พัฒนาคุณธรรมผู้เรียนครบวงจร? เส้นทางที่ต้องก้าวเดิน
หน้าที่สำคัญของการจัดการศึกษาคือการพัฒนาคนที่เป็นคนเก่ง คนดีและมีความสุข ดังที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติพุทธศักราช 2542 แม้ว่าตั้งแต่ปฏิรูปการศึกษาเป็นต้นมา กระทรวงศึกษาธิการ จะให้ความสำคัญกับการพัฒนาจริยธรรมในสถานศึกษา แต่การจัดการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมในสถานศึกษาที่ผ่านมายังไม่ได้ผลเท่าที่ควร
เมื่อปี 2549 ผมเป็นที่ปรึกษาโครงการวิจัยเรื่อง ldquo;การพัฒนาการเรียนการสอนคุณธรรมจริยธรรมในผู้เรียนrdquo; ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนวิจัยจากศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม งานวิจัยนี้ศึกษาเกี่ยวกับวิธีการพัฒนาการสอนคุณธรรมจริยธรรมในผู้เรียน เพื่อนำไปปรับปรุงการจัดการเรียนการสอนด้านคุณธรรมจริยธรรม จากการวิจัยมีข้อค้นพบระหว่างการวิจัยในหลายประการที่สำคัญ ที่อาจจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาการสอนคุณธรรมจริยธรรม สรุปได้ดังนี้
การกำหนดเป้าหมายพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมในผู้เรียนในแต่ละช่วงชั้นที่ชัดเจน สอดคล้องตามพัฒนาการผู้เรียนและต่อเนื่องเชื่อมสู่ช่วงชั้นที่สูงขึ้น รวมถึงมีมาตรการในการสร้างความรู้และความเข้าใจ ให้ครู ผู้บริหารการศึกษา และผู้เกี่ยวข้องในการพัฒนาการสอนคุณธรรมจริยธรรมแก่ผู้เรียนด้วย
การพัฒนารูปแบบการสอนคุณธรรมจริยธรรมแต่ละสถานศึกษาจะต่างกัน ขึ้นกับปัจจัยหลายประการ มิใช่เฉพาะปัจจัยการสอนในชั้นเรียนเท่านั้น แต่เกี่ยวกับบริหารจัดการสถานศึกษา ศักยภาพและทรัพยากรสถานศึกษาและชุมชนร่วมด้วย โดยควรวิเคราะห์ประเมินทรัพยากรสถานศึกษาและองค์กรในพื้นที่/ชุมชนว่ามี จุดแกร่ง จุดอ่อน โอกาส และความเสี่ยงใดบ้างที่จะนำมาใช้อย่างคุ้มค่าในการพัฒนารูปแบบการสอนคุณธรรมจริยธรรม
การกำหนดมาตรการสนับสนุนจากกระทรวงศึกษาธิการที่ชัดเจนในการกำหนดนโยบายและการสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดเป้าหมายพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมผู้เรียนแต่ละช่วงชั้น การปรับเปลี่ยนสาระการเรียนรู้โดยลดเนื้อหาทางวิชาการและมุ่งพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมมากขึ้น การกำหนดนโยบายและมอบหมายให้เขตพื้นที่การศึกษามีแผนงานและโครงงานชัดเจนในการพัฒนางานสอนคุณธรรมจริยธรรม การสนับสนุนการวิจัยเพื่อพัฒนารูปแบบการสอนคุณธรรมจริยธรรม การจัดทำคู่มือพื้นฐานในการเพิ่มประสิทธิภาพสอนคุณธรรมจริยธรรม การพัฒนาระบบวัดและประเมินผลผู้เรียนด้าน จิตพิสัยที่ชัดเจน การพัฒนาระบบติดตามและประเมินผลสถานศึกษาในการสอนคุณธรรมจริยธรรม การพัฒนาระบบการวัดและประเมินผลคุณธรรมจริยธรรมของครูและผู้บริหาร เป็นต้น
การบูรณาการศาสตร์ต่าง ๆ เข้ามาพัฒนาการสอนคุณธรรมจริยธรรม การพัฒนาการสอนคุณธรรมจริยธรรมในผู้เรียน มีความซับซ้อนต้องใช้ข้อมูลและองค์ความรู้หลายสาขาประกอบกัน โดยเฉพาะในระยะแรกของการพัฒนา จึงต้องสนับสนุนการนำเสนอและแลกเปลี่ยนความเห็นจากนักวิชาการหลายสาขาอย่างเป็นระบบ เพื่อพัฒนาการจัดการเรียนการสอนคุณธรรมจริยธรรม ไม่ว่าจะเป็นศาสตร์สาขาด้านจิตวิทยา ด้านสังคมและมนุษย์ศาสตร์ ด้านการศึกษา ด้านเศรษฐศาสตร์ ด้านการสังคมสงเคราะห์ ด้านการพัฒนาชุมชน ด้านปรัชญา ด้านการบริหารจัดการ ฯลฯ
