ผลิต ดร. ปริมาณพุ่ง แต่ระวังรักษาคุณภาพ

การศึกษาระดับปริญญาเอก เป็นรากฐานสำคัญในการสร้างและพัฒนาองค์ความรู้สู่สังคม โดยมีการวิจัยเป็นกลไกสำคัญ แต่ปัจจุบันดูเหมือนว่า มหาวิทยาลัยหลายแห่งกำลังประสบปัญหาด้านคุณภาพในการผลิตบัณฑิตระดับปริญญาเอกสู่สังคม สถานการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นไปทั่วโลก โดยตัวอย่างที่นำเสนอในบทความนี้นำเสนอการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาระดับปริญญาเอกของประเทศสหราชอาณาจักร ที่มีการเพิ่มจำนวนนักศึกษาปริญญาเอกที่ส่งผลกระทบต่อมาตรฐานการศึกษาในระดับนี้อย่างมาก สถานการณ์ที่เป็นปัญหาในการผลิตกำลังคนระดับนี้ ได้แก่


 
การรับนักศึกษาต่างชาติที่มีทักษะภาษาอังกฤษไม่เพียงพอ
ผศ.วิเวียน บรันส์เดน (Vivienne Brunsden) สาขาจิตวิทยา มหาวิทยาลัยนอตติงแฮม เทรนท์ (Nottingham Trent University) กล่าวว่า จากสถานการณ์การแข่งขันระหว่างมหาวิทยาลัย ส่งผลให้มหาวิทยาลัยมุ่งดึงดูดนักศึกษาปริญญาเอกต่างชาติ ที่สามารถจ่ายค่าเล่าเรียนได้เต็มจำนวน โดยไม่พิจารณาทักษะทางภาษาอังกฤษของนักศึกษาว่าอยู่ในระดับที่เหมาะสำหรับการเรียนปริญญาเอกหรือไม่ สอดคล้องกับ ดร.จิลเลียน อเนีย (Gillian Ania) อาจารย์เอกภาษาอิตาเลียน มหาวิทยาลัยซัลฟอร์ด (University of Salford) กล่าวว่า การที่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยเห็นว่า การแข่งขันของมหาวิทยาลัย ซึ่งถูกผลักดันโดยตารางการจัดอันดับ สำคัญมากกว่าคุณภาพการศึกษาระดับปริญญาเอก ส่งผลถึงการลดคุณภาพผู้สมัครเข้าเรียนปริญญาเอก ตามมาด้วยการลดลงของคุณภาพงานวิจัยที่เป็นต้นแบบของการสร้างองค์ความรู้ เนื่องจากนักศึกษาเหล่านี้ ไม่มีความพร้อมด้านทักษะภาษาอังกฤษสำหรับการเรียนปริญญาเอก ทั้งทักษะการอ่าน การพูด และการเขียน
 
 
ความจำกัดด้านการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยในการผลิตนักศึกษาปริญญาเอก
ปัจจุบันสถานการณ์การสนับสนุนนักศึกษาปริญญาเอกของมหาวิทยาลัยในสหราชอาณาจักรที่มีไม่เพียงพอ เนื่องด้วยการเพิ่มปริมาณนักศึกษาปริญญาเอก ขณะที่มหาวิทยาลัยไม่มีทรัพยากรและทุนการศึกษาสนับสนุนเพียงพอ ได้นำไปสู่คุณภาพการศึกษาที่ลดลง ส่งผลต่อเนื่องไปถึงคุณภาพงานวิจัยของนักศึกษาที่มีแต่จะด้อยลง จนไม่สามารถนำไปเผยแพร่ต่อสาธารณชน นอกจากนี้ อาจารย์ที่ปรึกษา 1 ท่าน ต้องดูแลนักศึกษามากขึ้น นั่นหมายความว่า นักศึกษาจะไม่ได้รับการเอาใจใส่ดูแลอย่างเพียงพอ ในงานสัมมนา "2020 Vision - The Changing UK Doctorate" เมื่อ 24 พฤศจิกายน ค.ศ.2008 ที่ผ่านมา โดยสถาบัน Higher Education Academy (HEA) ประเด็นที่มีการพูดคุยคือ ควรมีการปฏิรูปการเรียนปริญญาเอกในสหราชอาณาจักร ศ.คริส พาร์ค (Chris Park) ผู้อำนวยการสถาบันบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยแลนคาสเตอร์ (Lancaster University) กล่าวว่า แม้พยายามผลักดันให้นักศึกษาปริญญาเอกทำงานวิจัยที่หลากหลาย แต่พบว่า มหาวิทยาลัยขาดศักยภาพในการสนับสนุนนักศึกษา เพราะขาดบรรยากาศความเป็นวิชาการและทรัพยากรที่เพียงพอ ซึ่งถือว่าเป็นปัจจัยที่สำคัญต่อการทำผลงานวิจัย โดยสาขาวิชาที่ประสบกับปัญหามากที่สุดคือ สาขาวิชาคณิตศาสตร์
 
