แนวทางช่วยคนทำงานเพื่อสังคมให้พึ่งตนเองได้

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
kriengsak@kriengsak.com, http:// www.kriengsak.com

จากข้อมูลที่ได้สัมภาษณ์ผู้บริหารขององค์กรสาธารณะประโยชน์ในประเทศไทย พบว่าองค์กรที่ดำเนินกิจกรรมเพื่อสาธารณะประโยชน์หรือองค์กรสาธารณะกุศลที่มีขนาดใหญ่ทั้งในแง่ของเงินทุนและบุคลากร และที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก จะได้รับการยอมรับและความเชื่อถือจากผู้สนับสนุน มากกว่าองค์กรที่มีขนาดเล็ก เช่น องค์กรชาวบ้าน หรือกลุ่มชมรมเพื่อสังคมต่าง ๆ องค์กรขนาดเล็กเหล่านี้ต้องประสบกับความยากลำบากในการดำเนินงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขาดแคลนเงินทุนหรือการได้รับสนับสนุนทรัพยากรต่าง ๆ อย่างเพียงพอ ซึ่งมีผลทำให้บุคลากรที่มีความตั้งใจดีส่วนหนึ่งต้องยุติบทบาทของตนเองในการทำงานเพื่อสังคมลง เนื่องจากไม่สามารถแบกรับภาระและความรับผิดชอบด้านการเงินที่มีอยู่เป็นจำนวนมากนี้ได้ แม้ว่าคนเหล่านี้จะมีความตั้งใจดีที่อยากจะช่วยเหลือสังคมก็ตาม

แนวคิดการบริหารงานแบบวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) เป็นแนวคิดที่มุ่งส่งเสริมให้เกิดความต่อเนื่องในการทำงานและการพึ่งพาตนเองได้ขององค์กรที่มีวัตถุประสงค์เพื่อสังคมเพื่อให้ผู้ที่ทำงานเพื่อสังคมสามารถดำรงกิจการต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง ด้วยการสนับสนุนให้องค์กรที่มีภารกิจเพื่อสังคมเหล่านี้นำทักษะเชิงธุรกิจมาใช้พัฒนาช่องทางในการหารายได้และสามารถเลี้ยงดูตนเองได้ โดยที่บางองค์กรอาจจะทำงานในลักษณะของหน่วยงานธุรกิจที่หารายได้ มีกำไร และจำกำไรมาจัดสรรเป็นสวัสดิการให้กับบุคลากรขององค์กร หรือบางองค์กรอาจจะใช้วิธีการทางธุรกิจในการผลิตสินค้าหรือจัดสรรบริการให้กับลูกค้าหรือผู้รับบริการ โดยได้รายได้หรือค่าบริการเป็นการตอบแทน แนวทางเหล่านี้จะช่วยให้องค์กรเหล่านี้มีรายได้และได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องเพียงพอ จนสามารถดูแลบุคลากรที่ทำงานให้กับองค์กรได้เป็นอย่างดี รวมทั้ง ยังช่วยลดความกดดันในการทำงานที่จะเกิดขึ้นกับคนทำงานในเรื่องของภาระค่าใช้จ่ายต่าง ๆ อีกทางหนึ่ง ซึ่งก็จะช่วยพัฒนาและรักษาความตั้งใจดีของบุคคลเหล่านี้ให้สามารถดำรงอยู่ได้และมีความเข้มแข็งมากขึ้น

ภาพลักษณ์ของคนทำงานเพื่อสังคมที่ถูกกำหนดให้ต้องต่อสู้กับความยากลำบากเพียงลำพัง โดยไม่ได้รับการดูแลเอาใจใส่ มีรายได้น้อย ไม่มีสวัสดิการและความมั่นคงในชีวิต จนเป็นเหตุทำให้คนทำงานเพื่อสังคมหลายคนหมดไฟ และหมดความตั้งใจ ควรจะต้องเปลี่ยนไป ตราบใดที่ปัญหาสังคมยังเป็นเรื่องที่ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยภาคส่วนใดภาคส่วนหนึ่ง แต่ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจและการผนึกกำลังร่วมกันของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มคนทำงานในพื้นที่ที่มีความเข้าใจและอยู่ใกล้ชิดกับปัญหา การส่งเสริมให้คนทำงานเพื่อสังคมที่มีอยู่สามารถทำหน้าที่ของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีประสิทธิผล และมีกำลังใจในการทำงาน จึงนับได้ว่าเป็นสิ่งที่มีความสำคัญและจำเป็นกับการทำงานเพื่อสังคมในประเทศไทยปัจจุบันและที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต

admin
Catagories: 
เผยแพร่: 
พิมพ์ไทย
เมื่อ: 
2009-04-22