การพัฒนาตัวชี้วัดโลกาภิวัตน์ (ตอนที่ 1)

เดลินิวส์

คอลัมน์ ?แนวคิด ดร.แดน?

เมื่อไม่นานมานี้ ผมได้รับเชิญไปปาฐกถาในงาน Asia Perspectives 2014 ที่จัดโดย Maulana Abul Kalam Azad Institute of Asian Studies (MAKAIAS) ณ ประเทศอินเดีย โดยผู้จัดได้ขอให้ผมบรรยายเกี่ยวกับการวัดโลกาภิวัตน์ของประเทศในเอเชีย

การศึกษาเกี่ยวกับโลกาภิวัตน์ (globalization) ได้เกิดขึ้นมาเป็นระยะเวลานานแล้ว แต่การสร้างดัชนีชี้วัดโลกาภิวัตน์อย่างเป็นระบบเพิ่งเกิดขึ้นเพียงสิบกว่าปีที่ผ่านมาเท่านั้น โดยอาจแบ่งกลุ่มของตัวชี้วัดโลกาภิวัตน์ได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ ดัชนีเดี่ยว (single index) และชุดของดัชนี (composite index)

การศึกษาเกี่ยวกับโลกาภิวัตน์ได้เกิดขึ้นมาเป็นระยะเวลานานแล้ว แต่การสร้างดัชนีชี้วัดโลกาภิวัตน์อย่างเป็นระบบเพิ่งเกิดขึ้นเพียงสิบกว่าปีที่ผ่านมาเท่านั้น

ดัชนีเดี่ยวเป็นการวัดโลกาภิวัตน์โดยใช้ตัวชี้วัดเพียงตัวเดียวหรือเพียงไม่กี่ตัว ส่วนชุดของดัชนีประกอบด้วยตัวชี้วัดโลกาภิวัตน์หลายตัวและวัดโลกาภิวัตน์ในหลายมิติ อาทิด้าน เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม การเมือง สิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยี เป็นต้น

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาได้เกิดข้อถกเถียงในการสร้างดัชนีชี้วัดโลกาภิวัตน์หลายประเด็น อาทิ ควรมีตัวชี้วัดอะไรบ้างในชุดของดัชนีชี้วัด ตัวชี้วัดเหล่านี้ควรมีการปรับค่าหรือไม่ อย่างไร เช่น ปรับด้วยขนาดของประเทศ ต้นทุนการขนส่ง และที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ เป็นต้น และควรถ่วงน้ำหนัก (weight) ในแต่ละตัวชี้วัดอย่างไร

จากการวิเคราะห์ และเปรียบเทียบแนวคิดของการสร้างตัวชี้วัดโลกาภิวัตน์ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ผมมีข้อสังเกตเกี่ยวกับการวัดโลกาภิวัตน์ 3 ประเด็น คือ ความไม่ชัดเจนของนิยามโลกาภิวัตน์ ความไม่ชัดเจนของความสัมพันธ์ระหว่างโลกาภิวัตน์กับเป้าหมายการพัฒนาประเทศ และความไม่สอดคล้องของตัวชี้วัดกับบริบทการพัฒนาของประเทศในเอเชีย ซึ่งในบทความตอนแรก ผมจะนำเสนอใน 2 ประเด็นแรก

ประเด็นแรก "ความไม่ชัดเจนของนิยามโลกาภิวัตน์?

ดัชนีชี้วัดโลกาภิวัตน์ในปัจจุบันมีหลายแบบ แต่ละแบบถูกสร้างขึ้นบนนิยามโลกาภิวัตน์ที่แตกต่างกัน จึงเป็นสาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้ได้ผลการวัดโลกาภิวัตน์ที่แตกต่างกัน โดยพบว่าประเทศในเอเชียถูกจัดอันดับแตกต่างกัน เมื่อมีการวัดด้วยดัชนีที่แตกต่างกัน หรือกล่าวโดยสรุปว่า การไม่มีนิยามที่นักวิจัยเห็นตรงกัน ทำให้การออกแบบดัชนีชี้วัดอยู่บนกรอบแนวคิดที่แตกต่างกัน ซึ่งส่งผลทำให้ผลการวัดโลกาภิวัตน์ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ และผลการศึกษาที่ใช้ดัชนีชี้วัดที่ต่างกันจึงนำมาเปรียบเทียบกันได้ยาก

