ปรับหลักสูตรพื้นฐาน วางรากฐานพัฒนาผู้เรียนรู้ทันโลก
เมื่อไม่นานมานี้มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดประกาศยกเครื่องหลักสูตรครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 3 ทศวรรษที่ผ่านมา นับตั้งแต่มหาวิทยาลัยพัฒนาหลักสูตรรายวิชาพื้นฐาน (Core Curriculum) ที่ใช้มาตั้งแต่ทศวรรษที่ 1970นับเป็นอีกก้าวหนึ่งของความพยายามปรับหลักสูตรการเรียนการสอนให้ก้าวทันความท้าทายใหม่ในโลกปัจจุบัน
ปรัชญาสำคัญของการพัฒนาหลักสูตรพื้นฐานนี้ คือเพื่อให้นักศึกษาของฮาร์วาร์ดทุกคน โดยเฉพาะกลุ่มนักศึกษาปริญญาตรี ได้รับการขยายมุมมองในประเด็นที่เกี่ยวกับการใช้ชีวิตจริง เป็นการให้การศึกษาในมุมกว้าง ควบคู่ความชำนาญเฉพาะด้านทางวิชาการสาขาใดสาขาหนึ่ง ตลอดจนเข้าใจถึงวิธีคิดของแต่ละสาขาวิชา เพื่อบูรณาการความรู้ในสาขาวิชาต่าง ๆ มาใช้แก้ปัญหาและค้นหาแนวทางการพัฒนาได้สอดคล้องกับบริบทโลกในยุคปัจจุบัน และอนาคตที่ซับซ้อนขึ้นทุกขณะ
การออกแบบหลักสูตรพื้นฐานนี้น่าสนใจ เนื่องจากเป็นการสะท้อนปรัชญาการศึกษาของมหาวิทยาลัยต้องการสร้างผู้เรียนให้เป็นทั้งคนเก่ง และคนที่เข้าใจโลก โดยเชื่อว่า หลักสูตรพื้นฐานนี้จะช่วยเติมเต็มสิ่งที่ผู้เรียนสนใจ และเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาในระดับที่สูงขึ้น
ความโดดเด่นของหลักสูตรนี้ต่างจากหลักสูตรทั่วไป[1] คือ การเรียนการสอนจะไม่ได้จำกัดขอบเขตทางวิชาการไว้ที่ความรู้ชุดใดชุดหนึ่ง หรือ ความรู้ลึกซึ้งด้านใดด้านหนึ่ง หากแต่เป็นการเรียนการสอนที่ให้ความสำคัญกับกระบวนการค้นหา สืบค้นความรู้ ในสาขาวิชาที่เชื่อว่าขาดไม่ได้สำหรับการศึกษาระดับปริญญาตรี ตลอดจนชี้ให้เห็นวิธีการวิเคราะห์ ประโยชน์ และคุณค่าของการเข้าถึงความรู้ด้วยวิธีการต่าง ๆ
ส่งเสริมการพัฒนาความรู้หลากหลายสาขา มหาวิทยาลัยกำหนดให้นักศึกษาปริญญาตรีทุกคนต้องเลือกเรียนวิชาพื้นฐานอย่างน้อย 1 ใน 3 ของการเรียนการสอนทั้งหลักสูตร สามารถเลือกเรียนในหมวดต่าง ดังนี้ วัฒนธรรมต่างชาติ (foreign cultures) ประวัติศาสตร์ศึกษา (historical study) วรรณกรรมและศิลปะ (literature and arts)การใช้เหตุผลเชิงคุณธรรม (moral reasoning) การใช้เหตุผลเชิงตัวเลข (quantitative reasoning) วิทยาศาสตร์ (science) และ การวิเคราะห์สังคม (social analysis)
แต่ละวิชาในหมวดต่าง ๆ นี้ ไม่ได้เป็นเพียงวิชาพื้นฐานทั่วไป แต่เป็นวิชาในประเด็นแคบลง อาทิ ในหมวดวิทยาศาสตร์ มีวิชา Human Evolution, Reality Physics ในหมวดประวัติศาสตร์ มีวิชา International Conflict and Cooperation ในหมวดวัฒนธรรมต่างชาติ มีวิชา Popular Culture in Modern China และ Modern South Asian Global History เป็นต้น
ส่งเสริมความเข้าใจวัฒนธรรมที่แตกต่าง จุดมุ่งหมายอีกประการของการปรับปรุงหลักสูตรพื้นฐานนี้มาจากการถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า ในอดีตการเรียนการสอนของฮาร์วาร์ด มุ่งเน้นประเด็นทางวิชาการ หลักสูตรแนวใหม่นี้จึงมุ่งหวังให้นักศึกษาไปใช้ชีวิตในต่างประเทศก่อนจะจบการศึกษา เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับส่วนอื่น ๆ ของโลก และมุมมองที่คนอื่นมองสหรัฐฯ เป็นการสร้างนักศึกษาที่จะต้องใช้ชีวิตและทำงานในทั่วทุกมุมโลก ในฐานะพลเมืองของโลก ดังตัวอย่างเช่น คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาจะต้องไปใช้ชีวิตในต่างประเทศ ก่อนจบการศึกษา
