โฉมหน้าใหม่ของการทำงานเพื่อสังคมในประเทศไทย
หากนับย้อนหลังกลับไปตั้งแต่เริ่มมีองค์กรสาธารณประโยชน์เกิดขึ้นในประเทศไทยจนกระทั่งถึงปัจจุบัน สิ่งที่เป็นประเด็นปัญหาสำคัญ ซึ่งเกิดขึ้นมาตลอดกับการดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคมขององค์กรประเภทนี้ ก็คือ ปัญหาการขาดแคลนเงินทุนในการดำเนินการและการไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจริงจัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ประเทศต้องประสบกับปัญหาภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอย่างเช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ก็ยิ่งส่งผลทำให้ยอดเงินบริจาคและเงินทุนสนับสนุนที่องค์กรประเภทนี้เคยได้รับ ยิ่งมีจำนวนลดน้อยลงตามไปด้วย
ปัจจุบันมีองค์กรสาธารณประโยชน์ในประเทศไทยอีกเป็นจำนวนมากที่ยังคงไม่สามารถพาตนเองให้หลุดพ้นจากกรอบความคิดเชิงพึ่งพิงเงินบริจาคและการสนับสนุนจากภายนอก ซึ่งไม่มีความต่อเนื่องและเป็นแบบเบี้ยหัวแตกนี้ได้ ที่เหลือนอกจากนี้ก็ยังคงยึดติดอยู่กับแนวความคิดเดิมที่ยังคงมองว่า การดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคมกับการดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจ เป็นเรื่องที่ต้องแยกออกจากกัน เนื่องจากแนวทางดังกล่าวขัดแย้งกับวัตถุประสงค์หรือภารกิจขององค์กร ในขณะที่อีกบางส่วน แม้จะเห็นด้วยกับแนวคิดการดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจเพื่อให้สามารถเลี้ยงดูตัวเองได้อย่างยั่งยืน แต่ก็ขาดทักษะ ความชำนาญเชิงธุรกิจและการได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐอย่างเพียงพอ ทำให้ไม่สามารถแข่งขันได้ในตลาดเพื่อสังคมนี้
ผมคิดว่าปัญหาการดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคมในประเทศไทยที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่ เป็นปัญหาที่จะต้องได้รับการเปลี่ยนแปลงแก้ไขในระดับกระบวนทัศน์หรือวิธีคิด และในเชิงยุทธศาสตร์การดำเนินงานของภาครัฐ ซึ่งผมได้นำเสนอและผลักดันแนวคิดการดำเนินงานแบบผู้ประกอบการเพื่อสังคม (Social Entrepreneur) หรือวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) นี้มาตลอดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 ด้วยหวังที่จะให้เป็นอีกหนึ่งกลไกสำหรับแก้ไขปัญหาดังกล่าว ในขณะเดียวกันก็เพื่อเป็นการเตรียมรองรับกับปัญหาสังคมที่จะมีความสลับซับซ้อนมากขึ้นในอนาคต ซึ่งการใช้กระบวนทัศน์หรือวิธีคิดแบบเดิมอาจจะไม่สามารถแก้ไขได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผลสูงสุด
แนวคิดแบบผู้ประกอบการเพื่อสังคม (Social Entrepreneur) หรือวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) ที่ผมกล่าวถึงนี้ เป็นแนวคิดที่มุ่งส่งเสริมให้เกิดความยั่งยืนในกระบวนการแก้ไขปัญหาสังคมและมีเป้าหมายเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทั้งระบบ ด้วยการส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการนำทักษะเชิงธุรกิจมาใช้เป็นเครื่องมือเพื่อแก้ไขปัญหาสังคมอย่างเฉพาะเจาะจง ทั้งนี้ เพื่อให้องค์กรที่มีภารกิจเพื่อสังคมเหล่านี้สามารถเลี้ยงดูตนเองได้อย่างยั่งยืนและเข้มแข็ง ด้วยการมุ่งให้เกิดความสำเร็จทั้งในเชิงสังคมและในเชิงธุรกิจไปพร้อม ๆ กัน
การดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคมในประเทศไทยจำเป็นที่จะต้องได้รับการเปลี่ยนโฉมหน้าใหม่ โดยอาศัยกระบวนทัศน์และวิธีคิดแบบใหม่ เพื่อให้การแก้ไขปัญหาสังคมที่มีอยู่และที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต สามารถทำได้อย่างเข้าถึง เข้าใจและยั่งยืน อันจะนำมาซึ่งสวัสดิภาพและคุณภาพสังคมที่ดีต่อไป
** นำมาจากหนังสือพิมพ์ พิมพ์ไทย ตีพิมพ์เมื่อวันศุกร์ที่ 3 เมษายน พ.ศ.2552