของสถาบันการสร้างชาติ ดังนี้
1. ขยาย EEC เป็น “EEC Plus” โดยสระแก้วเป็นส่วนหนึ่งของ EEC Plus
เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เป็นยุทธศาสตร์เรือธงในการพัฒนาเศรษฐกิจของไทย โดยงบลงทุนของภาครัฐกว่าร้อยละ 80 ถูกนำไปลงทุนในเขตพื้นที่ EEC แต่สถานการณ์เศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน การขยายตัวทางเศรษฐกิจยังไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ด้วยเหตุนี้ผมจึงเสนอว่า ประเทศไทยควรยกระดับ EEC ให้เกิดผลลัพธ์ที่กว้างขวางขึ้น ซึ่งอาจทำได้หลายแนวทาง
แนวทางหนึ่งที่ผมและสถาบันการสร้างชาติได้นำเสนอ คือ การขยาย EEC เป็น EEC Plus โดยให้ EEC 3 จังหวัด (ระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา) เป็นพื้นที่ไข่แดง และอีก 5 จังหวัดในภาคตะวันออกเป็นไข่ขาว (ปราจีนบุรี จันทบุรี ตราด สระแก้ว นครนายก) ซึ่งจะช่วยให้รัฐบาลและนักลงทุนเห็นความสำคัญของจังหวัดรอบข้าง รวมถึงจังหวัดสระแก้วมากขึ้น
EEC Plus จะช่วยกระตุ้นให้ภาครัฐจัดสรรงบประมาณลงไปในพื้นที่สระแก้วมากขึ้น และมีการวางแผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานหรือการลงทุนอื่น ๆ เพื่อสร้างความเชื่อมโยง EEC กับจังหวัดสระแก้วมากขึ้น ด้วยยุทธศาสตร์นี้ การพัฒนาจะเกิดการกระจายออกจาก EEC 3 จังหวัดไปยังจังหวัดรอบข้าง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจไทยในภาพรวมด้วย
2. พัฒนาสระแก้ว เป็น ศูนย์กลางการค้าและโลจิสติกส์ของภูมิภาค
จังหวัดสระแก้วมีศักยภาพเป็นศูนย์กลางการค้าและโลจิสติกส์ของภูมิภาคอินโดจีน เพราะสระแก้วมีมูลค่าการค้าชายแดนมากที่สุดในภาคตะวันออก โดยเป็นที่ตั้งของตลาดโรงเกลือ ซึ่งเป็นตลาดค้าสินค้ามือสองและสินค้าส่งออก-นำเข้าขนาดใหญ่ระหว่างไทยกับกัมพูชา สระแก้วยังมีเส้นทางรถไฟจากฉะเชิงเทราไปถึงชายแดนกัมพูชา รวมทั้งมีโครงการพัฒนารถไฟทางคู่จากชุมทางคลองสิบเก้า จังหวัดฉะเชิงเทรา ไปยัง อรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว บนเส้นทางรถไฟเดิม รวมถึงโครงการมอเตอร์เวย์สาย M71 ช่วงกรุงเทพฯ – สระแก้ว
ปัจจุบัน สระแก้วนอกจากจะเป็นช่องทางการค้าชายแดนแล้ว ยังเป็นช่องทางการเดินทางไปท่องเที่ยวยังประเทศกัมพูชา โดยมีจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวที่สำคัญ คือ นครวัด และ คาสิโนในเมืองปอยเปต ถึงกระนั้น สระแก้วดูเหมือนเป็นเพียงทางผ่านของนักท่องเที่ยวเท่านั้น แต่ไม่ค่อยได้ประโยชน์ด้านการท่องเที่ยวภายในจังหวัดมากนัก รวมทั้งยังมีข้อจำกัดในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวภายในจังหวัด และข้อจำกัดในการเดินทางไปยังแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญในจังหวัด โดยเฉพาะระบบขนส่งมวลชนที่ยังไปไม่ทั่วถึงแหล่งท่องเที่ยว
