ฮาร์วาร์ด: อาณาจักรสร้างและกระจายผลวิจัยสู่ระดับนานาชาติ

ข้อเขียนเรื่องที่ผ่านมา ผมได้กล่าวถึง บรรยากาศของการสร้างผลงานวิจัยในมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด โดยทั้งครูและศิษย์ต่างได้รับแรงกระตุ้นให้แข่งขันความเก่งด้วยงานวิจัย ส่งผลให้มหาวิทยาลัยมีความโดดเด่นทางวิชาการ มีผลงานรับรองคุณภาพจำนวนไม่น้อย เห็นได้จากบุคลากรของมหาวิทยาลัยที่ได้รับรางวัลโนเบล 75 รางวัล รางวัลพูลิตเซอร์ 15 รางวัล รวมถึงได้รับการจัดอันดับให้เป็นที่ 1 จากThe Academic Ranking of World Universities โดยมหาวิทยาลัยเซี่ยงไฮ้เจียวถง (Shanghai Jiao Tong University)ซึ่งเป็นการจัดอันดับคะแนนตามเกณฑ์ ประกอบด้วย 4 เกณฑ์คือ คุณภาพการศึกษา คุณภาพของคณะ ผลงานวิจัย และขนาดของสถาบัน ซึ่งการจัดอันดับของสถาบันนี้เชื่อว่ามีความน่าเชื่อถือ เพราะเป็นการจัดอันดับคุณภาพเชิงปริมาณโดยรวมทุกสาขาวิชา

เคล็ด (ไม่) ลับ ของการสั่งสมชื่อเสียงในงานวิจัยนี้ ไม่เพียงเกิดจากความขยันขันแข็งของคณาจารย์ นักศึกษา และบุคลากรด้านวิจัยที่ต่อยอดพัฒนาองค์ความรู้อย่างต่อเนื่องเท่านั้น แต่มหาวิทยาลัยแห่งนี้มียุทธศาสตร์ขยายผลงานวิจัย ซึ่งเป็นที่เลื่องลือทั่วโลกในหลายรูปแบบ อาทิ

ร่วมมือภาคเอกชน สร้างงานวิจัยเชิงพาณิชย์
เครือข่ายความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยกับบริษัทเอกชนในการต่อยอดงานวิจัย การสร้างนวัตกรรม โดยเฉพาะด้านที่เป็นจุดเด่นของมหาวิทยาลัย เช่น ยา เทคโนโลยีชีวภาพ การบริหารธุรกิจ เป็นต้น จนสามารถสร้างรายได้มหาศาลแก่มหาวิทยาลัย และบริษัทเอกชนเหล่านั้น

การจัดตั้งบริษัทเพื่อต่อยอดงานวิจัย
การเกิดขึ้นของบริษัทใหม่ ๆ นับร้อยแห่ง รอบมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดและสถาบันเทคโนโลยีแห่งแมสซาชูเซตส์ ได้สะท้อนความร่วมมือที่แนบแน่นระหว่างมหาวิทยาลัยและเอกชน ทำให้เกิดบริษัทวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นยา เคมีภัณฑ์ ฯลฯ ทำหน้าที่นำงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยมาต่อยอดเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ มาใช้ในเชิงพาณิชย์ อาทิ ศูนย์วิจัยเอ็ดเวอร์ด เอ็ม สคอลนิล ของบริษัทเมอร์ค ตั้งขึ้นเพื่อนำผลวิจัยมาค้นคว้ายาเพื่อการรักษาโรคที่ยังไม่มีทางรักษา บริษัท ไมโครเบีย ที่เกิดจากนักวิจัยที่ผันตัวเองมาตั้งบริษัทรับจ้างทำวิจัยต่อยอดงานวิจัยต่าง ๆ

การนำองค์ความรู้ในห้องเรียนสู่โลกธุรกิจ
เป็นการใช้ประโยชน์จากกรณีศึกษาต่าง ๆ ที่วิทยาลัยธุรกิจ และวิทยาลัยอื่น นำไปเสนอให้บริษัทเอกชนทั่วโลกใช้ศึกษาเพื่อพัฒนาองค์กร การสร้างความร่วมมือกับผู้ประกอบการจัดตั้งศูนย์อบรมผู้บริหาร และจัดทำกรณีศึกษาของแต่ละหน่วยงานที่น่าสนใจ จนเป็นเจ้าของกรณีศึกษากว่า 7,000 กรณี

ความร่วมมือในลักษณะดังกล่าวนับเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย กล่าวคือ ภาคเอกชนลดต้นทุนในด้านวิจัยและพัฒนา ซึ่งต้องใช้ทั้งเวลา และงบประมาณจำนวนมหาศาลในการค้นคว้าวิจัยลงได้ เพราะนำงานวิจัย องค์ความรู้จากมหาวิทยาลัยไปต่อยอดธุรกิจของตน ในส่วนของมหาวิทยาลัยได้รับประโยชน์จากสิทธิบัตร และองค์ความรู้เฉพาะทางที่บริษัทต่าง ๆ นำไปใช้ สร้างเม็ดเงินจำนวนไม่น้อยกลับคืนสู่มหาวิทยาลัย