ประเด็นที่สอง "ความไม่ชัดเจนของความสัมพันธ์ระหว่างโลกาภิวัตน์กับเป้าหมายการพัฒนาประเทศ"

วัตถุประสงค์สำคัญในการวัดโลกาภิวัตน์ คือ การวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างดัชนีชี้วัดโลกาภิวัตน์กับเป้าหมายของการพัฒนาประเทศ อาทิ การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ การกระจายรายได้ การลดปัญหาความยากจน เสรีภาพทางการเมือง และกำจัดการทุจริตคอร์รัปชัน เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ผลการศึกษาพบความสัมพันธ์เชิงบวกระหว่างดัชนีชี้วัดโลกาภิวัตน์กับเป้าหมายบางด้านของการพัฒนาประเทศ ถึงกระนั้นประเทศที่มีระดับคะแนนของดัชนีวัดโลกาภิวัตน์มากขึ้น อาจไม่ได้หมายความว่า มีระดับของการพัฒนาประเทศโดยรวมสูงขึ้นเสมอไป โดยมีเหตุผลดังต่อไปนี้

(1) โลกาภิวัตน์อาจทำให้เกิดการขัดกันของเป้าหมายการพัฒนาต่าง ๆ

ผลการศึกษาหลายชิ้นยืนยันถึงความสัมพันธ์เชิงบวกระหว่างดัชนีชี้วัดโลกาภิวัตน์กับบางเป้าหมายของการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (economic growth) แต่ผลการศึกษาอีกส่วนหนึ่งกลับพบว่า มีการเพิ่มขึ้นของโลกาภิวัตน์พร้อมๆ กับการเพิ่มขึ้นของความเหลื่อมล้ำ (inequality) ในประเทศกำลังพัฒนาโดยส่วนใหญ่ และทำให้เกิดความไม่สมดุล (imbalances) ในระบบเศรษฐกิจโลก

นอกจากนี้ โลกาภิวัตน์ยังทำให้เกิดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ เนื่องจากความเชื่อมโยงที่ทั่วถึงกันทั่วโลกทำให้การพึ่งพึงกันทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศเพิ่มสูงขึ้น และเอื้อให้เกิดการแพร่ขยายของวิกฤติเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็ว

จากผลการศึกษาข้างต้น โลกาภิวัตน์อาจทำให้เกิดการขัดกันของเป้าหมายการพัฒนาประเทศ ดังนั้นจุดหมายของการพัฒนาประเทศจึงไม่ใช่การทำให้ระดับโลกาภิวัตน์สูงสุด แต่เป็นการทำให้ระดับการพัฒนาประเทศสูงสุด โดยสร้างความสมดุลระหว่างเป้าหมายต่างๆ ของการพัฒนาประเทศ

(2) ความสัมพันธ์ระหว่างโลกาภิวัตน์ กับเป้าหมายการพัฒนาบางตัวยังเป็นข้อถกเถียง

นักวิจัยส่วนหนึ่งอ้างว่าโลกาภิวัตน์ช่วยลดความยากจน ดังในตัวอย่างของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่มีโลกาภิวัตน์ในระดับต่ำเกินไปจะทำให้ความยากจนเพิ่มขึ้น แต่เมื่อระดับของโลกาภิวัตน์สูงขึ้นถึงระดับหนึ่ง จะทำให้ความยากจนลดลง แต่มีนักวิจัยที่โต้แย้งความเชื่อนี้ โดยยกตัวอย่างประเทศที่เปิดเสรีทางการค้าน้อย เช่น จีน ไทย และเวียดนาม แต่กลับมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงและความยากจนลดลงมาก ในทางตรงกันข้าม ประเทศที่เปิดเสรีการค้ามากกว่า เช่น บราซิล เฮติ เม็กซิโก เปรู และแซมเบีย กลับมีการขยายตัวต่ำและลดความยากจนได้น้อย

