สร้าง SE แบ่งเบารัฐบาลด้านการเรียนรู้
ที่มาของภาพ http://www.socialenterprise.org.uk/images/sec_logo.gif
การศึกษาและการเรียนรู้เป็นกลไกสำคัญในการพัฒนากำลังคนให้มีคุณภาพ ที่ผ่านมารัฐบาลในประเทศต่าง ๆ ต่างวางยุทธศาสตร์ส่งเสริมการเรียนรู้แก่ประชาชน แต่ทุกประเทศต่างประสบปัญหาการจัดการศึกษาและเรียนรู้สำหรับกลุ่มผู้ด้อยโอกาส ซึ่งไม่สามารถเข้าถึงบริการด้านการเรียนรู้ที่รัฐจัดให้
ในประเทศอังกฤษ รัฐบาลตระหนักถึงความจำกัดของการให้บริการประชาชนที่ด้อยโอกาสในสังคม จึงก่อตั้งกระทรวงภาคส่วนที่สาม (Minister for the Third Sector) เพื่อคนด้อยโอกาสในสังคม ต่อมาในเดือนพฤษภาคม ค.ศ.2006 นายกรัฐมนตรีโทนี่ แบลร์ ก่อตั้งสำนักงานภาคส่วนที่สาม (Office of the Third Sector: OTS) เพื่อเป็นศูนย์ประสานงานรัฐกับภาคประชาชนและช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส ซึ่งรวมถึงการช่วยเหลือด้านการเรียนรู้
ประการสำคัญ องค์กรภาคประชาชนที่เรียกว่าldquo;ผู้ประกอบการเพื่อสังคมrdquo; (Social Entrepreneur: SE) กว่า 1 หมื่นองค์กร ได้รวมตัวกันเป็น ldquo;พันธมิตรผู้ประกอบการเพื่อสังคมrdquo; (Social Enterprise Coalition: SEC) ในปี ค.ศ.2002 เพื่อขยายความสามารถในการช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส สะท้อนความต้องต่อรัฐบาล และสนับสนุนความร่วมมือระหว่างองค์กรที่ช่วยเหลือสังคม ลักษณะของ SE พิเศษตรงที่ เป็นองค์กรที่มีความคล่องตัว มีประสิทธิภาพ สามารถสร้างนวัตกรรมแบบผู้ประกอบการธุรกิจ และมีจิตสำนึกแบบนักพัฒนาสังคม ในอังกฤษ SE จำนวนมากมีส่วนจัดการเรียนรู้ ซึ่งมีตัวอย่างบางส่วน ดังนี้
บริษัทคอสมิค (Cosmic) ตั้งขึ้นในปี ค.ศ.1996 เป็นองค์กรธุรกิจด้านไอซีที และเป็นผู้ประกอบการเพื่อสังคมที่ทำงานเพื่อคนในชนบท โดยจะฝึกอบรมไอทีให้แก่คนในชุมชน รวมถึงการให้บริการด้านไอซีทีแก่องค์กรในชุมชนและองค์กรธุรกิจอื่น ๆ เช่น การจัดทำเว็บไซต์และฝึกอบรมด้านไอที เป็นต้น
บริษัทนิวไลฟ์ (Newlife) เป็นบริษัทที่ช่วยเหลือด้านจ้างงานและฝึกอบรมแก่ผู้ที่ตกงาน รวมถึงเยาวชนที่ออกจากโรงเรียนกลางคันกลายเป็นผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษา มีการประเมินว่าบริษัทนิวไลฟ์ช่วยให้กระทรวงการคลังประหยัดงบประมาณเพื่อช่วยเหลือกลุ่มคนที่ตกงานได้ราว 77,000 ปอนด์ต่อปี
สมาคมฟุตบอลเอเอฟซี เทลฟอร์ด (AFC Telford Utd Ltd) สมาคมฟุตบอลจะนำเงินที่ได้รับจากการแข่งขันไปสนับสนุนโครงการเพื่อเด็กด้อยโอกาส (Vulnerable children project) จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ด้านกีฬา เพื่อให้เด็กและคนในชุมชนได้ใช้บริการด้านกีฬาที่ครบวงจร มีคุณภาพ และทันสมัย
จากตัวอย่างบางส่วนของ SE ในอังกฤษ ก็พอจะเห็นภาพแล้วว่า SE สามารถแบ่งเบาภาระของรัฐด้านการเรียนรู้ รัฐบาลไทยอาจสนับสนุนให้มี SE ในประเทศไทย เช่น ส่งเสริมองค์กรธุรกิจเป็น SE สนับสนุนมหาวิทยาลัยเปิดคณะ/สาขา/หลักสูตร SE มีศูนย์ SE ในมหาวิทยาลัย เป็นต้น SE ที่เกิดขึ้นจะไม่เพียงช่วยแบ่งเบารัฐด้านการเรียนรู้เท่านั้น แต่รวมถึงด้านอื่น ๆ ที่รัฐให้บริการได้ไม่ทั่วถึง
เผยแพร่:
0
เมื่อ:
2008-07-22