แบบอย่างผู้เรียนใกล้ชิดผู้มีความรู้

ในแวดวงการเมืองระหว่างประเทศ หากจะกล่าวถึงชื่อ ดร. เฮนรี คิสซิงเจอร์ (Henry Alfred Kissinger) เราคงนึกถึงภาพของผู้เชี่ยวชาญการเมืองระดับโลก ผู้มีบทบาทสำคัญในการเมืองระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริการะหว่างช่วงปี ค.ศ.1969 และ ปี ค.ศ.1977 เขาเป็นผู้ก่อตั้งบริษัทที่ปรึกษาระหว่างประเทศ ภายใต้ชื่อ ldquo;Kissinger Associatesrdquo; รวมถึงผู้ได้รับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพในปี ค.ศ.1973
ชีวิตวัยเด็กของ คิสซิงเจอร์ ถือได้ว่าไม่สะดวกสบายนัก เนื่องจากเป็นครอบครัวชาวยิวที่เกิดในประเทศเยอรมันนี และอพยพมาอยู่ในสหรัฐอเมริกาปี ค.ศ.1938 คิสซิงเจอร์ต้องทำงานเพื่อหาเลี้ยงตนเอง ยึดอาชีพรับจ้างในช่วงกลางวัน และใช้เวลาช่วงกลางคืนเรียนหนังสือ ต่อมาในปี ค.ศ.1943 เขาจึงได้รับสัญชาติอเมริกัน
การใช้ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยของ คิสซิงเจอร์ นับว่าน่าสนใจ เพราะเขามีสถานะที่เป็นทั้งนักศึกษา ที่ปรึกษาผู้อำนวยการคณะกรรมการพิเศษ และอาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง รวมถึงศูนย์ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของฮาร์วาร์ด
จุดเด่นของคิสซิงเจอร์ในการใช้ชีวิตภายในรั้วฮาร์วาร์ดคือ การนำพาตัวเองเข้าใกล้ผู้รู้ องค์ความรู้ที่มีอยู่ จนเกิดเป็นความรู้ ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน โดยเฉพาะกิจกรรมวิชาการที่ฮาร์วาร์ดโดดเด่นในเรื่องของการเชิญผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญจากทั่วโลกมาให้ความรู้กับนักศึกษาและบุคลากรของมหาวิทยาลัยอยู่เสมอ
ในฐานะนักศึกษา คิสซิงเจอร์ จบการศึกษาระดับปริญญาตรีด้วยคะแนนยอดเยี่ยมเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง (summa cum laude) และได้ศึกษาต่อจนจบการศึกษาในระดับดุษฎีบัณฑิต วิทยานิพนธ์ในระดับดุษฎีบัณฑิตที่เขาเขียนขึ้นเรื่อง ldquo;Peace, Legitimacy, and the Equilibrium (A Study of the Statesmanship of Castlereagh and Metternich)." ได้รับการตีพิมพ์เป็นหนังสือ และสร้างชื่อเสียงให้กับเขาในเวลาต่อมา
คิสซิงเจอร์ เป็นหนึ่งในศิษย์ของ วิลเลียม เยนแดล อีเลียต (William Yandell Elliott) นักประวัติศาสตร์อเมริกันชื่อดัง เป็นที่ปรึกษาของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาถึง 6 คน อีเลียตได้รับเชิญเป็นอาจารย์ที่ฮาร์วาร์ด ต่อมารับตำแหน่งคณบดีของวิทยาลัยภาคฤดูร้อนฮาร์วาร์ด (Harvard Summer School) โดยคิสซิงเจอร์เองได้รับความไว้วางใจให้เป็นผู้อำนวยการจัดงานสัมมนานานาชาติด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่อีเลียตเป็นผู้ริเริ่มขึ้น
ภายหลังจาก คิสซิงเจอร์ จบการศึกษาแล้ว เขาก็ยังอยู่ในฮาร์วาร์ดในฐานะอาจารย์ภาควิชาการปกครอง และศูนย์ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และยังทำหน้าที่ผู้อำนวยการของโครงการศึกษาวิชาป้องกันประเทศของฮาร์วาร์ด (Harvard Defense Studies Program) ในช่วงปี ค.ศ.1958 และค.ศ.1971
ระหว่างที่เป็นอาจารย์ในฮาร์วาร์ด เขาได้ศึกษา ค้นคว้า และเข้าร่วมในแวดวงการเมืองระหว่างประเทศ ทั้งระดับการสัมมนา การเป็นที่ปรึกษาให้องค์กรของรัฐ และองค์กรไม่แสวงหากำไรอีกหลายแห่ง ปี ค.ศ.1969 เขาได้ก้าวเข้าสู่การเมืองระดับชาติอย่างเต็มตัว โดยเริ่มจากเป็นที่ปรึกษาของประธานของคณะกรรมการความมั่นคงแห่งชาติ ในสมัยของประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน (Richard Nixon)
ตัวอย่างจาก คิสซิงเจอร์ ทำให้เราได้เห็นแบบอย่างการสั่งสมประสบการณ์ ความรู้ โดยวิธีการนำตัวเองเข้าไปสู่แวดวงผู้มีความรู้ และตักตวงเอาปรัชญา ความคิด ของบุคคลเหล่านั้น มาต่อยอดและประยุกต์ใช้ จนสามารถประสบความสำเร็จทั้งการเรียน และการทำงาน ยกตัวอย่างเช่น