(3) ความสัมพันธ์ระหว่างโลกาภิวัตน์ กับเป้าหมายการพัฒนาเป็นความสัมพันธ์ที่ซับซ้อน

ผลการศึกษาจำนวนหนึ่งระบุว่าประโยชน์ของโลกาภิวัตน์ที่แต่ละประเทศได้รับ ไม่ได้เป็นผลจากระดับโลกาภิวัตน์ของประเทศนั้น ๆ เพียงอย่างเดียว แต่ขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นหรือบริบทการพัฒนาของประเทศนั้นด้วย อีกทั้งยังขึ้นอยู่กับความสามารถของรัฐบาลในการปรับตัวและการใช้ประโยชน์จากโลกาภิวัตน์ด้วย นอกจากนี้ การขยายตัวทางเศรษฐกิจบางแบบจะช่วยลดความยากจนได้ดีกว่าแบบอื่น โดยมีปัจจัยสำคัญที่เกิดจากการบิดเบือนทางนโยบาย (policy distortions) โดยภาครัฐ ที่ช่วยส่งเสริมหรือลดผลกระทบต่อคนยากจน

ตัวอย่างเช่น เศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกที่ได้รับประโยชน์จากโลกาภิวัตน์มาก เนื่องจากรัฐบาลสามารถควบคุมและปรับตัวเพื่อบูรณาการกับเศรษฐกิจโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในทางตรงกันข้าม กรณีการเกิดวิกฤตต้มยำกุ้งในประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ.2540 พบว่า โลกาภิวัตน์ส่งผลกระทบเชิงลบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และการลดความยากจนในประเทศไทย ซึ่งเป็นผลจาการเปิดเสรีทางการเงินโดยที่ขาดการเตรียมความพร้อมของภาคการเงินในประเทศ

(4) ดัชนีวัดโลกาภิวัตน์เป็นตัวชี้วัดหลายมิติ

ปัจจุบัน นักวิจัยให้ความสนใจในการพัฒนาดัชนีชี้วัดแบบครอบคลุม (comprehensive measure) เนื่องจากโลกาภิวัตน์เป็นกระบวนการที่มีหลายมิติ (multidimensionality) ดัชนีเดี่ยวจึงไม่สามารถวัดโลกาภิวัตน์ได้อย่างครบถ้วน

อย่างไรก็ดี เมื่อดัชนีชี้วัดแบบครอบคลุมมีความสัมพันธ์กับตัวแปรใด ก็ไม่ได้หมายความว่าตัวชี้วัดทุกตัวที่อยู่ในดัชนีชี้วัดนั้นจะต้องมีความสัมพันธ์กับตัวแปรดังกล่าว เช่น หากดัชนีชี้วัดทางโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจมีความสัมพันธ์กับอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ก็ไม่ได้หมายความว่าดัชนีชี้วัดทางโลกาภิวัตน์ทางการเมืองและสังคมจะต้องมีความสัมพันธ์กับอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ด้วยเหตุนี้ประเทศที่ถูกจัดอันดับ (ranking) ว่ามีโลกาภิวัตน์สูงกว่าอาจไม่ได้มีระดับการพัฒนาประเทศสูงกว่าประเทศที่มีอันดับ (ranking) ต่ำกว่าเสมอไป

สำหรับประเด็นสุดท้าย และข้อเสนอในการพัฒนาตัวชี้วัด globalization ผมจะอธิบายในครั้งถัดไปครับ

ศ.ดร. เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์
kriengsak@kriengsak.comhttp://www.kriengsak.com
แหล่งที่มาของภาพ : http://www.dailynews.co.th/imagecache/670x490/cover/556720.jpeg