ด้วยศักยภาพและโอกาสที่มีอยู่ในจังหวัดสระแก้ว ภาครัฐจึงควรใช้โอกาสนี้ในการพัฒนาสระแก้วให้เป็น “ศูนย์กลางการค้าและโลจิสติกส์ของภูมิภาค” เพื่อสนับสนุนการค้า การขนส่ง และการท่องเที่ยว โดยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการค้า การขนส่ง โลจิสติกส์ และการท่องเที่ยว เชื่อมระหว่าง EEC ไปยังจังหวัดอื่น ๆ เช่น การพัฒนาเส้นทางรถไฟเพื่อการท่องเที่ยว การพัฒนาตลาดค้าส่ง-ปลีกระดับภูมิภาคที่สะอาดและทันสมัย การยกมาตรฐานบริการและสิ่งอำนวยความสะดวกบริเวณจุดผ่านแดนเพื่อให้กระบวนการผ่านแดนรวดเร็วยิ่งขึ้น รวมทั้งการเชื่อมโยงเส้นทางการท่องเที่ยวและพัฒนาโปรแกรมการท่องเที่ยวจาก EEC ไปยังจังหวัดอื่น ๆ เช่น เส้นทางการท่องเที่ยว อารยธรรมขอม เป็นต้น
3. สร้าง ฉลักษณ์ ประจำแต่ละท้องถิ่น
ฉลักษณ์ คือ สายธารที่สะท้อนตัวตนจากภายในสู่ภายนอก ซึ่งครอบคลุมลักษณะ 6 ด้าน รวมถึงเอกลักษณ์ และอัตลักษณ์ของแต่ละบุคคลและแต่ละท้องถิ่นด้วย ฉลักษณ์ที่ชัดเจนจะเป็นส่วนสำคัญต่อการการพัฒนาสระแก้วให้ไม่เหมือนที่อื่น ช่วยเพิ่มความน่าสนใจ และความเป็นที่รู้จักแก่นักท่องเที่ยว โดยที่ผ่านมานักท่องเที่ยวในสระแก้วส่วนใหญ่เป็นคนไทยมากกว่าต่างชาติ และมักจะเป็นคนไทยเฉพาะกลุ่มที่สนใจศิลปวัฒนธรรมขอมเสียเป็นส่วนใหญ่ ส่งผลทำให้รายได้จากการท่องเที่ยวค่อนข้างน้อย
ดังนั้นสระแก้วจึงควรสร้างเอกลักษณ์ อัตลักษณ์ประจำแต่ละท้องถิ่น เพื่อสร้างความแตกต่างด้านการพัฒนา เช่น การใช้สิ่งที่โดดเด่นในท้องถิ่นเป็นจุดขาย ทั้งอาหาร ผลไม้ ต้นไม้ ดอกไม้ สัตว์ ระบบนิเวศน์ ศิลปะ วัฒนธรรม สถาปัตยกรรม วิถีชีวิต ภูมิปัญญา ประเพณี เทศกาล แลนมาร์ค หรือสร้างเรื่องราวของการท่องเที่ยว (Content) โดยนำเรื่องราวมาเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวให้น่าสนใจมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ สังคม วัฒนธรรม โดยเฉพาะประวัติศาสตร์การตั้งรกรากและเหตุการณ์สำคัญ ๆ เช่น ประวัติศาสตร์อาณาจักรขอมในจังหวัดสระแก้ว ความเชื่อ ตำนาน เรื่องเล่า นิทานพื้นบ้าน บทประพันธ์ รวมทั้งการสร้างกิจกรรมการท่องเที่ยวที่หลากหลายขึ้น เช่น การเดินป่า ปีนเขา ส่องสัตว์ ล่องแพ ขี่ช้าง การแข่งขันกีฬา วิ่งมาราธอน ขี่จักรยาน ไตรกีฬา สิ่งสำคัญคือการพัฒนาประสบการณ์การท่องเที่ยวที่แปลกใหม่โดยบูรณาการกิจกรรมอื่นกับการท่องเที่ยว เช่น ท่องเที่ยวเชิงเกษตร ท่องเที่ยวเชิงอาชีพที่เฉพาะเจาะจง เช่น หาของป่า ทำอาหาร เป็นต้น
นอกจากนี้ทุกภาคส่วนจำเป็นต้องเอาจริงเอาจังในการสื่อสารการตลาด ประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยว โดยการสื่อสารทั้งทางออนไลน์ ออฟไลน์ และใช้อินฟลูเอนเซอร์ (influencer) มาช่วยในการประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยว ตลอดจนจูงใจให้คนแบ่งบันประสบการณ์ท่องเที่ยวในโลกออนไลน์ (reviews) โดยสื่อสารเจาะจงไปยังนักเดินทางกลุ่มเป้าหมาย
4. ส่งเสริมให้ชุมชนท้องถิ่นมีส่วนร่วมจัดการท่องเที่ยว