การจัดสรรทรัพยากรจากทุกองคาพยพร่วมกัน ที่ผ่านมาพบว่าการจัดการสอนคุณธรรมจริยธรรมในหลายสถานศึกษาไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เนื่องด้วยความจำกัดทางทรัพยากรของสถานศึกษา ในขณะที่มีหลายหน่วยงาน/องค์กรมีทรัพยากรที่สามารถนำมาใช้ร่วมกันได้ โดยนำมาต่อยอดองค์ความรู้ และใช้ทรัพยากรที่มีอยู่มาใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่า โดยเฉพาะองค์กรในพื้นที่/ชุมชน เช่น องค์กรทางศาสนา องค์กรชุมชน องค์กรที่ทำงานด้านการพัฒนาทางวัฒนธรรม องค์กรการพัฒนาและปรับพฤติกรรมกลุ่มเด็กที่มีปัญหาคุณธรรมจริยธรรม เป็นต้น
การเชื่อมต่อการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมจากปฐมวัยถึงการอุดมศึกษา อย่างสอดคล้องกัน โดยประสานงานกับหน่วยงานการจัดการศึกษาของเด็กปฐมวัย ให้พัฒนาคุณธรรมจริยธรรมที่ชัดเจนและมีคุณภาพ โดยเฉพาะช่วงวัย 3-6 ปี ซึ่งเป็นวัยสำคัญพื้นฐานพัฒนาคุณธรรมจริยธรรม และกำหนดเกณฑ์คัดเลือกเข้าศึกษาต่อระดับอุดมศึกษา ให้พิจารณาสัดส่วนคะแนนคุณธรรมจริยธรรมของผู้สมัครสอบร่วมด้วย เช่น ประสบการณ์เข้าร่วมกิจกรรมการสาธารณะ การเคยทำประโยชน์ต่อผู้อื่นหรือชุมชน ฯลฯ
การจัดกิจกรรมเสริมที่หลากหลาย แม้จะมีการพัฒนาการสอนในห้องเรียนมากสักเพียงใด อาจไม่เพียงพอต่อการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมให้เกิดขึ้นในผู้เรียนได้ แต่ควรจัดกิจกรรมเสริมอื่นร่วมด้วย โดยใช้ศักยภาพและทรัพยากรของสถานศึกษาและชุมชนให้เกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่า มีการจัดอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งควรจัดกิจกรรมที่ผู้เรียนมีความถนัดและสนใจ และมีระบบการสอดแทรกการสอนคุณธรรมจริยธรรมร่วมด้วย เช่น การมีตัวแทนครู ตัวแทนผู้ปกครองหรือคณะกรรมการสถานศึกษา เข้าไปมีส่วนให้คำปรึกษา หรือเป็นกรรมการชมรม/โครงงานกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อมีส่วนร่วมในการสอดแทรกเนื้อหา แนวคิดการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมให้ผู้เรียน
การพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมร่วมกับสถาบันครอบครัว สถานศึกษาควรสร้างความร่วมมือกับผู้ปกครองอย่างใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมควบคู่กับการพัฒนาทางวิชาการอย่างสมดุล การให้ความรู้ความเข้าใจแก่พ่อแม่/ผู้ปกครองเบื้องต้นเกี่ยวกับการพัฒนาคุณธรรมให้บุตรหลาน การมีส่วนร่วมสอดส่องดูแลความประพฤติ และระแวดระวังปัจจัยเสี่ยง รวมถึงการสร้างความร่วมมือประเมินผลจิตพิสัยบุตรหลาน และให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาผู้เรียน โดยเฉพาะกลุ่มผู้เรียนกลุ่มเสี่ยง เป็นต้น
การมุ่งหาแนวทางเชิงรุก หน่วยงานที่มีบทบาทดำเนินการเชิงรุกคือกระทรวงต่าง ๆ ในการดำเนินการรวบรวม วิเคราะห์และสังเคราะห์ประเด็นท้าทายคุณธรรม การพัฒนาดัชนีชี้วัดระดับคุณธรรมจริยธรรมเพื่อส่งสัญญาณสู่ระบบการศึกษา การสนับสนุนการขยายผลแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงสู่การสอนคุณธรรมจริยธรรม รวมถึงการกำหนดกฎหมายและมาตรการนำเสนอสื่อทางสร้างสรรค์ เป็นต้น
ถึงเวลาแล้วที่การสอนคุณธรรมจริยธรรม ต้องมีการปฏิรูปการจัดการเรียนการสอนคุณธรรมทั้งระบบการศึกษา ตั้งแต่ระดับครูผู้สอน สถานศึกษา เขตพื้นที่การศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ จนถึงระดับรัฐบาล โดยจัดสรรและใช้ทรัพยากรองค์กรหรือหน่วยงานทุกระดับที่เกี่ยวข้อง มีการต่อยอดและพัฒนาจากทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์คุ้มค่า อันจะทำให้การพัฒนารูปแบบการสอนคุณธรรมจริยธรรมเป็นไปอย่างมีคุณภาพ มีโอกาสสำเร็จ และสอดคล้องตามสภาพปัญหาและความต้องการชุมชนและสังคมไทย
เผยแพร่:
การศึกษาวันนี้
เมื่อ:
2007-08-09