แจกเงิน 2,000 บาท ควรแจกอย่างไร
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
kriengsak@kriengsak.com, http:// www.kriengsak.com
ภายใต้งบประมาณเพิ่มเติม 1.167 แสนล้านบาทที่ได้ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรไปแล้ว โครงการที่ประชาชนให้ความสนใจมากที่สุดคงหนีไม่พ้นโครงการช่วยเหลือค่าครองชีพประชาชนและบุคลากรภาครัฐ โดยมีสาระสำคัญคือการให้เงินอุดหนุนแก่ผู้มีรายได้ไม่เกิน 14,999 บาทคนละ 2,000 บาท แต่ให้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น รวมแล้วทั้งโครงการนี้ใช้งบประมาณกว่า 1.9 หมื่นล้านบาท
เมื่องบประมาณผ่านสภาฯแล้ว ประเด็นที่ภาครัฐกำลังขบคิดกันต่อไปคือวิธีการกระจายเม็ดเงินดังกล่าวลงสู่ประชาชน ซึ่งรองนายกรัฐมนตรีที่รับผิดชอบด้านเศรษฐกิจได้ออกมาเปิดเผยว่า จะกระจายเงิน 2,000 บาทไปถึงมือประชาชนโดยการจ่ายเป็นเช็คเงินสดแทนการโอนเงินเข้าบัญชี โดยหวังว่าประชาชนจะนำเงินไปใช้จ่ายแทนที่จะเก็บเงินไว้ในบัญชี และจะมีค่าใช้จ่ายในการส่งเช็คเงินสดไปยังประชาชน 40 ล้านบาท รวมทั้งกำลังหารือกับห้างสรรพสินค้าเพื่อให้ส่วนลดกับประชาชนที่นำเงินดังกล่าวไปซื้อสินค้า เพื่อจูงใจให้ประชาชนนำเงินไปใช้จ่าย
แม้ว่าโครงการนี้มีการถกเถียงกันอย่างกว้างขวางถึงความเหมาะสมของหลักการและประสิทธิภาพของโครงการในการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ ณ เวลานี้การทบทวนโครงการนี้คงเป็นไปได้ยากแล้วทั้งในเชิงกฎหมายและการเมือง เพราะกฎหมายได้ผ่านสภาฯไปแล้วและรัฐบาลได้ประกาศนโยบายไปแล้ว แต่ผมเห็นว่ารัฐบาลยังสามารถปรับปรุงแนวทางการดำเนินโครงการในภาคปฏิบัติได้
ผมไม่เห็นด้วยนักกับแนวทางปฏิบัติของโครงการที่ให้เงินช่วยเหลือแรงงานในระบบประกันสังคมที่มีรายได้ไม่เกิน 14,999 บาทคนละ 2,000 บาทเท่ากัน วิธีปฏิบัติเช่นนี้ถือว่าไม่เป็นธรรมกับกลุ่มคนที่มีระดับความจำเป็นในการได้รับเงินช่วยเหลือต่างกัน ด้วยการกำหนดให้ ldquo;เงินเดือนต่ำกว่า 15,000 บาทrdquo; เป็นเงื่อนไขการรับเงิน ทำให้สาวโรงงานที่ได้รับค่าจ้างเดือนละ 5,000 บาท กับบัณฑิตปริญญาตรีที่มีเงินเดือน 12,000 บาท ซึ่งไม่น่าจะถือว่าเป็นคนจน แต่สองคนนี้กลับได้รับเงินช่วยเหลือเท่ากัน
ดังนั้นผมจึงเสนอว่า การกำหนดวงเงินช่วยเหลือที่ให้กับแต่ละคนควรลดลงตามฐานเงินเดือนที่เพิ่มขึ้น ตัวอย่างเช่น การให้เงินแบบขั้นบันได 3 ขั้น โดยแรงงานที่มีเงินเดือนต่ำกว่า 5,000 บาทควรได้รับเงินช่วยเหลือเพิ่มขึ้นเป็น 3,000 บาท แรงงานที่มีเงินเดือนตั้งแต่ 5,000 บาทขึ้นไปแต่ต่ำกว่า 10,000 บาทควรได้เงินช่วยเหลือ 2,000 บาทเท่าเดิม และสุดท้ายแรงงานที่มีเงินเดือนตั้งแต่ 10,000 บาทขึ้นไปแต่ต่ำกว่า 15,000 บาทซึ่งไม่น่าจะถือเป็นคนจนควรได้รับเงินช่วยเหลือลดลงเหลือ 1,000 บาท
ด้วยวิธีการนี้จะทำให้คนที่มีรายได้น้อยได้รับเงินช่วยเหลือมากขึ้น ส่วนคนที่รายได้มากขึ้นจะได้รับเงินช่วยเหลือน้อยลง และคนที่มีเงินเดือน 15,000 บาทขึ้นไปก็ไม่จำเป็นต้องรับเงินช่วยเหลือ ซึ่งนอกจากจะมุ่งเน้นความช่วยเหลือไปที่คนจนแล้ว ยังถือว่ายุติธรรมกว่าวิธีการของรัฐบาล รวมทั้งยังสามารถเพิ่มการใช้จ่ายภาคเอกชนได้มากกว่าวิธีการเดิม เพราะคนจนตัวจริงจะได้รับเงินมากขึ้น