จังหวัดสระแก้วมีสัดส่วนคนยากจนค่อนข้างสูงถึงร้อยละ 19 เนื่องจากสระแก้วยังพึ่งพาภาคการเกษตรค่อนข้างสูง ขณะที่แหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงยังกระจุกตัวในบางพื้นที่ ทำให้รายได้จากการท่องเที่ยวไม่กระจายไปยังพื้นที่อื่นในจังหวัด ดังนั้นแนวทางหนึ่งในการยกระดับรายได้ของคนสระแก้ว คือ การกระจายผลประโยชน์จากการท่องเที่ยว โดยส่งเสริมให้ชุมชนมีส่วนร่วมจัดการท่องเที่ยวและการพัฒนาพื้นที่เพื่อการท่องเที่ยว
ทั้งนี้ ภาครัฐอาจเริ่มจากการส่งเสริมให้ชุมชนร่วมมือกันจัดการท่องเที่ยว โดยการค้นหา niche ของชุมชนต่าง ๆ ที่ไม่ซ้ำกัน การพัฒนาความรู้และฝึกอบรมคนในชุมชนด้านการจัดการและให้บริการการท่องเที่ยว ระบบจัดการการท่องเที่ยว การจัดเก็บและจัดสรรรายได้จากการท่องเที่ยว และการทำตลาดของการท่องเที่ยวชุมชน รวมทั้งการส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบโฮมเสตย์ เช่น การพัฒนากิจกรรมการท่องเที่ยว ที่สัมผัสกับความเป็นท้องถิ่นเฉพาะของแต่ละชุมชน นักท่องเที่ยวสามารถเรียนรู้วิถีชีวิต การประกอบอาชีพ และประวัติศาสตร์พื้นถิ่น และใช้วัตถุดิบหรือสินค้าในท้องถิ่นให้บริการแก่นักท่องเที่ยว เป็นต้น
5. สร้างความร่วมมือ 3 ภาคกิจในการอนุรักษ์ทรัพยากรการท่องเที่ยว
ความเสื่อมโทรมของแหล่งท่องเที่ยวเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก หากไม่มีการจัดการที่ดี ดังนั้นมาตรการในการกำหนดจำนวนนักท่องเที่ยว และป้องกันไม่ให้ประชาชนบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อประกอบอาชีพเป็นสิ่งจำเป็น ซึ่งควรมีการวางแผนเตรียมการตั้งแต่ต้น
ด้วยเหตุนี้ ภาครัฐจำเป็นต้องกำหนดขีดความสามารถรองรับนักท่องเที่ยว (Tourism Carrying Capacity) เช่น การกำหนดฤดูกาลการท่องเที่ยว การจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวในพื้นที่อ่อนไหว และการส่งเสริมกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ โดยสร้างกิจกรรมให้นักท่องเที่ยวทำกิจกรรมฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยว
แนวทางดังกล่าวจะเกิดขึ้นไม่ได้ หากปราศจากความร่วมมือ 3 ภาคกิจในการร่วมกันสอดส่อง ฟื้นฟูและพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว ประชาชนต้องเป็นหูเป็นตาไม่ให้ผู้ประกอบการบุกรุกป่า และทิ้งขยะหรือน้ำเสียลงแหล่งน้ำสาธารณะ ภาคธุรกิจต้องมีบทบาทในการช่วยประชาชนให้มีช่องทางประกอบอาชีพโดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย
ผมมีความคิดว่าจังหวัดสระแก้วไม่ใช่เพียงเมืองทางผ่าน แต่เป็นจังหวัดที่มีเอกลักษณ์ มีการค้าชายแดน ตลาดโรงเกลือ วัฒนธรรมขอม และมีที่ตั้งอยู่ใน EEC Plus ใกล้กรุงเทพฯ มีรถไฟผ่าน หากมีการดำเนินนโยบายอย่างมียุทธศาสตร์ย่อมมีโอกาสประสบความสำเร็จ ผมและสถาบันการสร้างชาติซึ่งประกอบไปด้วยบุคลากรในทุกภาคกิจ จึงปรารถนาที่จะร่วมมือทุกฝ่ายในจังหวัดสระแก้วในการพัฒนาพื้นที่ไปด้วยกันครับ
แหล่งที่มา : Mix Magazine
ต.ค. 2023
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันการสร้างชาติ (NBI)
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.com, www.drdancando.com
www.facebook.com/drdancando