กรณีศึกษาผู้ประกอบการเพื่อสังคมของไทย



การเป็นผู้ประกอบการเพื่อสังคม เป็นแนวคิดที่เป็นทางเลือกใหม่ในการแก้ปัญหาสังคมปัจจุบัน ซึ่งมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้น มีความซับซ้อนและรุนแรงขึ้นทุกขณะ การหวังให้ภาครัฐเพียงฝ่ายเดียวเป็นตัวหลักในการแก้ปัญหาสังคมคงทำได้ไม่ง่าย และที่ผ่านมายังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควรจึงต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วนในสังคมไม่ว่าจะเป็นภาคธุรกิจ องค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) และภาคประชาสังคมหรือชุมชน เป็นตัวขับเคลื่อนแก้ปัญหาและพัฒนาสังคม

ที่ผ่านมาผมเคยแบ่งปันแนวคิด ldquo;ผู้ประกอบการเพื่อสังคมrdquo;ผ่านทางบทความในหนังสือพิมพ์ จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (e-letter) และยังเผยแพร่ใน www.bloge/oknation.net/kriengsak ได้มีผู้ที่สนใจแนวคิดนี้จำนวนไม่น้อย และเมื่อกลางปีที่ผ่านมานี้ ผมได้รับเชิญจากมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี เป็นอาจารย์สอนวิชา ldquo;การเป็นผู้ประกอบการเพื่อสังคมrdquo; โดยเมื่อวันอาทิตย์ที่ 9 กันยายน 2550 ที่ผ่านมา ผมได้เชิญวิทยากรจากองค์กรธุรกิจไทยที่มีประสบการณ์การเป็นผู้ประกอบการเพื่อสังคม ได้แก่ วิทยากรจากโครงการพัฒนาดอยตุง วิทยากรจากรายการ จส. 100และวิทยากรจากบริษัท ทีวีบูรพา จำกัด หรือคุณสุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ ซึ่งล้วนแต่เป็นผู้ประกอบการเพื่อสังคมที่ประสบความสำเร็จ สามารถพัฒนาเป็นธุรกิจจนสามารถอยู่รอดและแข่งขันได้ในตลาด

โครงการพัฒนาดอยตุง hellip;พัฒนาคนท้องถิ่นให้มีความรู้ อาชีพและรายได้ เน้นการแก้ไขที่รากปัญหาและพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมุ่งพัฒนาและเพิ่มมูลค่าให้ภูมิปัญญาท้องถิ่นและทรัพยากรในพื้นที่ เน้นพัฒนาฝีมือแรงงานและใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม เน้นพัฒนาให้คนให้สร้างรายได้และมีอาชีพไม่ใช่การให้เปล่า ซึ่งโครงการพัฒนาดอยตุงมีการทำงาน 2 ส่วน คือ กิจกรรมเชิงธุรกิจ เช่น การเพาะเนื้อเยื่อ การผลิตและจำหน่ายผลิตทางการเกษตร แปรรูปอาหาร หัตถกรรม งานปั้น และการท่องเที่ยว ฯลฯ ปัจจุบันหน่วยธุรกิจต่าง ๆ สร้างรายได้ปีละประมาณ 465 ล้าน รัฐบาลสนับสนุนปีละ 23 ล้าน ซึ่งจะส่งกำไรไปฝ่ายพัฒนาสังคมโครงการพัฒนาดอยตุงและโครงการอื่นของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ซึ่งดำเนินกิจกรรมพัฒนาชุมชนและสังคมที่ไม่สร้างรายได้ เช่น การปลูกป่า การพัฒนาอาชีพ การให้ความรู้และการศึกษา ฯลฯ

บริษัท ทีวีบูรพา จำกัด hellip;ให้ความรู้และสร้างความตระหนักการเห็นคุณค่าคนให้สังคม บริษัท ทีวีบูรพา จำกัด เป็นตัวอย่างผู้ประกอบการที่มีจุดเน้น เพื่อให้ความรู้ในประเด็นต่าง ๆ รวมถึง สร้างความตระหนักแก่คนในสังคมไทย ให้ได้เห็นแง่มุมและมุมมองชีวิตของกลุ่มคนต่าง ๆ โดยบริษัทได้ผลิตหลายรายการ เช่น รายการจุดเปลี่ยน คนค้นคน กบนอกกะลา ฯลฯ นับเป็นรายการรูปแบบใหม่ที่พลิกโฉมจากรูปแบบเดิม เป็นรายการที่ประสบผลสำเร็จ โดยเป็นสื่อที่คนในสังคมไทยสามารถเข้าถึงและรับรู้ได้อย่างกว้างขวาง ได้รับความนิยมและเป็นที่รู้จักของคนในสังคมไทยอย่างมาก โดยบริษัทอยู่รอดและแข่งขันในตลาดได้ด้วยการหาโฆษณา

จส. 100 hellip;จุดประกายการสร้างคุณค่าทางสังคมให้คนเมืองกรุงฯ จส. 100 เป็นตัวอย่างผู้ประกอบการเพื่อสังคมในกลุ่มคนท้องถิ่นคือในกรุงเทพฯ โดยรายการมีส่วนสร้างคุณค่าทางสังคม (social value) ให้เกิดขึ้นในคนเมืองกรุงฯ ทั้งที่ความเป็นเมืองมีสภาพความเป็นปัจเจกชนสูง รายการนี้เป็นการสร้างเครือข่ายการช่วยเหลือกันและกันของคนในกรุงเทพฯ ที่มีความเอื้ออาทรกัน ไม่ว่าจะเป็น รถเสีย การรายงานสภาพการจราจร และบอกเส้นทางการจราจรเพื่อหลีกเลี่ยงการติดขัด การตามหาหรือแจ้งเบาะแสคนหาย การเกิดอุบัติเหตุทั้งบนผิวการจราจรหรือส่วนอื่นของกรุงเทพฯ การจัดโครงการกองทุนบริจาคเงินเพื่อลิ้นหัวใจกับ จส. 100 ฯลฯ โดยรายได้ของรายการมาจากการหาโฆษณา รวมถึงการจัดกิจกรรมโครงการแรลลี่ต่าง ๆ ที่มีส่วนในการระดมทุน เป็นต้น

ตัวอย่างข้างต้นนี้เป็นผู้ประกอบการเพื่อสังคมที่เป็นตัวแบบให้คนในสังคมได้เดินตาม โดยผมคิดว่าถึงเวลาแล้วที่สังคมไทยจะต้องสนับสนุนและสร้างผู้ประกอบการเพื่อสังคมขึ้นให้มีจำนวนมากขึ้น เพื่อเป็นแนวทางแก้ปัญหาและพัฒนาสังคม โดยต้องหาวิธีการให้เกิดขึ้นจริงในภาคปฏิบัติ เพื่อสามารถนำคนหรือองค์กรที่มีความตั้งใจดีและมีศักยภาพ เข้ามามีส่วนช่วยกันแก้ไขและพัฒนาประเทศไปในทิศทางที่ยั่งยืน

แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม

admin
Catagories: 
เผยแพร่: 
0
เมื่อ: 
2007-09-17