เรียนรู้จากอาจารย์ทั้งในห้องเรียน และนอกห้องเรียนคิสซิงเจอร์ ได้เป็นแบบอย่างของนักเรียนรู้ ที่ตักตวงความรู้จากอาจารย์ทั้งในการเรียน และนอกห้องเรียน โดยเฉพาะการได้เป็นศิษย์และผู้ช่วยของอีเลียต เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เขาได้รับการขัดเกลาทางความคิด ได้เก็บเกี่ยววิธีคิด ประสบการณ์จากผู้เชี่ยวชาญได้ชื่อว่าเป็นผู้มีชื่อเสียงของสังคม
การใช้ชีวิตในฮาร์วาร์ดนับเป็นโอกาสที่ดีที่นักศึกษาสามารถนำตัวเข้าไปคลุกคลีกับคณาจารย์ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถระดับสูง ที่จะให้ความรู้และแนะนำทิศทางต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี เป็นโอกาสตักตวงความรู้ ความคิด ประสบการณ์จากผู้รู้โดยตรง นักศึกษาจึงควรเป็นฝ่ายเข้าหาอาจารย์ให้มากขึ้นในทุกช่องทางที่สามารถจะทำได้ เช่น ขอคำชี้แนะที่เป็นประโยชน์ด้านการเรียน ตั้งคำถามในกรณีที่สงสัยหรือไม่เข้าใจ ขอนัดพบอาจารย์เพื่อปรึกษา
ฟังเสวนาวิชาการจากนักวิชาการ หรือจากผู้ปฏิบัติงานจริง แบบอย่างจากชีวิตของคิสซิงเจอร์ ทำให้เราเห็นว่า เขาไม่เพียงอยู่ในฐานะผู้จัดงาน แต่ได้เก็บเกี่ยวความรู้ที่ได้จากการเสวนา สัมมนาทางวิชาการ จนตกผลึกเป็นองค์ความรู้ที่มีประโยชน์ต่อการทำงานในอนาคต
การที่นักศึกษาเข้าฟังสัมมนา เสวนาทางวิชาการ เพิ่มเติมจากการอ่านหนังสือ ตำราและงานเขียนทางวิชาการ ซึ่งทำให้ได้ความรู้พื้นฐาน การเข้าร่วมฟังสัมมนา การอภิปราย เป็นการแสวงหาคำตอบทางวิชาการ องค์ความรู้ร่วมกันอย่างเป็นอิสระ จึงเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการขยายฐานความรู้ ช่องทางแห่งการปะทะสังสรรค์กันทางปัญญากับผู้เชี่ยวชาญ ที่มาจากหลากหลายฐานความคิด ได้จุดประกายความคิดในแง่มุมต่าง ๆ ทำให้มีความรอบคอบ นำไปสู่การพัฒนาความรู้ และขยายองค์ความรู้ของตน
สิ่งเหล่านี้ถือได้ว่าเป็นโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งเอื้อให้นักศึกษามีโอกาสได้เข้าถึงความรู้ที่ทันสมัย เป็นโอกาสที่จะได้ปะทะสังสรรค์ทางความคิดกับผู้รู้ในช่องทางที่หลากหลาย ซึ่งจะทำให้ได้รับความรู้อย่างเต็มที่ มีความรู้ที่แตกต่างกับคนอื่นในตลาดแรงงาน อีกทั้งเป็นโอกาสที่จะได้เรียนรู้ความแตกต่างในโลกที่มีความหลากหลาย จะช่วยให้เราเป็นคนที่มีโลกกว้างทางความคิด ยอมรับความคิดที่หลากหลาย และส่งผลให้ก้าวไปสู่จุดแห่งการพัฒนาตัวเองให้ดีมากขึ้นเรื่อย
ปัจจุบันโลกาภิวัตน์ได้ทำให้ขอบข่ายของความรู้ ขยายออกไปได้เรื่อยตามกระแสการเปลี่ยนแปลง ด้วยเหตุนี้ นักศึกษาจึงต้องเป็นคนที่มีความรู้ ldquo;ไตรมิติrdquo; ความรู้เช่นนี้จะเกิดขึ้นได้ไม่เพียงมาจากการอ่านหนังสือตำราเรียนเท่านั้น แต่มาจากการสั่งสมประสบการณ์ ความรู้นอกห้องเรียน ซึ่งอาจมาจากการเปิดรับความรู้ใหม่ ๆ ในช่องทางอื่นที่หลากหลาย เช่น การรับฟังแนวคิดจากผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญเพิ่มเติม การฝึกฝนอบรม การลงมือทำจริงในภาคสนาม เป็นต้น คือ รู้กว้าง รู้ลึก รู้ไกล ซึ่งผมได้กล่าวไว้ในหนังสือ ldquo;คลื่นลูกที่5ปราชญ์สังคม: สังคมไทยที่พึงประสงค์ในศตวรรษที่ 21rdquo; ตีพิมพ์ตั้งแต่ 10 ปีที่แล้วเมื่อปี พ.ศ.2541
สิ่งสำคัญคือ เราต้องไม่ลืมว่าวิชาความรู้ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเพื่อสร้างความเข้าใจ รวมถึงแก้ไขปัญหาและพัฒนาสังคมในแต่ละยุคสมัย เมื่อเราได้รับความรู้จากแหล่งต่าง ๆ มาแล้วจำเป็นต้องนำมาประยุกต์ให้เหมาะสม ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งการเรียน ที่ทำให้เราเข้าใจเนื้อหาสาระของวิชาที่เรียนได้อย่างลึกซึ้งถึงรากฐานความคิดในเรื่องนั้น และยังเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม
admin
เผยแพร่: 
สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
เมื่อ: 
2008-07-19