ในเรื่องของงบประมาณทั้งหมดที่ต้องใช้นั้น ผมได้นำหลักเกณฑ์การคำนวณเงินช่วยเหลือแบบที่ผมเสนอนี้และข้อมูลค่าจ้างของแรงงานในระบบประกันสังคมจากหนังสือสถิติงานประกันสังคมปี 2550 มาใช้ในการคำนวณ พบว่ารัฐบาลจะใช้งบประมาณทั้งหมดประมาณ 1.76 หมื่นล้านบาท ซึ่งยังอยู่ในกรอบวงเงินที่รัฐบาลตั้งไว้ 1.9 หมื่นล้านบาท
ส่วนวิธีการกระจายเงินลงสู่ประชาชนนั้น ผมเห็นว่าประเด็นนี้ให้ผลไม่ต่างกันมากนัก เพราะไม่ว่าจะเป็นการโอนเงินเข้าบัญชี การจ่ายเป็นเช็คเงินสด หรือการนำบัตรประชาชนไปรับเงินจากธนาคารโดยตรง หากประชาชนไม่ต้องการจะนำเงินไปใช้แล้ว เขาก็สามารถนำเงินนั้นไปฝากไว้ในบัญชีเงินฝากได้ เพราะทุกวิธีที่กล่าวนั้นประชาชนสามารถนำไปเปลี่ยนเป็นเงินสดได้
แม้แต่วิธีการแจกเป็นคูปองก์ที่กำหนดให้ใช้สำหรับซื้อสินค้าได้เท่านั้น ประชาชนอาจจะนำไปซื้อสินค้าก็จริงอยู่ แต่หากประชาชนบางส่วนไม่ต้องการนำเงินส่วนนี้ไปใช้ เขาอาจจะซื้อสินค้าด้วยคูปองก์ ส่วนเงินเดือนของตนที่เดิมจะต้องนำมาซื้อสินค้านั้นก็จะถูกนำไปออมแทน วิธีการแจกคูปองก์ยังมีความยุ่งยากในการนำไปแลกเป็นสินค้าซึ่งไม่ได้มีราคาพอดีกับมูลค่าของคูปองก์เสมอไป และร้านค้าที่รับคูปองก์มีความยุ่งยากเพราะต้องนำคูปองก์ไปแลกเป็นเงินสดอีกทอดหนึ่ง
ดังนั้นผมเห็นว่า ไม่ว่าจะแจกเงินด้วยวิธีใด ผลอาจไม่แตกต่างกันมากนัก รัฐบาลจึงควรเลือกวิธีการที่มีต้นทุนโดยรวมต่ำที่สุด ซึ่งต้นทุนในที่นี้ไม่ใช่เพียงต้นทุนของภาครัฐเท่านั้น แต่รวมถึงต้นทุนของประชาชนและต้นทุนของผู้ประกอบการร้านค้าต่าง ๆ ด้วย
ส่วนการหารือกับห้างสรรพสินค้าเพื่อให้ส่วนลดแก่ประชาชนที่นำเงิน 2,000 บาทที่รัฐบาลแจกไปใช้ซื้อสินค้า เพื่อจูงใจให้ประชาชนนำเงินไปใช้จ่าย ผมเห็นว่าการขอความร่วมมือให้ห้างร้านลดราคาสินค้าเป็นสิ่งที่สามารถดำเนินการได้ (และทางห้างสรรพสินค้าคงมีความพยายามที่จะลดราคาสินค้าเพื่อกระตุ้นยอดขายอยู่แล้ว) เพราะจะเป็นการกระตุ้นให้ประชาชนทั้งที่ได้รับเงินหรือไม่ได้รับเงิน 2,000 บาทออกมาใช้จ่ายเงินมากขึ้น
แต่ประเด็นที่รัฐบาลควรระมัดระวัง คือ การดำเนินการเช่นนี้เป็นการส่งสัญญาณที่เอื้อประโยชน์ให้แก่ห้างค้าปลีกขนาดใหญ่และห้างสรรพสินค้าหรือไม่ วิธีการดังกล่าวอาจทำให้ร้านค้าปลีกขนาดเล็กไม่ได้รับประโยชน์จากโครงการนี้อย่างที่ควรจะเป็นหรือไม่
ผมอยากทิ้งท้ายว่า แม้รัฐบาลจะได้ช่วยเหลือคนยากจนจำนวนหนึ่งผ่านโครงการนี้แล้ว แต่ยังมีคนยากจนอีกเกินกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งเป็นแรงงานนอกระบบ เช่น ชาวนา หาบเร่แผงลอย เป็นต้น ที่ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือ หากรัฐบาลจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบสอง รัฐบาลไม่ควรมองข้ามคนกลุ่มนี้ซึ่งเป็นคนจนตัวจริง ผมเข้าใจดีว่าการดำเนินนโยบายที่มุ่งเน้นไปที่กลุ่มคนจนนอกระบบเป็นเรื่องท้าทายอย่างยิ่งเนื่องจากการขาดแคลนข้อมูลระดับปัจเจกบุคคล แต่จะเป็นการพิสูจน์ฝีมือของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาที่ถือว่าเป็น ldquo;จุดคานงัดrdquo; ของประเทศเช่นกัน
ที่มา วันที่ : 17 กุมภาพันธ์ 2552 นิตยสาร/หนังสือพิมพ์ : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