ความคาดหวังต่อผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยคนใหม่

     วันที่ 1 ต.ค. 2553 ที่จะมาถึงนี้ ประเทศไทยจะมีผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยคนใหม่ที่มีชื่อว่า ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ซึ่งจะมารับหน้าที่ต่อจาก นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยคนปัจจุบัน ที่จะเกษียณอายุในเดือนกันยายนนี้   

     ดร.ประสาร เปิดเผยว่า ภารกิจแรกที่ต้องเข้ามาดูแลหลังจากรับตำแหน่ง คือ การดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจภายในและภายนอกประเทศ เพื่อให้เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างมั่นคง รวมทั้งต้องทำหน้าที่ในการรักษาเสถียรภาพของค่าเงินบาทให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม

     ส่วนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และนายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ฝากให้ ดร.ประสารให้ความสำคัญกับการให้ประชาชนเข้าถึงบริการทางการเงินมากขึ้น รวมทั้งการลดต้นทุนทางการเงินให้แก่ประชาชนโดยการลดส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝาก ซึ่งหากเทียบกับประเทศด้อยพัฒนา ไทยมีส่วนต่างดอกเบี้ยที่ต่ำกว่า แต่หากเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว ส่วนต่างดอกเบี้ยของไทยสูงกว่า เพราะประเทศที่พัฒนาแล้วมีช่องทางหรือสินค้าทางการเงินที่หลากหลาย ทำให้สามารถหาแหล่งรายได้จากค่าธรรมเนียม มาทดแทนรายได้จากดอกเบี้ยที่ลดลงได้มากกว่า



     ประเด็นที่นายประสาร รวมทั้งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกล่าวถึงนั้นเป็นปัญหาสำคัญในภาคการเงินที่รอการแก้ไข อย่างไรก็ตามนอกเหนือจากประเด็นเหล่านี้แล้ว ผมคิดว่ายังมีอีกบางประเด็นที่ผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยคนใหม่ควรให้ความสนใจ ได้แก่

     การสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศในการกำกับดูแลภาคการเงิน

     จากวิกฤติซับไพร์มที่ผ่านมา ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากวิกฤตินั้นได้ลุกลามข้ามประเทศ เนื่องจาก การเคลื่อนย้ายเงินทุนข้ามประเทศมีความเสรีมากขึ้น สินค้าทางการเงินมีความซับซ้อนมากขึ้น ทำให้การกำกับดูแลเฉพาะในประเทศอย่างเดียวไม่เพียงพอ การร่วมมือระหว่างประเทศในระดับภูมิภาคเพื่อกำกับดูแลการเคลื่อนย้ายเงินทุนและสถาบันการเงินจึงเป็นประเด็นที่สำคัญ

     ที่ผ่านมา ภูมิภาคอาเซียนมีความพยายามที่จะร่วมมือกันแล้วในระดับหนึ่ง นั่นคือ ข้อตกลงริเริ่มเชียงใหม่ (Chiang Mai Initiative: CMI) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างประเทศในกลุ่มอาเซียน+3 ที่นำทุนสำรองระหว่างประเทศบางส่วนมารวมกัน เพื่อให้การช่วยเหลือแก่ประเทศสมาชิกที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤต ซึ่งผมเห็นว่าถือเป็นการริเริ่มที่ดีและเป็นแนวทางที่เหมาะสม

     อย่างไรก็ตาม หากต้องการสร้างเสถียรภาพทางการเงินในภูมิภาคอย่างแท้จริงนั้น ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยคนใหม่ต้องผลักดันให้เกิดความร่วมมือทางการเงินในภูมิภาคมากขึ้น ซึ่งมีอีกหลายเรื่องซึ่งอยู่ระหว่างการเจรจาหาข้อตกลงร่วมกัน เช่น การศึกษาเรื่อง Financial Landscape in ASEAN เพื่อทำความเข้าใจภาพรวมทางด้านการเงินของอาเซียนในภาพรวม หรือการร่วมกันพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางด้านการเงินของอาเซียน เป็นต้น

     การสร้างความพร้อมเพื่อรองรับการเปิดเสรีทางการเงินในอนาคต

     แนวโน้มของโลกเป็นไปในทิศทางการเปิดเสรีทางการเงิน ซึ่งภาคการเงินของไทยมีแนวโน้มที่จะถูกกดดันให้เปิดเสรีทางการเงินมากขึ้น เมื่อไม่นานมานี้คณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทยเองยังได้แนะนำให้ไทยเปิดเสรีทางการเงิน เพื่อลดค่าใช้จ่ายเเละต้นทุนทางการเงินของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมและผู้ส่งออกไทย

     ปัจจุบันภาคการเงินของไทยถือว่ามีการแข่งขันค่อนข้างน้อย เห็นได้จากธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่เป็นผู้ครอบงำตลาดสินเชื่อ รวมทั้งส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยเงินกู้เเละเงินฝากที่สูงอยู่นั้น แสดงให้เห็นว่ามีผู้ให้บริการน้อยราย

     ดังนั้นเพื่อช่วยให้ต้นทุนทางการเงินของประชาชนและผู้ผลิตลดลง ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยคนใหม่ควรผลักดันให้ภาคการเงินมีการแข่งขันมากขึ้น เช่น การให้ใบอนุญาติประกอบกิจการธนาคารเพิ่มขึ้น หรือควรพิจารณากฎระเบียบที่ไม่เข้มงวดมากจนเกินไป แต่สามารถกำกับดูแลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนกฎหมายต่างด้าวนั้น จะให้ต่างชาติเข้ามาถือหุ้นในธนาคารพาณิชย์ได้มากน้อยเพียงใดควรมีการศึกษาข้อดีข้อเสียอย่างชัดเจน เป็นต้น

     ช่วงเวลาต่อไปข้างหน้าถือเป็นความท้าทายอย่างยิ่งของผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยคนต่อไป เนื่องจาก ระบบการเงินมีความซับซ้อนมากขึ้น การเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศสะดวก รวดเร็ว และมีความผันผวนสูง จากการที่โลกมีความเชื่อมโยงกันมากขึ้นและลึกขึ้น ทำให้ผลกระทบส่งต่อถึงกัน ผมขอเอาใจช่วยดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ในการทำหน้าที่การเป็นผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยในวาระที่จะมาถึงให้ประสบความสำเร็จอย่างดีต่อไปครับ 

     ได้รับการตีพิมพ์จากหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ คอลัมน์การเมือง :ทัศนะวิจารณ์ วันอังคารที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2553



ที่มาของภาพ http://www.cig4earth.com/images/question2.jpg
 

admin
เมื่อ: 
22/7/2010