เมืองน่าอยู่: เมลเบิร์นเมืองแห่งการเรียนรู้

....เมืองน่าอยู่......คือ เมืองที่มีความพร้อมในการรองรับการเจริญเติบโตในทางธุรกิจ ความสะดวกสบายในด้านขนส่งมวลชน มีคุณภาพชีวิตที่ดีของคนในเมือง

จากประสบการณ์ที่ผมเคยใช้ชีวิตอยู่ในเมืองเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย ในช่วงที่ผมเรียนปริญญาตรีถึงปริญญาเอกในมหาวิทยาลัยมอแนช ทำให้ผมไม่แปลกใจว่า เหตุใดเมืองนี้จึงได้รับการจัดอันดับจาก สถาบัน Mercer Human Resource Consulting ในปี 2007 ว่าเป็นเมืองน่าอยู่อันดับที่ 17ซึ่งอยู่ในอันดับที่เหนือกว่าหลายเมืองในประเทศในแถบยุโรป หรือประเทศในแถบสแกนดิเนเวีย ดังเช่น เมืองเฮลซิงกิ (Helsinki) ประเทศฟินแลนด์ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นเมืองที่น่าอยู่ในสายตาของใครหลายคนทั่วโลกและในการจัดอันดับของเมืองน่าอยู่ในปีที่ผ่าน ๆ มาเมืองเมลเบิร์นยังคงรักษามาตรฐานของตนเองโดยที่ยังคงเป็น 1 ใน 20 อันดับต้น ๆ

นอกเหนือจากความสวยงาม น่าอยู่ มีความเป็นระบบระเบียบของเมืองแล้ว เสน่ห์อีกประการหนึ่งของเมืองเมลเบิร์น คือ เป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ เห็นได้จากการมีแหล่งการศึกษาทุกระดับและมีแหล่งเรียนรู้ตามอัธยาศัยเป็นจำนวนมาก ส่วนสำคัญเกิดจากการที่ผู้ว่าการเมืองนี้ในแทบทุกยุคทุกสมัยต่างมีวิสัยทัศน์ที่ต้องการพัฒนาเมือง ให้เป็นเมืองความรู้ควบคู่บันเทิงและการพักผ่อน ในปัจจุบันเมืองนี้จึงได้พัฒนาและจัดระบบการเรียนรู้ก้าวหน้าไปมาก สามารถดึงดูดผู้คนจากทั่วโลกให้หลั่งไหลสู่เมืองนี้ในแต่ละปีเป็นจำนวนมาก และสร้างเม็ดเงินมหาศาล สามารถนำไปพัฒนาแหล่งเรียนรู้ให้มีคุณภาพมากขึ้น

จากความสำเร็จของเมืองเมลเบิร์นนำไปสู่คำถามว่า เมืองเมลเบิร์นมีลักษณะของการจัดระบบการศึกษาและการเรียนรู้อย่างไร จึงสามารถพัฒนาระบบดังกล่าวได้อย่างมีคุณภาพและมีชื่อเสียงไปทั่วโลก จากประสบการณ์ในช่วงที่ผมศึกษาอยู่ ผมพบว่าสาเหตุที่ทำให้เมลเบิร์นเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ ได้แก่

แหล่งเรียนรู้ตามอัธยาศัยที่หลากหลาย

ในส่วนของเมืองเมลเบิร์น สถานศึกษาทุกระดับตั้งแต่ก่อนอนุบาล จนถึงมหาวิทยาลัย โดยมีการศึกษาถึงระดับหลังปริญญาเอก (post doctoral degree) โดยแต่ละสถานศึกษาได้รับการพัฒนาอย่างมีคุณภาพ นอกจากนี้การเรียนรู้ของคนในสังคม มิได้หยุดอยู่เพียงภายในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย แต่มีการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ตามอัธยาศัยในหลากหลายรูปแบบสำหรับให้ผู้คนทุกเพศทุกวัย เช่น สวนสาธารณะขนาดใหญ่ที่เป็นแหล่งพักผ่อนและเรียนรู้โดยมีกิจกรรมที่หลากหลาย การมีพิพิธภัณฑ์ที่มีชื่อเสียงหลายแห่ง คือ พิพิธภัณฑ์เมลเบิร์น (Melbourne Museum) พิพิธภัณฑ์การอพยพย้ายถิ่น (Immigration Museum) พิพิธภัณฑ์แสดงผลงานทางวิทยาศาสตร์ (Scienceworks Museum) และหอดูดาว (Melbourne Planetarium) การมีศูนย์กลางการว่ายน้ำ กีฬาและแหล่งบันเทิงต่าง ๆ

แหล่งเรียนรู้ที่พัฒนาต่อเนื่อง

หน่วยงานต่าง ๆ พยายามพัฒนาแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ ของตน ให้มีคุณภาพระดับสูง ซึ่งมิได้เป็นเพียงแหล่งข้อมูลที่ให้ข้อมูล ความรู้ แต่ยังมีการพัฒนาการคิดให้ผู้เข้าชม โดยแทบจะทุกแห่งมีการบริหารงานและการทำงานวิชาการรองรับเพื่อพัฒนาให้เป็นแหล่งเรียนรู้ควบคู่การพักผ่อนหย่อนใจ มิใช่เป็นการให้แต่เศษความรู้หรือข้อมูลเท่านั้น เนื่องจากหน่วยงานต่าง ๆ มีความพยายามจัดทำบทเรียน คู่มือการเข้าชม วีดีทัศน์ วีดีโอ การใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ในการสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ เช่น ห้องสมุดของมลรัฐวิคตอเรีย (State Library of Victoria) มีการจัดทัวร์เรียนรู้ที่น่าสนใจ มีการจัดตั้งหน่วยงานพิเศษดูแลบางเรื่องโดยเฉพาะ เช่น หน่วยงานที่ทำหน้าที่ดูแลหอศิลป์ หน่วยงานดูแลกิจการห้องสมุด เป็นต้น

แหล่งเรียนรู้ที่เข้าถึงได้ง่าย

แหล่งการศึกษาและแหล่งเรียนรู้ของเมืองเมลเบิร์น แม้จะมีจำนวนมากและมีการให้บริหารจัดการที่หลากหลาย แต่เมลเบิร์นได้มีการจัดทำเว็บไซด์ เอกสาร แผ่นพับต่าง ๆ เกี่ยวกับแหล่งการศึกษาและเรียนรู้ทั้งหมดไว้อย่างเป็นระบบในที่เดียวกัน รวมถึงการพัฒนาระบบโทรศัพท์สายด่วนเพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ ทำให้ง่ายต่อการค้นหาและเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับแหล่งเรียนรู้ของเมืองนี้ นอกจากนี้ยังมีแผนที่ที่ตั้งของสถานที่ต่าง ๆ เพื่อสร้างความสะดวกสบายต่อผู้ที่ต้องการไปสถานที่ต่างๆ เหล่านั้น
นอกจากนี้ การจัดกิจกรรมการศึกษาและเรียนรู้ของแหล่งกิจกรรมต่าง ๆในเมืองเมลเบิร์น เช่น การจัดทัศนะศึกษา หรือจัดทัวร์เที่ยวชมสถานที่ต่าง ๆ เช่น พิพิธภัณฑ์ จะมีการเก็บค่าเข้าชม หรือค่าการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพียงเล็กน้อย โดยส่วนใหญ่จะจัดเก็บจากกลุ่มนักท่องเที่ยวหรือนักเรียนต่างชาติ ซึ่งการจัดเก็บค่าธรรมเนียมส่วนนี้จะเป็นส่วนที่ทำให้สถานที่ต่าง ๆ มีรายได้สำหรับการทำนุบำรุงสถานที่หรือเพื่อการพัฒนาสถาน แต่ในส่วนคนในเมืองหรือคนในประเทศ ออสเตรเลียไม่เสียค่าใช้จ่ายในการเข้าชม โดยเฉพาะกลุ่มนักเรียนหรือครู เนื่องจากเป็นกิจการสาธารณะที่รัฐเห็นความสำคัญที่จะมีส่วนพัฒนาคนเมืองนี้ และเพื่อดึงดูดให้คนเมืองนี้เข้ามาใช้บริการ

จากการบริหารจัดการให้บริการต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนให้คนในสังคมได้เรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้ในเชิงวิชาการ หรือ การเรียนรู้ในรูปแบบอื่น ๆ แสดงให้เห็นถึงสภาพการจัดการระบบที่ดี ที่ส่งเสริมให้เมลเบิร์นกลายเป็นเมืองแห่งการศึกษาและเรียนรู้ที่มีชื่อเสียง

เมลเบิร์นนับเป็นเมืองที่น่าเลียนแบบ ด้วยการพัฒนาให้กรุงเทพฯ ของเราเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ คนกรุงเทพฯรักการเรียนรู้ โดยทางกรุงเทพมหานครควรส่งเสริมให้เกิดแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลาย มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และสามารถเข้าถึงได้ง่าย อาทิ การพัฒนาให้ทุกสวนสาธารณะเป็นแหล่งเรียนรู้ของประชาชนด้วย โดยที่แต่ละแห่งจะเน้นการเรียนรู้เรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยเฉพาะ การพัฒนาห้องสมุดเฉพาะทาง ที่มีอยู่แล้วให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น และการพัฒนาให้ พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นซึ่งตอนนี้มีอยู่ทั่ว กทม.แล้ว กลายเป็นแหล่งเรียนรู้อีกแห่งหนึ่งที่มีชีวิตชีวา มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องหรือการสนับสนุนให้เกิดแหล่งเรียนรู้ที่ทันสมัยสำหรับประชาชนทั่วไป เช่นเดียวกับ TK Park ที่เปรียบเสมือนแหล่งเรียนรู้ที่ครบวงจร ให้เกิดขึ้นตามเขตต่าง ๆ ทั่วกรุงเทพฯ เป็นต้น

ขณะเดียวกัน ที่สำคัญอย่างยิ่ง คือ การส่งเสริมให้คนของเราเป็นคนที่รักการเรียนรู้ เป็นคนที่พร้อมจะพัฒนาตนเองเพื่อให้รู้เท่าทันโลกได้อย่างต่อเนื่อง
ดังนั้น หากกรุงเทพฯ มีแหล่งการศึกษาและแหล่งเรียนรู้จำนวนมากและหลากหลาย พร้อม ๆ กับการมีประชาชนที่รักเรียนรู้ ย่อมสามารถส่งเสริมให้กรุงเทพมหานครเป็น ldquo;มหานครแห่งความรู้rdquo; ได้ไม่ยาก
admin
เผยแพร่: 
สวัสดีกรุงเทพ
เมื่อ: 
2007-08-06