ตีพิมพ์ผลวิจัย สร้างอิทธิพลทางความรู้สู่ระดับนานาชาติ
ไม่เพียงการขยายผลในเชิงธุรกิจ แต่ฮาร์วาร์ดยังพยายามสร้างอิทธิพลทางความคิดแก่สังคมโลก ผ่านการเผยแพร่งานวิจัยและแนวคิดใหม่สู่สื่อสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ ไปทั่วโลก ความมีชื่อเสียงของมหาวิทยาลัย กลยุทธ์ทางการตลาดในการประชาสัมพันธ์ถึงจุดแข็งในงานวิชาการ และการเป็นผู้นำและสร้างกระแสให้สังคมตื่นตัวในประเด็นต่าง ๆ เช่น แนวคิดเรื่องความสามารถในการแข่งขัน การสร้างธุรกิจการเงินในรูปแบบของการตลาดมวลชน ผู้ประกอบการเพื่อสังคม และอีกหลายร้อยความคิดในไม่กี่ปีที่ผ่านมา สิ่งเหล่านี้กลายเป็นสิ่งดึงดูดให้สถาบันการศึกษาอื่น และบริษัทเอกชนจำนวนมาก มุ่งใช้บริการงานวิจัยของฮาร์วาร์ด

ไม่เพียงเท่านี้ ฮาร์วาร์ดยังมีสำนักพิมพ์ และออกสื่อสิ่งพิมพ์เป็นของตนเองหลายฉบับ ที่มีชื่อเสียงทั่วโลก เช่น Harvard Business Review , Harvard Law Review การเป็นเจ้าของสื่อนี้เอง ที่เป็นทั้งเครื่องมือประชาสัมพันธ์องค์กรและยังเป็นการจับจองพื้นที่ทางความคิด ถ่ายทอดแนวคิด อุดมการณ์แบบฮาร์วาร์ดแก่ผู้อ่านทั่วโลก โดยเจาะกลุ่มผู้อ่านที่เป็นผู้นำประเทศ ศิษย์เก่าที่มีตำแหน่งหน้าที่การงานระดับสูง รวมถึงนักวิชาการต่าง ๆ ทั่วโลก

มองย้อนกลับมาสู่มหาวิทยาลัยของไทย ขณะที่สถาบันอุดมศึกษาหลายแห่งตื่นตัวพัฒนาไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยระดับโลก โดยให้ความสำคัญกับการปรับปรุงคุณภาพการเรียนการสอน การสร้างผลงานวิจัยของคณาจารย์ รวมถึงการเผยแพร่งานวิจัยสู่ระดับสากล อันเป็นแนวโน้มที่ดี ในการใช้การวิจัยเป็นพื้นฐานแก้ปัญหาและสร้างนวัตกรรม เพิ่มความสามารถในการแข่งขันของมหาวิทยาลัยและประเทศชาติ

อย่างไรก็ตาม หากต้องการให้มหาวิทยาลัยไทยพัฒนาอย่างก้าวกระโดด เสนอว่าเราควรเพิ่มความร่วมมือกับภาคเอกชน จัดตั้งโครงการวิจัยที่ภาคเอกชนจัดจ้างมหาวิทยาลัย หรือการทำโครงการวิจัยร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยกับภาคเอกชนมากขึ้น ซึ่งผมได้นำเสนอไว้อย่างละเอียดถึงรูปแบบและวิธีการ ในหนังสือ ldquo;ปั้นสมองของชาติ : ยุทธศาสตร์ปฏิรูปการศึกษาrdquo; ซึ่งได้เขียนไว้ตั้งแต่ปี 2543
นอกจากนี้อาจมีการเพิ่มศักยภาพการวิจัย โดยการดึงกลุ่มคนทำงานเข้าร่วมทำโครงการวิจัยกับมหาวิทยาลัย เพื่อการสร้างและพัฒนานวัตกรรมเชิงประยุกต์และเชิงสร้างสรรค์ในด้านที่เป็นจุดแกร่งของประเทศ การจูงใจภาคธุรกิจบริจาคเพื่อการวิจัยเชิงสังคม เพราะมีแนวโน้มที่องค์กรธุรกิจจะเจาะตลาดด้วย ldquo;กลยุทธ์ธุรกิจเพื่อสังคมrdquo; มากขึ้น องค์กรเหล่านั้นจะได้รับประโยชน์ในการประชาสัมพันธ์ตนเอง เสริมสร้างภาพลักษณ์ ความน่าเชื่อถือได้

การสนับสนุนอีกทางที่มีความสำคัญคือ รัฐบาลควรมีส่วนผลักดันให้เกิดการร่วมมือระหว่างสถานประกอบการและสถานศึกษา ผ่านระบบภาษี ที่จูงใจให้เอกชนร่วมบริจาคเพื่องานวิจัย และมีส่วนร่วมจัดการศึกษามากขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องที่จะเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
การวิจัยและสร้างนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยเป็นตัวสะท้อนความสามารถ ในการดึงวิชาการมาใช้เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะในยุคที่สังคมก้าวเข้าสู่สังคมที่ใช้ความรู้เป็นฐาน คุณภาพของงานวิจัยจะเป็นตัวสะท้อนความแข็งแกร่งของการพัฒนาประเทศ ให้สามารถยืนอยู่ได้ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น
admin
เผยแพร่: 
สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
เมื่อ: 
2007-08-03