ควรยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30% หรือไม่?
* ที่มาของภาพ http://www.thaimtb.com/webboard/132/66355-66.jpg
มาตรการหนึ่งในแก้ปัญหาการขาดเสถียรภาพของค่าเงินบาท ซึ่งมีการกล่าวถึงกันอย่างกว้างขวางและมีความเห็นที่ไม่ตรงกัน คือ มาตรการกันสำรองเงินลงทุนจากต่างประเทศร้อยละ 30
ฝ่ายที่เห็นว่าควรยกเลิกมาตรการนี้ให้เหตุผลว่า มาตรการนี้มีข้อยกเว้นมากและแทบจะไม่มีผลในทางปฏิบัติแล้ว (เพราะบังคับใช้เฉพาะเงินลงทุนจากต่างประเทศในตลาดตราสารหนี้เท่านั้น) การยกเลิกมาตรการนี้จะทำให้การเคลื่อนย้ายเงินสะดวกขึ้น ซึ่งจะช่วยลดความผันผวนจากการเก็งกำไรค่าเงินบาทในตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราในประเทศ (ออนชอร์) และตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราในต่างประเทศ (ออฟชอร์) ได้
ขณะที่ฝ่ายที่เห็นว่าควรคงมาตรการนี้ไว้ให้เหตุผลว่า มาตรการนี้ยังคงส่งผลทางจิตวิทยาอยู่ อีกทั้งการยกเลิกมาตรการนี้ จะทำให้ค่าเงินบาทในตลาดออนชอร์แข็งค่าขึ้นเท่ากับอัตราแลกเปลี่ยนในตลาดออฟชอร์ และการนำมาตรการนี้กลับมาใช้อีกครั้ง เมื่อค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น เป็นสิ่งที่ทำได้ยาก
การพิจารณาว่า ควรยกเลิกมาตรการกันสำรองเงินลงทุนจากต่างประเทศร้อยละ 30 หรือไม่? ผมคิดว่าเราควรพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างมาตรการนี้กับผลกระทบต่อค่าเงินบาทเสียก่อน
สิ่งที่น่าสงสัย คือ เหตุใดค่าเงินบาทในตลาดออฟชอร์จึงแข็งค่ามากกว่าค่าเงินบาทในตลาดออนชอร์ เพราะหากการเคลื่อนย้ายเงินทุนในต่างประเทศเป็นไปอย่างเสรีแล้ว เมื่อค่าเงินบาทในสองตลาดมีความแตกต่างกันจะเกิดการเคลื่อนย้ายเงินทุนและเก็งกำไรจนทำให้ค่าเงินของทั้งสองตลาดใกล้เคียงกัน
การที่ค่าเงินบาททั้งสองตลาดยังคงแตกต่างกันจึงเป็นไปได้ว่า มาตรการกันสำรองเงินลงทุนร้อยละ 30 อาจเป็นข้อจำกัดต่อการเคลื่อนย้ายเงินลงทุนจากต่างประเทศจริง
ในการพิสูจน์ความสัมพันธ์ของมาตรการนี้กับค่าเงินบาท ผมตั้งสมมติฐานว่า หากมาตรการกันสำรองเงินลงทุนร้อยละ 30 ทำให้เกิดความแตกต่างของค่าเงินบาทในสองตลาดจริงแล้ว แสดงว่าในช่วงที่ค่าเงินบาทออนชอร์และออฟชอร์ต่างกันมาก มูลค่าการซื้อขายในตลาดตราสารหนี้หรือราคาตราสารหนี้ควรจะสูงขึ้นด้วย
สมมติฐานนี้มีเหตุผลเบื้องหลังว่า การที่มาตรการนี้กำหนดให้หักร้อยละ 30 ของเงินตราต่างประเทศที่เข้ามาลงทุนในตลาดตราสารหนี้ นักลงทุนต่างประเทศที่ต้องการเข้ามาลงทุนในตลาดตราสารหนี้ จึงนำเงินดอลลาร์ไปแลกเป็นเงินบาทที่ตลาดออฟชอร์ แล้วนำเงินบาทจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนในตลาดตราสารหนี้ ซึ่งไม่ต้องถูกกันสำรองร้อยละ 30 และทำได้ง่ายเพราะการนำเงินบาทเข้าประเทศไม่มีข้อจำกัด
หากเป็นไปตามสมมติฐานนี้จริง ช่วงที่ค่าเงินในตลาดออฟชอร์แข็งค่าขึ้น จนทำให้ค่าเงินบาทออนชอร์และออฟชอร์ต่างกันมาก แสดงว่ามีความต้องการเงินบาทในตลาดออฟชอร์เพื่อนำเงินบาทเข้ามาลงทุนในตลาดตราสารหนี้ ซึ่งจะส่งผลทำให้มูลค่าการซื้อขายในตลาดตราสารหนี้หรือราคาตราหนี้สูงขึ้น (รูปที่ 1)
