สร้างองค์กรภาคประชาชนให้ยั่งยืน

“หนึ่งในการพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าคือสร้างความเข้มแข็งของภาคประชาชน ที่อาจต้องอาศัยกระบวนทัศน์และวิธีคิดแบบใหม่ การมีวิสัยทัศน์ในการกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศของผู้บริหารที่ควรมุ่งไปสู่การก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมให้ได้”


เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ผู้เขียนในฐานะประธานปัญญาสมาพันธ์ ได้แถลงผลการสำรวจดัชนีประสิทธิผลภาคประชาชน (People Sector Effectiveness Index – PPE Index) ซึ่งเป็นการแถลงผลครั้งที่ 3 โดยการแถลงผล 2 ครั้งที่ผ่านมา เป็นการรายงานผลดัชนีประสิทธิผลภาครัฐ (Public Sector Effectiveness Index – PBE Index) และดัชนีประสิทธิผลภาคเอกชน (Private Sector Effectiveness Index – PVE Index)

people patternผลการสำรวจดัชนีประสิทธิผลภาคประชาชนของประเทศไทย สามารถสะท้อนการรับรู้และมุมมองของประชาชนต่อการทำงานขององค์กรภาคประชาชน ซึ่งยังไม่ค่อยมีการสำรวจมากนัก ในบทความนี้ ผมจะขอหยิบบางประเด็นที่น่าสนใจจากผลการสำรวจดังกล่าว โดยจะวิเคราะห์เกี่ยวกับความเข้มแข็งของภาคประชาชน

ภาคประชาชน (People Sector)คือ การรวมกลุ่มของประชาชนในรูปแบบต่างๆ ทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ ทั้งที่มีการดำเนินการแบบต่อเนื่องหรือเฉพาะคราว เช่น องค์กรสาธารณะประโยชน์ มูลนิธิ สมาคม ชมรม สถาบัน องค์กรชุมชน กลุ่มอาสาสมัคร องค์กรทางศาสนา เครือข่าย ที่มีวัตถุประสงค์ช่วยแก้ปัญหาต่างๆ ของสังคม โดยมุ่งเน้นประโยชน์ส่วนรวมและประชาชนเป็นสำคัญ

ข้อมูลในการสำรวจได้จัดเก็บจากประชาชนที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป จาก 5 ภูมิภาคทั่วประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ภาคกลางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ ผ่านการตอบแบบสอบถามจำนวน 1,179 คน และสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญอีกจำนวน 200 คน

โครงสร้างของดัชนีประสิทธิผลภาคประชาชนแบ่งออกเป็น 3 ด้าน ได้แก่
(1) ด้านสถาบันภาคประชาชน (Institution) ประกอบไปด้วย 4 ตัวแปร คือ ความเข้มแข็ง (Strength) ความหลากหลาย (Diversification) ความเป็นมืออาชีพ (Professionalism) และความเชื่อมั่น (Confidence)

(2) ด้านการสร้างแนวการปฏิบัติของภาคประชาชน (Practice)ประกอบไปด้วย 6 ตัวแปร คือ การปลอดคอร์รัปชั่น (Corruption) ประสิทธิภาพ (Efficiency) การไม่ใช้ความรุนแรง (Non-violence) ธรรมาภิบาล (Governance) การปฏิบัติตามกฎหมาย (Law compliance) และการสร้างพันธมิตร (Alliance building)

และ (3) ด้านผลกระทบจากการดำเนินงานของภาคประชาชน (Impact) ประกอบไปด้วย 5 ตัวแปร คือ การรณรงค์ทางสังคม (Advocacy) การมีอิทธิพลต่อนโยบาย (Influence on policy) การเสริมสร้างขีดความสามารถของสังคม (Capacity building) การตอบสนองความต้องการของสังคม (Responsiveness) และการติดตามและป้อนกลับ (Monitoring and feedback)

ผลจากการสำรวจ พบตัวเลขที่น่าสนใจ คะแนนที่ได้สูงสุดในการสำรวจคือคะแนนเรื่องความน่าเชื่อถือได้คะแนน 72.78 ในขณะที่คะแนนต่ำสุดของภาคประชาชน คือ มีทรัพยากร เช่น เงินทุน บุคลากร เครื่องมือ เพียงพอในการทำงานระยะยาว ตัวเลขดังกล่าวสะท้อนว่า องค์กรภาคประชาชน ไม่สามารถเลี้ยงตัวเองได้ในระยะยาว แม้ประชาชนจะให้ความเชื่อถือในการดำเนินการ แต่ขาดเงินทุนสนับสนุน

คำถามคือ จะทำอย่างไรให้องค์กรในภาคประชาชน สามารถเลี้ยงตัวเองได้ โดยยังคงความน่าเชื่อถือในภาคประชาชน อย่างไรก็ตามหน่วยงานการกุศลในประเทศอื่นๆ ก็ประสบกับปัญหาในลักษณะที่ไม่แตกต่างกัน ทำให้ในแวดวงองค์กรพัฒนาสังคมทั่วโลก ได้มีการพยายามคิดค้นพัฒนาการทำงานรูปแบบใหม่ที่สามารถเข้าไปแก้ไขปัญหาสังคม พร้อมกับการสร้างความเข้มแข็งทำให้หน่วยงานเหล่านี้สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างมั่งคง

