เก็บภาษีมรดก-ภาษีทรัพย์สิน ควรเขียนในรัฐธรรมนูญ?

ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ในหมวดแนวนโยบายด้านเศรษฐกิจ มาตรา 83ระบุว่า รัฐต้องดำเนินการตามแนวนโยบายเศรษฐกิจ โดยวรรค (3) ระบุว่า ldquo;ปรับปรุงระบบการจัดเก็บภาษีอากรให้มีความเป็นธรรม และสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพเศรษฐกิจและสังคมrdquo;

ในกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้มีข้อเรียกร้องให้มีการกระจายรายได้ที่เป็นธรรมมากขึ้น จึงมีผู้เสนอให้ระบุการจัดเก็บภาษีมรดกและภาษีทรัพย์สินไว้ในรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตามร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ไม่ได้มีบทบัญญัติเกี่ยวกับภาษีดังกล่าว ดังนั้นจึงเกิดคำถามว่า ควรระบุการเก็บภาษีมรดกและภาษีทรัพย์สินไว้ในรัฐธรรมนูญหรือไม่

หลักการของการจัดเก็บภาษีมรดก-ภาษีทรัพย์สิน
การจัดอันดับความเหลื่อมล้ำในการกระจายรายได้พบว่า ประเทศไทยที่ติดอันดับต้น ๆ ของโลกที่มีความเหลื่อมล้ำของรายได้สูง จะเห็นว่าตั้งแต่ประเทศไทยมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่หนึ่งเป็นต้นมากลับยิ่งพบความเหลื่อมล้ำมากขึ้น

สาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการกระจายรายได้ระหว่างคนจนและคนรวย คือ โอกาสที่แตกต่างกัน ซึ่งนำไปสู่ความสามารถที่ไม่เท่ากัน ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดความแตกต่างของโอกาสและความสามารถ คือ ฐานะทางเศรษฐกิจ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ จุดเริ่มต้นของคนจนและคนรวยไม่เท่ากัน
คนจนขาดโอกาสได้รับการศึกษาและสาธารณสุขที่มีคุณภาพ ขาดโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ ขาดโอกาสเข้าถึงที่ดินและทรัพยากรในการทำกินและการดำรงชีพ ขาดทางเลือกและโอกาสเข้าถึงแหล่งงานและข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อการประกอบอาชีพ ยิ่งไปกว่านั้นคนจนยังมีภาระหนี้สินที่ต้องแบกรับ

การจัดเก็บภาษีมรดกและทรัพย์สินจึงเป็นมาตรการหนึ่ง เพื่อถ่ายโอนความมั่งคั่งจากคนรวยไปสู่คนจน เพื่อทำให้จุดเริ่มต้นของคนจนและคนรวยไม่แตกต่างกันมากจนเกินไป ซึ่งจะส่งผลทำให้คนจนมีโอกาสมากขึ้นในการหลุดพ้นจากวงจรแห่งความยากจน

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าภาษีมรดก-ภาษีทรัพย์สินเป็นแนวคิดที่ดีและมีการผลักดันมานานในหลายรัฐบาลที่ผ่านมา รวมทั้งการผลักดันให้บรรจุไว้ในร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 ด้วย แต่ยังไม่ประสบผลสำเร็จ

ควรบรรจุภาษีมรดก-ภาษีทรัพย์สินในรัฐธรรมนูญหรือไม่
การบรรจุเรื่องการเก็บภาษีมรดกและภาษีทรัพย์สินไว้ในรัฐธรรมนูญได้รับข้อโต้แย้งว่า รัฐธรรมนูญควรเขียนในลักษณะหลักการหรือแนวนโยบาย ไม่ควรลงรายละเอียดเป็นนโยบายหรือมาตรการ แต่ข้อโต้แย้งนี้ไม่สมเหตุสมผล เพราะในความเป็นจริง ร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 ได้ระบุรายละเอียดของนโยบายไว้ในบางมาตรา เช่นมาตรา 48 ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพในการศึกษาที่กล่าวว่า ldquo;บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่า 12 ปี ที่รัฐจะต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย....rdquo;

อย่างไรก็ตาม แม้มาตรการภาษีมรดก-ภาษีทรัพย์สิน และการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน 12 ปี จะคล้ายคลึงกันในแง่เป้าหมายในการกระจายรายได้และกระจายโอกาสในการศึกษา ซึ่งมีวิธีการดำเนินงานที่หลากหลาย ไม่ใช่เฉพาะการเก็บภาษีสองประเภทนี้และการให้การศึกษาฟรีเท่านั้น แต่การเก็บภาษีมรดกและภาษีทรัพย์สินไม่ใช่มาตรการที่เป็นหลักประกันได้ว่า จะสามารถลดความเหลื่อมล้ำได้ แตกต่างจากการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานฟรี 12 ปี ที่สามารถเป็นหลักประกันได้ว่า ทุกคนจะสามารถเข้าถึงการศึกษาได้

การเก็บภาษีมรดกและภาษีทรัพย์สินเป็นมาตรการที่ควรพิจารณา แต่ไม่ได้เป็นมาตรการที่เพียงพอสำหรับการกระจายรายได้ และยังมีมาตรการกระจายรายได้วิธีอื่น ๆ อีก เช่น การลดภาษีและขยายสวัสดิการไปสู่คนจนมากขึ้น การเก็บภาษีอัตราก้าวหน้ากับที่ดินรกร้างไม่ได้ใช้ประโยชน์ การเก็บภาษีจากมูลค่าที่เพิ่มขึ้นของที่ดินและทรัพย์สิน (Capital Gain Tax) การพัฒนาระบบสาธารณูปโภคในชนบท เป็นต้น
นอกจากนี้ การกระจายรายได้ไม่ใช่สิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนเหมือนกับสิทธิในการได้รับการศึกษา เพราะการมีรายได้มากไม่ควรเป็นสิทธิของประชาชน แต่ควรเป็นผลตอบแทนที่เกิดขึ้นตามความรู้ความสามารถและความขยันขันแข็งของแต่ละคน ดังนั้นการที่รัฐเปิดโอกาสให้ประชาชนได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียมกัน และมีโอกาสในการประกอบอาชีพตามศักยภาพของแต่ละคนน่าจะเป็นหลักการที่เหมาะสมแล้ว

ที่กล่าวมาทั้งหมดไม่ได้หมายความว่าไม่ควรเก็บภาษีมรดกหรือภาษีทรัพย์สิน ผมคิดว่ารัฐควรต้องศึกษาวิธีการที่เหมาะสมและดำเนินการหลาย ๆ มาตรการ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม โดยคำนึงถึงความเป็นธรรมทั้งต่อคนจนและคนรวยเป็นสำคัญ
admin
เผยแพร่: 
สยามธุรกิจ
เมื่อ: 
2007-08-01