ส่งเสริมการเรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญที่หลากหลาย ไม่เพียงการเรียนการสอนจะส่งเสริมให้นักศึกษาแสดงความคิดเห็น อภิปรายประเด็นต่าง ๆ อย่างเต็มที่เท่านั้น แต่การสอนในแต่ละวิชาจะมีอาจารย์ที่มีชื่อเสียงมาร่วมสอน ทำให้นักศึกษาได้เรียนรู้เกี่ยวกับวิธีคิดของนักคิดจากหลากหลายสำนัก ประกอบกับความมีชื่อเสียงของคณาจารย์เหล่านั้น เป็นแรงดึงดูดให้นักศึกษาเลือกเรียนในวิชาต่าง ๆ ยกตัวอย่างเช่น ศ.อมาตยะ เซน นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล สอนวิชา ldquo;Modern South Asian Global Historyrdquo; ศ.ไมเคิลเฮอร์ซเฟลด์ อาจารย์ประจำภาควิชามานุษยวิทยา ซึ่งคนไทยส่วนหนึ่งรู้จักท่านดี เพราะท่านมีความสนใจส่วนตัวเกี่ยวกับประเทศไทยอย่างมาก สอนวิชา ldquo;Cultures of Southern Europerdquo;
ส่งเสริมการพัฒนามิติคุณธรรม หลักสูตรพื้นฐานนี้ได้พยายามสอดแทรกเนื้อหาในเชิงคุณธรรมในทุกหมวด ตัวอย่างเช่น การเรียนในหมวดการใช้เหตุผลเชิงคุณธรรม จะพยายามให้นักศึกษามองเห็นมุมมองด้านศีลธรรมในการดำรงชีวิตประจำวัน ในขณะที่วิชาในหมวดวัฒนธรรมต่างประเทศ จะชี้ให้นักศึกษาเห็น เข้าใจ และนับถือแนวคิดและคุณค่าต่าง ๆ ในวัฒนธรรมที่ต่างจากพื้นเพชุมชนของตน
สะท้อนสู่หลักสูตรการศึกษาของมหาวิทยาลัยไทย ที่ผมเห็นว่า ควรมีการขยายกรอบการจัดหลักสูตรของแต่ละคณะ อาทิเช่น
เปิดทางให้ผู้เรียนที่ต้องการศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา และเริ่มเรียนปีที่ 1 เลือกเรียนในวิชาพื้นฐานในหมวดที่สนใจก่อนที่จะเลือกสาขาเจาะจง เพื่อให้ผู้เรียนได้ทดลองเรียนและรู้จริงว่าตนเองถนัดและสนใจวิชาใด และปีถัดไปจึงให้เลือกคณะสาขาที่ต้องการไม่บังคับผู้เรียนตั้งแต่แรกเข้า
การจัดทำ Module[2] หลักสูตร หรือการตัดเสื้อให้พอดีตัว โดยเริ่มจากการวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากการทดสอบผู้เรียน เพื่อจัดวิชาที่ควรจะเรียนให้เหมาะสมกับสภาพความพร้อมของผู้เรียนแต่ละคน เปิดกว้างให้ผู้เรียนเลือกวิชาที่สนใจหรือถนัดได้อย่างเสรี
การที่มหาวิทยาลัยไม่ยึดติดกับแผนการสอนในอดีต แต่หันมาให้ความสำคัญกับการวางพื้นฐานทักษะที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิต และการเรียนต่อในระดับสูงขึ้น อันเป็นการสร้างโอกาสให้ผู้เรียน ได้รับการพัฒนาความรู้ความสามารถได้ตามความถนัดและสนใจ จึงเป็นแนวทางหนึ่งที่ควรพิจารณา เพื่อให้มหาวิทยาลัยไม่เพียงก้าวขึ้นสู่การแข่งขันในระดับเวทีโลกได้ แต่ยังเป็นส่วนสนับสนุนให้มหาวิทยาลัยเป็นที่ยอมรับว่าเป็น ldquo;เรือนเพาะชำทางปัญญาrdquo; อย่างเต็มภาคภูมิ
[1] ldquo;About the Core Programrdquo; . The President and Fellows of Harvard College
[2] แนวคิดนี้นำเสนอใน เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์. เอกสารประกอบการบรรยายเรื่อง ldquo;ปฏิรูปการศึกษาhellip;ปฏิรูอะไร hellip;ปฏิรูปอย่างไร ในสาขาบริหารการศึกษาrdquo; โครงการบัณฑิตศึกษาภาคพิเศษ สาขาวิชาการบริหารการศึกษา มหาวิทยาลัยนเรศวร โรงแรมเชียงใหม่ภูคำ 7 กันยายน 2540 หน้า 16และใน เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์. จอมปราชญ์นักการศึกษา : สังเคราะห์ วิเคราะห์ และประยุกต์แนวพระราชดำรัสด้านการศึกษาและการพัฒนาคน, กรุงเทพฯ : ซัคเซสมีเดีย 2543 หน้า 65-66
เผยแพร่:
สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
เมื่อ:
2007-08-10