 
ดังข้างต้นแสดงให้เห็นว่า ปัญหาความด้อยด้อยคุณภาพของการศึกษาระดับปริญญาเอกในอังกฤษ ส่วนหนึ่งเกิดจากการบริหารจัดการของมหาวิทยาลัย เนื่องด้วยผู้บริหารให้ความสำคัญกับรายได้ที่มาจากค่าธรรมเนียมการศึกษาของนักศึกษาต่างชาติและกำไรที่ได้รับจากจำนวนนักศึกษาที่เพิ่มขึ้น มากกว่าการคัดเลือกนักศึกษาจากคุณสมบัติที่เหมาะสมสำหรับการเรียนระดับปริญญาเอก ซึ่งเป็นธรรมดาที่เมื่อมหาวิทยาลัยใดเน้นรับนักศึกษาในปริมาณมาก ในขณะที่ไม่มีทรัพยากรและบุคลากรที่สอดคล้องกับจำนวนนักศึกษา ย่อมตามมาด้วยปัญหาคุณภาพการจัดการศึกษาและคุณภาพนักศึกษาที่ลดลง อันส่งผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศในระยะยาว สถานการณ์เช่นนี้มักจะเกิดขึ้นในกรณีที่มหาวิทยาลัยต้องเลี้ยงตัวเอง จึงจำเป็นต้องดึงดูดนักศึกษาทุกระดับการศึกษาให้ได้จำนวนมาก ซึ่งปัจจุบัน มหาวิทยาลัยไทยหลายแห่ง ต้องเลี้ยงตัวเองมากขึ้น ดังนั้น คณะและสถาบันต่าง ๆ ภายในมหาวิทยาลัยจึงมีโครงการหารายได้เข้ามหาวิทยาลัย รวมถึงเปิดหลักสูตรใหม่ ๆ ดึงดูดนักศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลักสูตรปริญญาเอก
 
 
ปัจจุบันมหาวิทยาลัยไทยหลายแห่งเปิดหลักสูตรปริญญาเอก โดยปีการศึกษา 2550 ประเทศไทยมีมหาวิทยาลัยรัฐและเอกชนที่เปิดการเรียนการสอนระดับปริญญาเอกจำนวน 48 แห่ง (ไม่รวมมหาวิทยาลัยรามคำแหง) มีนักศึกษาเข้าใหม่เพิ่มขึ้นเท่าตัวในทุกปีการศึกษา นับตั้งแต่ปีการศึกษา 2547-2550 โดยมีนักศึกษาปริญญาเอกเข้าใหม่จำนวน 2,114 คน 3,098 คน 3,433 คน และ 3,888 คน ตามลำดับ ทั้งนี้ ปัญหาด้านคุณภาพจะไม่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยที่สามารถจัดหาทรัพยากรและบุคลากรไว้รองรับนักศึกษาได้อย่างเพียงพอ ขณะที่มหาวิทยาลัยบางแห่งที่ไม่ความพร้อม แต่เปิดสอนระดับปริญญาเอก ได้เกิดปัญหาตามมาหลายประการ อาทิ อาจารย์ 1 คน ต้องดูแลนักศึกษา 10 คนขึ้นไป จึงให้คำปรึกษาได้ไม่ทั่วถึง ทรัพยากรในห้องสมุดไม่เพียงพอสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ และการทำดุษฎีนิพนธ์ขาดคุณภาพ ไม่สามารถเป็นองค์ความรู้แก่ประเทศได้ เป็นต้น เมื่อนักศึกษาปริญญาเอกเหล่านี้จบการศึกษา และไปประกอบอาชีพเป็นอาจารย์หรือนักวิชาการ ย่อมส่งผลต่อคุณภาพอุดมศึกษาของประเทศเป็นปฏิกิริยาลูกโซ่
 
 
การเพิ่มจำนวนบัณฑิตระดับปริญญาเอกของไทย เป็นสิ่งที่จำเป็น และกลายเป็นแนวโน้มทางการศึกษาและสังคมแต่ควรพัฒนาและผลิตทั้งเชิงปริมาณควบคู่คุณภาพ โดยมหาวิทยาลัยไทยที่เปิดหลักสูตรปริญญาเอก ควรมีระบบการคัดเลือกนักศึกษาที่มีความพร้อมและความสามารถในการเรียนระดับปริญญาเอก รวมถึงการนำองค์ความรู้ไปใช้ประโยชน์ เพื่อป้องกันปัญหาการออกกลางคัน ซึ่งเป็นการสูญเสียทรัพยากรการศึกษาอย่างน่าเสียดาย อีกทั้งมหาวิทยาลัยต้องพยายามจัดสรรทรัพยากรเพื่อการศึกษาและอาจารย์ที่เชี่ยวชาญให้เพียงพอรองรับจำนวนนักศึกษาที่เพิ่มขึ้นทุกปี
ประการสำคัญ รัฐบาลไทยและกระทรวงศึกษาธิการ ควรกำหนดเป้าหมายการผลิตบัณฑิตระดับปริญญาเอก โดยพิจารณาตามศักยภาพมหาวิทยาลัย ความต้องการของตลาดแรงงานและการพัฒนาประเทศ เพื่อป้องกันบัณฑิตระดับปริญญาเอกล้นตลาดแรงงานตามมา ซึ่งปรากฏการณ์ ldquo;ดร. ตกงานrdquo; อาจเกิดขึ้นในเมืองไทยภายในทศวรรษนี้ได้ หากไม่มีการวางแผนล่วงหน้าและเป็นรูปธรรมเสียตั้งแต่วันนี้
 
 
นำมาจากหนังสือพิมพ์โลกวันนี้ ตีพิมพ์เมื่อวันอังคารที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2552
admin
เผยแพร่: 
0
เมื่อ: 
2009-02-06