เมื่อพิจารณาจากข้อมูลของตลาดอัตราแลกเปลี่ยนและตลาดตราสารหนี้ พบว่า มูลค่าการตลาดตราสารหนี้ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2550 เป็นต้นมาสูงขึ้นจากช่วงก่อนมาก เช่นเดียวกับค่าเงินบาทในตลาดออฟชอร์ที่แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว จนทำให้อัตราแลกเปลี่ยนในตลาดออฟชอร์และออนชอร์แตกต่างกันเพิ่มขึ้น ซึ่งแสดงว่ามาตรการกันสำรองร้อยละ 30 มีผลทำให้ค่าเงินบาทในสองตลาดแตกต่างกันจริง (ตารางที่ 1)
(1) สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย(http://www.thaibond.com)
(2) Reference Rate จาก Table 89 ธนาคารแห่งประเทศไทย (www.bot.or.th)
(3) เป็นค่าเฉลี่ยรายเดือน (www.x-rates.com)
ดังนั้นหากมีการยกเลิกมาตรการกันสำรองเงินลงทุนจากต่างประเทศร้อยละ 30 จะทำให้ค่าเงินบาทในตลาดออนชอร์แข็งค่าขึ้น เนื่องจากนักลงทุนต่างประเทศยังมีความต้องการเข้ามาลงทุนในตลาดตราสารหนี้ของไทย แต่จะเข้ามาซื้อเงินบาทในตลาดออนชอร์โดยตรง เพราะไม่ต้องกลัวว่าจะถูกหักร้อยละ 30 อีกต่อไป
นอกจากนี้ ที่ผ่านมา คณะกรรมการนโยบายเงินปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเพียงร้อยละ 0.25 เท่านั้น ประกอบกับแนวโน้มค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอาจมีแนวโน้มอ่อนตัวลงอีก นักลงทุนจึงคาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยของไทยจะสามารถปรับลดลงได้อีก ซึ่งหมายความว่า ราคาตราสารหนี้จะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ในสถานการณ์เช่นนี้ หากมีการยกเลิกมาตรการกันสำรองร้อยละ 30 จะเพิ่มช่องทางให้นักลงทุนเข้ามาเก็งกำไรในตลาดตราสารหนี้ได้อีกช่องทางหนึ่ง ซึ่งอาจทำให้ค่าเงินบาทยิ่งผันผวนมากขึ้นก็เป็นได้
ในทางตรงกันข้าม หากไม่ยกเลิกมาตรการนี้ ค่าเงินบาทในตลาดออนชอร์จะยังคงแข็งค่าขึ้นเข้าหาค่าเงินบาทในตลาดออฟชอร์อยู่ดี เนื่องจากการเก็งกำไรจากส่วนต่างของค่าเงินระหว่างสองตลาดนี้ แต่ค่าเงินบาทในตลาดออนชอร์จะไม่แข็งค่าขึ้นเร็วเมื่อเทียบกับกรณีที่ยกเลิกมาตรการดังกล่าว เพราะยังมีข้อจำกัดในการเคลื่อนย้ายเงินทุนอยู่
อย่างไรก็ตาม การที่ค่าเงินบาทในตลาดออฟชอร์ยังคงแข็งค่ามากกว่าตลาดออนชอร์ จะทำให้นักลงทุนเกิดความคาดหวังว่าค่าเงินบาทจะมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น ซึ่งอาจส่งผลทำให้มีเงินทุนไหลเข้ามาเพื่อเก็งกำไรค่าเงินบาทในตลาดออนชอร์มากขึ้น
ผมจึงเห็นว่า มาตรการกันสำรองเงินลงทุนจากต่างประเทศร้อยละ 30 ควรมีการยกเลิก แต่ควรหาจังหวะยกเลิกในภาวะที่เหมาะสม กล่าวคือ ไม่ควรยกเลิกในภาวะที่ราคาตราสารหนี้มีแนวโน้มสูงขึ้น แต่ควรยกเลิกในภาวะที่ราคาตราสารหนี้มีแนวโน้มลดลง
* นำมาจากหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันพุธที่ 8 สิงหาคม 2550
เผยแพร่:
0
เมื่อ:
2007-08-08