งบประมาณปี 2554 ควรขาดดุล?
เมื่อไม่นานมานี้นายกรัฐมนตรีได้แถลงการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2554 ต่อรัฐสภา ในวงเงิน 2.07 ล้านบาท ซึ่งเป็นงบประมาณขาดดุล 4.2 แสนล้านบาท (ร้อยละ 4.1 ของจีดีพี) และเพิ่มขึ้นจากงบประมาณปี 2553 ถึง 3.7 แสนล้านบาท (ร้อยละ 21.8) เมื่อได้ฟังการอภิปรายและติดตามข่าวสารในเรื่องดังกล่าว ผมมีความคิดเห็นเกี่ยวกับงบประมาณปี 2554 ดังต่อไปนี้
การจัดสรรงบขาดดุลปี 2554 อาจไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน
โดยทั่วไปรัฐบาลจะตั้งงบประมาณขาดดุลก็ต่อเมื่อเศรษฐกิจตกต่ำ การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน การส่งออกหดตัว เนื่องจากรัฐจำเป็นต้องเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจ แต่เนื่องจากปัจจุบันเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว การส่งออกขยายตัวได้ดี ประกอบกับมาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะที่เวลาผ่าน ทำให้การบริโภคและการจ้างงานดีขึ้น จีดีพีในไตรมาสที่ 1 ปี 2553 ขยายตัวถึงร้อยละ 12 และคาดว่าจะขยายตัวได้ดีต่อเนื่องจนถึงปี 2554 ซึ่งคาดว่าจะขยายตัวได้ในระดับร้อยละ 3.5-4.5 ซึ่งถือได้ว่าอยู่ในภาวะปกติ ดังนั้นการขาดดุลงบประมาณในปี 2554 อาจไม่มีความจำเป็นในการกระตุ้นเศรษฐกิจในขณะนี้
หากจะกล่าวว่าภาครัฐต้องการงบประมาณพิเศษเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำของรายได้และสร้างความเป็นธรรมในสังคมตามแผนปรองดอง แต่ในความเป็นจริงแล้วเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ที่เพิ่งมีการกล่าวถึง จะเห็นได้จากในปี 2553 ก็มียุทธศาสตร์เรื่องนี้เช่นเดียวกัน (ดูเปรียบเทียบได้จากเอกสารงบประมาณ) ด้วยเหตุนี้จึงทำเกิดคำถามว่าเหตุใดรัฐบาลจึงตั้งงบประมาณสูงขึ้นมาก
การจัดสรรงบขาดดุลปี 2554 อาจส่งผลเสียต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจ
แม้ปัจจุบันปริมาณหนี้สาธารณะจะอยู่ที่ร้อยละ 42.9 ของจีดีพี ซึ่งยังต่ำกว่าร้อยละ 50 ของจีดีพี ซึ่งกำหนดไว้ในกรอบความยั่งยืนทางการคลัง แต่ต้องไม่ลืมว่ารัฐบาลมีแผนในการกู้เงิน 4 แสนล้านบาทเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปี 2553-2555 ตามแผนไทยเข้มแข็ง ซึ่งคาดว่าจะทำให้หนี้สาธารณะสูงขึ้นเป็นร้อยละ 57 ของจีดีพี ซึ่งเกินที่กำหนดไว้ ด้วยเหตุนี้การจัดงบประมาณขาดดุลที่เกินความจำเป็นจึงไม่เป็นผลดีต่อฐานะการคลังในอนาคต แม้ส่วนที่ขาดดุลในงบประมาณปี 2554 นี้จะถูกรวมไว้ในหนี้สาธารณะดังกล่าวแล้วหรือไม่ก็ตาม
นอกจากนี้หากพิจารณาเสถียรภาพเศรษฐกิจในประเทศ ปัจจุบันอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มสูงขึ้น เนื่องจากราคาน้ำมันผันผวน ดังนั้นการจัดสรรงบประมาณขาดดุลอาจเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจมากเกินไปจนอาจเกิดปัญหาเงินเฟ้อ ซึ่งจะกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชน โดยเฉพาะคนยากจนและแรงงานที่พึ่งพาเงินเดือนประจำ
แม้เวลานี้ พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายปี 2554 ได้ผ่านการเห็นชอบจากรัฐสภาไปแล้ว แต่สิ่งที่ภาคประชาชนควรทำต่อไป คือการติดตามตรวจสอบการทำงานของภาครัฐให้นำงบประมาณไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง
ที่มาของภาพ http://phinphanatic.com/files/2009/02/money1.jpg