แนวคิดการประกอบการเพื่อสังคม (social entrepreneurship) และรูปแบบการทำงานแบบวิสาหกิจเพื่อสังคม (social enterprise) ได้ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อตอบโจทย์ข้างต้น และได้มีการทดลองนำไปปฏิบัติอย่างแพร่หลายในประเทศต่างๆ ทั่วโลกปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็น สหราชอาณาจักร อเมริกาเหนือ บังกลาเทศ ฮ่องกง ไต้หวัน เกาหลี ฯลฯ ล้วนแต่ได้มีการนำแนวทางดังกล่าวนี้มาใช้เป็นกลไกสำคัญสำหรับขับเคลื่อนงานเพื่อสังคมในประเทศของตนมากขึ้น ซึ่งที่เห็นชัดเจนเป็นรูปธรรมและเป็นที่รู้จักกันทั่วโลก ก็คือ ธนาคารกรามีนหรือกรามีนแบงค์ ในประเทศบังกลาเทศ

หัวใจของแนวคิดการประกอบการเพื่อสังคมคือการประยุกต์ใช้ความรู้และทักษะในการประกอบการเชิงธุรกิจที่สร้างรายได้ผ่านการผลิตสินค้าหรือจัดสรรบริการให้กับผู้บริโภคหรือหน่วยงานอื่นๆ ซึ่งจะทำให้มีรายได้เพียงพอและต่อเนื่องเข้ามาสนับสนุนการทำงานตามภารกิจเพื่อการพัฒนาและแก้ไขปัญหาสังคมได้ โดยหน่วยงานประเภทที่ได้ประยุกต์ใช้แนวคิดนี้คือ หน่วยงานวิสาหกิจเพื่อสังคม และผู้ที่ใช้แนวคิดนี้คือผู้ประกอบการเพื่อสังคม (social entrepreneur)

ผมได้เริ่มนำเสนอแนวคิดนี้เข้ามาใช้ชัดเจนในประเทศไทยและได้ก่อตั้งสถาบันวิสาหกิจเพื่อสังคม (SocialEntrepreneur Institute)มาเป็นนานเวลาหลายปีแล้วในขณะที่คนไทยในเวลานั้นแทบไม่รู้จักมโนทัศน์นี้เลยแนวคิดดังกล่าวเริ่มมีการพูดถึงกันมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ที่ว่า แนวคิดและรูปแบบดังกล่าวนี้จะเป็นทางออกให้กับการทำงานเพื่อสังคมในประเทศไทยได้มากน้อยเพียงใด

แม้ว่าการดำเนินกิจการทางธุรกิจในสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน จะดูเหมือนเป็นเรื่องที่ยากลำบากสำหรับองค์กรสาธารณะประโยชน์และองค์กรเพื่อสังคมขนาดเล็กที่ยังไม่มีศักยภาพในการแข่งขันมากนัก แต่ก็ยังคงเป็นทางเลือกที่ดีกว่าการรอรับการบริจาคและการสนับสนุนที่มีแนวโน้มว่าจะลดลงในอนาคต ซึ่งแนวคิดการประกอบการเพื่อสังคมเป็นแนวคิดที่ไม่ได้มองที่ความจำกัดเหล่านี้ แต่มุ่งมองเห็นโอกาสท่ามกลางสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น ด้วยการพยายามคิดค้นและแสวงหานวัตกรรม รวมทั้งรูปแบบที่เหมาะสมในแก้ไขปัญหา

การดำเนินกิจกรรมภาคประชาชนจำเป็นที่จะต้องได้รับการเปลี่ยนโฉมหน้าใหม่ โดยอาศัยกระบวนทัศน์และวิธีคิดแบบใหม่ รวมทั้ง ต้องอาศัยความร่วมมือและการขับเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างพร้อมเพรียงกันในทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีวิสัยทัศน์ในการกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศของผู้บริหารที่ควรมุ่งไปสู่การก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมมากกว่าการวิ่งไล่ตามแก้ไขปัญหา ทั้งนี้ เพื่อให้การแก้ไขปัญหาสังคมที่มีอยู่และที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต สามารถทำได้อย่างเข้าถึง เข้าใจและยั่งยืน อันจะนำมาซึ่งสวัสดิภาพและคุณภาพสังคมที่ดีต่อไป 

แหล่งที่มา : cioworldmagazine.com
9 พฤษภาคม 2559

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันการสร้างชาติ (NBI)
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.com, www.drdancando.com
www.facebook.com/drdancando

แหล่งที่มาของภาพ : http://www.cioworldmagazine.com/wp-content/uploads/2016/05/shutterstock_22-680x365_c.jpg 

Catagories: