บทบาทรัฐมนตรีต่างประเทศในรัฐบาลหน้า
หากถามว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงใดในรัฐบาลหน้า จะเป็นผู้ที่มีภาระหน้าที่หนักที่สุด ในการฟื้นฟูความเชื่อมั่นของต่างประเทศที่มีต่อประเทศไทย ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน โดยเฉพาะความไม่เชื่อมั่นต่อทิศทางและสถานการณ์เศรษฐกิจไทย จนทำให้นักลงทุนจำนวนหนึ่งไม่กล้าเข้ามาลงทุน และอีกส่วนหนึ่งกำลังจะย้ายฐานการลงทุนไปยังต่างประเทศ
หลายคนคงคิดว่าคำตอบคือ รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจ แต่ผมกลับคิดว่า ผู้ที่มีบทบาทสำคัญไม่แพ้กัน คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ เพราะความไม่เชื่อมั่นส่วนหนึ่งเป็นเรื่องจิตวิทยาและ มุมมองของต่างประเทศที่มีต่อไทย ซึ่งกระทรวงต่างประเทศน่าจะมีความเข้าใจดีกว่ากระทรวงอื่น ๆ
นอกจากนี้ความไม่เชื่อมั่นมิได้มีเพียงมิติเศรษฐกิจเท่านั้น แม้ปัญหาเศรษฐกิจเป็นประเด็นที่ร้อนที่สุดในปัจจุบัน โดยเฉพาะความเข้าใจผิดต่อนโยบายเศรษฐกิจพอเพียง การแก้ปัญหานอมินี และการกันสำรองเงินลงทุนจากต่างประเทศร้อยละ 30 แต่วิกฤตความเชื่อมั่นเกิดจากปัญหาอื่น ๆ ด้วย อาทิ ปัญหาสิทธิบัตรยา (CL) ความรุนแรงในสามจังหวัดภาคใต้ ความขัดแย้งทางการเมือง ฯลฯ
คำถามที่ตามมา คือ รมว.ต่างประเทศในรัฐบาลหน้าควรมีบทบาทเช่นใด
เมื่อพิจารณาถึงเหตุผลของความไม่เชื่อมั่นของต่างชาตินั้น เกิดจากความกังขาต่อนโยบายและการจัดการปัญหาของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นทิศทางนโยบายและการแก้ไขปัญหาที่คลุมเครือ ความเข้าใจว่าภาครัฐไม่ทราบสาเหตุของปัญหา หรือการแก้ปัญหาที่ล่าช้า ซึ่งอาจทำให้เกิดความไม่มั่นใจว่ารัฐบาลจะสามารถแก้ปัญหาได้
หากมองในแง่ดี นโยบายและมาตรการแก้ปัญหาต่าง ๆ ของรัฐบาลอาจเป็นแนวทางที่ดี แต่ด้วยการสื่อสารถึงเหตุผลของนโยบายที่ไม่ชัดเจน การส่งสัญญาณที่ดูเหมือนไม่ต้อนรับต่างชาติ และการที่คนในรัฐบาลต่างคนต่างสื่อสารและบางครั้งสื่อสารข้อมูลที่ขัดแย้งกัน จนทำให้เกิดความสับสน และเกิดช่องว่างของความเข้าใจระหว่างรัฐบาลกับนักลงทุนต่างประเทศ
งานประชาสัมพันธ์ของภาครัฐต่อต่างประเทศต้องบูรณาการกันมากขึ้น โดยกระทรวงต่างประเทศควรทำหน้าที่เป็นฝ่ายประชาสัมพันธ์ต่างประเทศของรัฐบาล โดยการมีส่วนร่วมและให้คำปรึกษาในงานประชาสัมพันธ์ต่อชาวต่างชาติของกระทรวงต่าง ๆ และทำงานประชาสัมพันธ์เชิงรุกมากขึ้น
กระทรวงต่างประเทศควรทำงานคู่ขนานไปกับกระทรวงอื่น ในการวางแผนการสื่อสารนโยบายล่วงหน้า เพื่ออธิบายให้กับต่างชาติเข้าใจนโยบาย และสามารถตอบคำถามได้ว่าประเทศไทยดำเนินนโยบายเหล่านี้ด้วยเหตุผลใด ก่อนที่นโยบายนั้นจะถูกประกาศออกมา รวมทั้งเตรียมการณ์สำหรับการแก้ปัญหาความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องที่อาจจะเกิดขึ้นด้วย
ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี รัฐมนตรีต่างประเทศต้องทำหน้าที่สะท้อนความรู้สึกของต่างประเทศ ในประเด็นที่อาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในสายตาของต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การทำงานกับรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจใกล้ชิดมากขึ้น เพื่อให้การตัดสินใจกำหนดนโยบายเศรษฐกิจเป็นไปอย่างรอบคอบ และคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในสายตาของต่างประเทศ
รัฐมนตรีต่างประเทศจึงควรมีความเข้าใจงานของกระทรวงเศรษฐกิจมากขึ้น เพื่อช่วยให้การกำหนดนโยบายเศรษฐกิจคำนึงถึงมุมมองของต่างประเทศมากขึ้น และช่วยในการสื่อสารให้ต่างประเทศได้เข้าใจ มั่นใจต่อทิศทางที่ประเทศกำลังจะเดินไปได้มากขึ้น
ผมคิดว่าท่าทีสำคัญที่รัฐมนตรีต่างประเทศในรัฐบาลหน้า ต้องสื่อสารต่อต่างประเทศอย่างชัดเจน คือ ทิศทางการดำเนินนโยบายของรัฐบาลที่โปร่งใส มีนิติรัฐ เป็นธรรมต่อทั้งคนในและต่างประเทศ และมีเสถียรภาพ เพื่อให้นักลงทุนต่างชาติคาดการณ์ทิศทางของนโยบายได้ และมั่นใจว่านโยบายจะคงเส้นคงวา รวมทั้งไม่ได้มีทิศทางที่ปิดกั้นการลงทุนจากต่างประเทศ
นอกจากนี้ รัฐมนตรีต่างประเทศควรใช้กลยุทธ์การประชาสัมพันธ์ในต่างประเทศมากขึ้น เช่น การประสานกับหน่วยงานต่างประเทศที่น่าเชื่อถือให้แสดงความเชื่อมั่นต่อประเทศไทย การหาประเทศที่เป็นแนวร่วมสนับสนุนแนวทางที่ประเทศไทยใช้แก้ปัญหา การขอคำรับรองจากองค์กรระหว่างประเทศเกี่ยวกับแนวทางที่ไทยดำเนินการอยู่ การขอให้นักลงทุนต่างชาติในไทยแสดงความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไทย เป็นต้น
คุณสมบัติที่พึงประสงค์ของรัฐมนตรีต่างประเทศในรัฐบาลหน้า นอกเหนือจากความเข้าใจในงานด้านการทูตแล้ว ควรเป็นนักสื่อสารที่ดี เป็นนักประชาสัมพันธ์ และมีความรู้แบบสหวิทยาการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรู้และความเข้าใจด้านเศรษฐกิจ ประการสำคัญ คือ เป็นคนที่มีเครือข่ายในต่างประเทศอย่างกว้างขวาง และมีความสัมพันธ์ที่ดีกับนักการทูต นักข่าวและนักธุรกิจต่างประเทศที่อยู่ในประเทศไทย
เผยแพร่:
0
เมื่อ:
2007-08-27