สร้างเครือข่ายเพื่อสังคมให้เข้มแข็งด้วยการประกอบการเพื่อสังคม

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
kriengsak@kriengsak.com, http:// www.kriengsak.com

นับเป็นระยะยาวนานหลายปีที่สังคมไทยได้เริ่มมีการพูดถึงการทำงานแบบเครือข่ายความร่วมมือ เพื่อผนึกกำลังกันในการแก้ไขปัญหาสังคมอย่างจริงจัง ซึ่งปัจจุบันพบว่ามีเครือข่ายเพื่อสังคมเกิดขึ้นทั้งเก่าและใหม่รวมกันไม่น้อยกว่า 10,000 เครือข่ายทั่วประเทศ โดยในจำนวนนี้มีทั้งเครือข่ายที่เข้มแข็งและเครือข่ายที่อ่อนแอ ซึ่งจำเป็นที่จะต้องได้รับการสนับสนุนและพัฒนาศักยภาพอย่างต่อเนื่อง
สาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้เครือข่ายเพื่อสังคมต่าง ๆ เหล่านี้ไม่สามารถทำตามบทบาทหน้าที่ของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพเนื่องมาจาก สมาชิกในเครือข่ายไม่ได้อยู่ในสภาพที่สามารถแลกเปลี่ยนทรัพยากรระหว่างกันได้อย่างเต็มที่ เพราะแต่ละองค์กรต่างก็ต้องประสบกับปัญหาความยากลำบากและความจำกัดในการดำเนินการ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ประเทศชาติต้องประสบกับปัญหาภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอย่างเช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ยิ่งส่งผลกระทบกับองค์กรสาธารณะประโยชน์และองค์กรเพื่อสังคมขนาดเล็กที่ยังไม่เป็นที่รู้จัก เพราะโดยปกติผู้บริจาคหรือผู้ที่ให้การสนับสนุนก็มักจะนิยมบริจาคให้กับองค์กรสาธารณะประโยชน์และองค์กรเพื่อสังคมที่มีชื่อเสียง และดูน่าเชื่อถืออยู่แล้ว ดังนั้น เงินส่วนที่จะบริจาคให้กับองค์กรสาธารณะประโยชน์และองค์กรเพื่อสังคมขนาดเล็กจึงมีอยู่น้อย และมีองค์กรเพียงน้อยรายที่ได้รับ ซึ่งความจำกัดดังกล่าวนี้ ส่งผลทำให้องค์กรสาธารณะประโยชน์และองค์กรเพื่อสังคมขนาดเล็กที่เป็นสมาชิกเครือข่ายบางองค์กรไม่สามารถเข้าร่วมกิจกรรมที่ทางเครือข่ายจัดได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากไม่สามารถแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นได้
ไม่เพียงเท่านั้น ความจำกัดดังกล่าว ยังส่งผลทำให้รูปแบบความสัมพันธ์ของสมาชิกเครือข่ายที่มีระหว่างกัน ต้องอยู่ในลักษณะของการพึ่งพิงกันมากกว่าที่จะเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน บนพื้นฐานความคิดที่ว่าสมาชิกเครือข่ายอยู่ในสถานะที่เท่าเทียมกัน นั่นก็คือ องค์กรสาธารณะประโยชน์และองค์กรเพื่อสังคมขนาดใหญ่ก็ยังคงอยู่ในฐานะของการเป็นผู้ให้ ในขณะที่องค์กรสาธารณะประโยชน์และองค์กรเพื่อสังคมขนาดเล็กเป็นผู้รับ

