สไตล์การนำแบบให้เสรีภาพ

ldquo;การแหวกม่านประเพณีrdquo; หรือการคิดนอกกรอบความเคยชินหรือวิธีการเดิม ๆ นับเป็นองค์ประกอบสำคัญของการคิดสร้างสรรค์เพราะจะทำให้เราค้นพบเส้นทางใหม่ที่แตกต่างออกไปจากเดิมและใช้การได้ดีกว่า
ปัจจุบันนี้ องค์กรการทำงานไม่น้อยส่งเสริมให้พนักงานคิดสร้างสรรค์ ด้วยการจัดสภาพแวดล้อมการทำงานที่เหมาะสม การไม่ติดยึดกับกฎระเบียบหยุมหยิม เช่น การเข้าออกงาน การแต่งกาย ฯลฯ การกำหนดลักษณะและรูปแบบการทำงานที่เอื้อต่อการสร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณภาพมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการกำหนดตัว ldquo;หัวหน้างานrdquo; ที่เหมาะสม

ผู้นำที่ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ของคนในองค์กรมากที่สุด คือ ผู้นำที่มีสไตล์การนำแบบให้อิสระ หรือผู้นำแบบยอมตามใจ (Permissive style of leadership) ชอบที่จะอนุญาตให้คนทำงานคิดและดำเนินงานของตนได้ ภายใต้เป้าหมายขององค์กรที่ยอมรับร่วมกัน โดยไม่ได้ออกคำสั่ง หรือบอกว่าแต่ละคนควรทำอะไร เมื่อไหร่ อย่างไร

ผู้นำที่มีลักษณะเช่นนี้จะเหมาะสมอย่างยิ่งในการสนับสนุนทีมงานที่มีความคิดสร้างสรรค์สูง ที่สามารถตอบสนองได้เป็นอย่างดีกับสภาพแวดล้อมที่ปล่อยให้เป็นอิสระ ในขณะที่เขาสามารถรับผิดชอบตนเอง รับผิดชอบทีมงาน และรับผิดชอบงานที่ทำอยู่ให้สำเร็จตามเป้าหมายได้

ผู้นำประเภทนี้จะพยายามผลักดันผู้ร่วมงานให้ยอมรับว่า ตัวเขานั้นจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยว เพราะต้องการให้อิสระอย่างเต็มที่ ด้วยการหลีกเลี่ยงที่จะให้ทิศทางและคำแนะนำแก่ผู้ร่วมงาน แต่ทำหน้าที่เป็นเพียง ldquo;ผู้ชื่นชมผลงานrdquo; ของทีมงานที่ทำงานได้อย่างประสบความสำเร็จเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม แม้ว่า ผู้ร่วมงานจะชอบผู้นำประเภทนี้ ในส่วนที่ให้เสรีภาพในการทำงาน ความเป็นกันเอง การไม่ใช้อำนาจสั่งการ การรู้สึกว่าตนเองไม่ถูกควบคุมด้วยกฎระเบียบใด ๆ แต่ขณะเดียวกัน พวกเขาจะมองว่า ผู้นำแบบนี้เป็นผู้นำที่อ่อนแอ ไร้ความเข้มแข็ง ไร้ความสามารถ เพราะไม่ได้แสดงบทบาทที่สำคัญของผู้นำ นั่นคือ การนำ

ผู้นำที่มีลักษณะการนำเช่นนี้ มักเป็นแบบ ldquo;สุดโต่งrdquo; จนเกินไป โดยละเลยการทำหน้าที่อีกด้านหนึ่งในฐานะผู้นำ อาทิ การสื่อสารเป้าหมายของงานและขององค์ การสร้างภาระใจและแรงบันดาลใจให้ทีมงานเห็นคุณค่าการทำงาน การให้คำแนะนำ การให้คำปรึกษา และการชี้ทิศทางว่าควรจะไปทางใด จนกลายเป็นเหมือนการปล่อยปละละเลย ให้ความรับผิดชอบหลุดจากตัวเองไปสู่ทีมงาน ไม่ได้ทำหน้าที่ที่ผู้นำควรกระทำ

ยิ่งไปกว่านั้น ผู้นำลักษณะนี้จึงไม่เหมาะสมสำหรับ พนักงานที่รู้สึกว่าต้องการมีคนนำ ไม่ชอบที่จะคิดและทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยตนเองแต่ต้องการผู้นำที่จะคอยให้ทิศทาง คอยให้คำแนะนำ สนับสนุนช่วยเหลือ ดังนั้น เมื่อต้องอยู่ภายใต้ผู้นำที่มีลักษณะเช่นนี้จะเกิดความเครียด พวกเขาจะเกิดความรู้สึกว่าถูกละเลย ไม่สนใจและจะเกิดความรู้สึกไม่พอใจ เมื่อไม่ได้รับความร่วมมือและการช่วยเหลือจากหัวหน้างาน
สิ่งสำคัญที่เราควรเรียนรู้ในเส้นทางการพัฒนาภาวะผู้นำ นั่นคือ การให้เสรีภาพทีมงานเป็นสิ่งที่ดี เพราะช่วยส่งเสริมและกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ อันเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาองค์กร แต่ขณะเดียวกัน ต้องไม่ลืมบทบาทสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารวิสัยทัศน์ การชี้ให้เห็นถึงเป้าหมายที่จะไปให้ถึง การให้คำแนะนำ ปรึกษา ช่วยเหลือ สนับสนุน ที่สำคัญต้องให้ทีมงานทุกคนสัมผัสได้ว่า เราในฐานะหัวหน้านั้น ได้อยู่ร่วมหัวจมท้าย ร่วมแก้ปัญหาและตัดสินใจในเวลาคับขันได้ ไม่ได้ทิ้งพวกเขาให้เผชิญปัญหาเพียงลำพัง

เหมือนที่อเล็กซานเดอร์ เกรแฮม เบลล์ (Alexander Graham Bell) กล่าวไว้ว่า

"อย่าเอาแต่เดินตามทางที่คนอื่นเดินตลอดไป ลองออกนอกลู่นอกทางบ้าง คุณจะพบกับสิ่งที่ไม่เคยพบมาก่อน มันจะนำคุณไปสู่สิ่งอื่น ๆ ต่อเนื่องไป เป็นสิ่งที่ควรค่าแก่การคิดคำนึงถึง การค้นพบที่ยิ่งใหญ่ล้วนมาจากความคิดทั้งสิ้น"
admin
เผยแพร่: 
หนังสือพิมพ์ไทยนิวส์
เมื่อ: 
2007-07-24