นวัตกรรมกับการเป็นผู้ประกอบการเพื่อสังคม

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
kriengsak@kriengsak.com, http:// www.kriengsak.com

หากพูดถึงคำว่า ldquo;ผู้ประกอบการเพื่อสังคมrdquo; หรือ Social entrepreneur โดยส่วนใหญ่ทั่วไปมักจะมีมุมมองแนวคิดไปในทิศทางเดียวกันว่า หมายถึง ผู้สร้างนวัตกรรมทางสังคมด้วยการปฎิรูปขบวนการและแบบแผนการผลิต โดยมีเป้าหมายเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาสังคมอย่างเฉพาะเจาะจงในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เช่น ปัญหาความยากจน ปัญหาคนด้อยโอกาสในสังคม ซึ่งในที่นี้โดยส่วนใหญ่มักจะต้องดำเนินควบคู่ไปกับการใช้นวัตกรรมและการมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ เพื่อรังสรรค์ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมทั้งระบบ การดำเนินงานแบบผู้ประกอบการเพื่อสังคมนี้จึงมิได้มุ่งหวังเพียงแค่ผลสัมฤทธิ์ในระดับปัจเจกบุคคลเท่านั้น แต่ยังมุ่งปฏิรูปให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับขบวนการและการเปลี่ยนแปลงทางสังคมทั้งระบบอีกด้วย

นวัตกรรมจึงเป็นองค์ประกอบสำคัญสำหรับการดำเนินงานในลักษณะดังกล่าวนี้ โดยเป็นทั้งกระบวนการและเป้าหมายของการดำเนินงาน ซึ่งไม่สามารถแยกออกจากกันได้โดยเด็ดขาด หมายความว่า ผู้ประกอบการเพื่อสังคมต้องมองหา คิดค้น แนวทางหรือรูปแบบการทำงานใหม่ ที่จะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ซึ่งในที่นี้อาจจะหมายถึง การแสวงหาเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในการผลิต การแสวงหาแหล่งทรัพยากรหรือตลาดใหม่ ๆ ในขณะเดียวกันก็มีเป้าหมายเพื่อสร้างสรรค์ให้เกิดการแก้ไขปัญหาสังคมอย่างเป็นรูปธรรมด้วย

ตัวอย่างนวัตกรรมแบบผู้ประกอบการเพื่อสังคมที่สามารถพบเห็นได้ก็อย่างเช่น ธนาคารกรามีน หรือ Grameen Bank ที่ริเริ่มโดยมูฮัมหมัด ยูนูส ซึ่งธนาคารดังกล่าวมีลักษณะการดำเนินงานโดยเกิดจากการประยุกต์ใช้ระบบสินเชื่อรายย่อย หรือ Micro credit เข้ากับการแก้ไขปัญหาความยากจนในประเทศบังกลาเทศ ความแตกต่างระหว่างวิธีการดำเนินงานแบบธนาคารกรามีนและธนาคารพาณิชย์ทั่วไปก็คือ รูปแบบการปล่อยกู้และกลุ่มเป้าหมายของธนาคาร โดยที่ธนาคารกรามีนใช้การปล่อยสินเชื่อรายย่อยให้กับผู้กู้ที่เป็นกลุ่มคนยากจนโดยไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้โดยส่วนใหญ่จะไม่สามารถขอกู้จากธนาคารพาณิชย์ทั่วไปได้ เนื่องจากไม่มีหลักทรัพย์ในการค้ำประกัน แนวทางของธนาคารกรามีนจึงนับได้ว่าเป็นนวัตกรรมทางสังคมที่ช่วยรังสรรค์ให้เกิดการแก้ไขปัญหาความยากจนทั้งระบบอย่างมีพลวัต คือ สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของคนบังกลาเทศที่ได้รับการยอมรับว่ายากจนติดอันดับโลกให้พ้นเส้นความยากจนโดยไม่ต้องกลับเข้าไปสู่วงจรของความยากจนอีก

อีกตัวอย่างหนึ่งคือ การดำเนินงานของ Rugmark Foundation ซึ่งเป็นองค์กรระดับสากลที่ไม่แสวงหาผลกำไร มีวัตถุประสงค์ในการดำเนินงานเพื่อให้การช่วยเหลือเด็กที่ถูกใช้แรงงานผิดกฎหมายในอุตสาหกรรมการผลิตพรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริเวณพื้นที่แถบทวีปเอเชียใต้ อันได้แก่ อินเดีย เนปาลและปากีสถาน โดยวิธีการดำเนินงานของ Rugmark Foundation จะใช้วิธีสร้างระบบการตรวจสอบด้วยการให้เครื่องหมายรับรองมาตรฐานการผลิตว่าปลอดจากการใช้แรงงานเด็กที่ผิดกฎหมาย และทำการประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริโภครู้จักและยอมรับเครื่องหมายรับรองมาตรฐานนี้ ปัจจุบัน Rugmark Foundation ได้ขยายกิจกรรมออกไปในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก เช่น ยุโรป สหรัฐอเมริกา แคนาดา ซึ่งผลจากการดำเนินงานที่ผ่านมาทำให้แรงงานเด็กในโรงงานผลิตพรมแถบทวีปเอเชียใต้มีจำนวนลดลง รวมทั้งยังมีผลทำให้เกิดการผลักดันให้มีการออกกฎหมายต่างๆ เพื่อปกป้องและคุ้มครองแรงงานเด็กเหล่านี้ เช่น Worst Forms of Child Labor Convention 182 (C182) 1999 หรือ Trade and Development Act of 2000 เป็นต้น

นวัตกรรมจึงนับได้ว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญประการหนึ่งของการเป็นผู้ประกอบการเพื่อสังคม หรืออาจกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ นวัตกรรมเป็นทั้งเครื่องมือของการทำงานแบบผู้ประกอบการเพื่อสังคม และในขณะเดียวกันก็เป็นผลอันเกิดจากการมีลักษณะนิสัยแบบผู้ประกอบการเพื่อสังคม ซึ่งก็คือ การมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์นั่นเอง

ที่มา วันที่ : 10 มีนาคม 2552 นิตยสาร/หนังสือพิมพ์ : หนังสือพิมพ์โลกวันนี้

admin
Catagories: 
เผยแพร่: 
0
เมื่อ: 
0