แนวคิดแบบผู้ประกอบการเพื่อสังคม (Social Entrepreneur) จึงเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่จะช่วยส่งเสริมให้เครือข่ายเพื่อสังคมที่มีอยู่ในปัจจุบันและที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต สามารถทำบทบาทของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยการส่งเสริมให้องค์กรสาธารณประโยชน์และองค์กรเพื่อสังคมนำแนวคิดแบบผู้ประกอบการเพื่อสังคม (Social Entrepreneur) นี้ไปใช้เพื่อให้สามารถเลี้ยงดูตนเองได้อย่างยั่งยืน โดยที่ไม่ขัดกับข้อกฎหมายที่กำหนดให้องค์กรสาธารณประโยชน์จะต้องเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไรเท่านั้น

เนื่องจากแนวคิดแบบผู้ประกอบการเพื่อสังคม (Social Entrepreneur) ได้กำหนดให้กิจการที่ทำจะเป็นกิจการที่สร้างรายได้หรือไม่สร้างรายได้ก็ได้ จะมีกำไรหรือไม่มีกำไรก็ได้ แต่จะต้องเป็นกิจการที่สามารถเลี้ยงดูตนเองได้ สามารถสร้างรายได้เพียงพอที่จะสนับสนุนการดำเนินกิจการนั้นต่อไป แต่หากมีกำไรก็เป็นกำไรในระดับที่เพียงพอให้มีรายได้หมุนเวียนสนับสนุน กิจการให้ดำเนินต่อไปได้ และหากทำเป็นเชิงธุรกิจ ก็ใช้ธุรกิจของตนเป็นเครื่องมือหาแหล่งเงินทุนเพื่อสนับสนุนความตั้งใจที่จะแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจสังคมที่ตนเองสนใจ ด้วยวิธีนี้ทำให้การดำเนินกิจกรรมแก้ปัญหาเศรษฐกิจสังคมสามารถดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่อง ไม่ขาดตอน เพราะไม่ขาดแคลนแหล่งทุนสนับสนุน เหมือนบางองค์กรที่แม้มีความตั้งใจดีแต่ขาดกำลังทรัพย์สนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ทำให้ภารกิจขององค์กรไม่บรรลุผลอย่างที่ควรจะเป็น ซึ่งหากสมาชิกเครือข่ายแต่ละเครือข่ายมีความเข้มแข็งก็จะส่งผลให้เครือข่ายเพื่อสังคมที่ดำเนินการอยู่มีความเข้มแข็งตามไปด้วย
ถึงแม้ว่าการดำเนินกิจการทางธุรกิจในสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน จะดูเหมือนเป็นเรื่องที่ยากลำบากสำหรับองค์กรสาธารณะประโยชน์และองค์กรเพื่อสังคมขนาดเล็กที่ยังไม่มีศักยภาพในการแข่งขันมากนัก แต่ก็ยังคงเป็นทางเลือกที่ดีกว่าการเพียงรอรับการบริจาคและการสนับสนุนที่มีแนวโน้มว่าจะลดลงในอนาคต ซึ่งแนวคิดแบบผู้ประกอบการเพื่อสังคม (Social Entrepreneur) เป็นแนวคิดที่ไม่ได้มองที่ความจำกัดเหล่านี้ แต่มุ่งมองเห็นโอกาสท่ามกลางสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น ด้วยการพยายามคิดค้นและแสวงหานวัตกรรม รวมทั้งรูปแบบที่เหมาะสมในแก้ไขปัญหาดังกล่าว

การทำงานแบบเครือข่ายดูเหมือนจะเป็นอีกหนึ่งทางออกของการทำงานเพื่อสังคมในประเทศไทยในอนาคต แต่หากเครือข่ายเพื่อสังคมเหล่านี้ไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างเพียงพอและสมาชิกในเครือข่ายไม่ได้รับการพัฒนาให้มีความเข้มแข็ง ก็ยากที่จะทำให้ปัญหาสังคมที่มีอยู่และที่กำลังจะเกิดขึ้นได้รับการแก้ไขอย่างยั่งยืน

admin
Catagories: 
เผยแพร่: 
หนังสือพิมพ์โลกวันนี้
เมื่อ: 
2009-04-07