รื้อฟื้นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของกรุงเทพฯ

กรุงเทพฯ มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน 200 กว่า ปี ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กรุงเทพฯ มีการปรับตัวเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยอย่างมีพลวัตรมาโดยตลอด เราได้รับมรดกทางวัฒนธรรมจากหลากหลายอารยธรรมไม่ว่าจะเป็นจีน อินเดีย และยุโรป ผสมผสานกันมาตลอดระยะเวลาอันยาวนาน รวมทั้งได้มีการประยุกต์ให้เข้ากับลักษณะเฉพาะของสังคมไทยได้อย่างกลมกลืน จนหลายสิ่งกลายเป็นเอกลักษณ์ที่ไม่มีชาติใดในโลกเป็นเหมือน เช่น การแต่งกาย อาหารคาวอาหารหวาน การละเล่น การร้องเพลง การรำ การละคร ฯลฯ ซึ่งจะแตกต่างกันไปในแต่ละยุคแต่ละช่วงเวลา น่าเสียดายที่ หลายสิ่งที่สะท้อนสิ่งดีอันเป็นเอกลักษณ์ของคนในยุคอดีตได้เลือนหายไป
การรื้อฟื้นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของกรุงเทพฯ เป็นภารกิจอีกด้านที่ผู้บริหารกรุงเทพฯ ควรให้ความสนใจ ตัวอย่างของนาฏยศาลาหุ่นละครเล็กซึ่งเป็นคณะการแสดงละครเล็กหรือหุ่นกระบอกของอาจารย์สาคร ยังเขียวสด หรือ "โจหลุยส์" และครอบครัว ที่ได้สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศโดยได้รับรางวัลระดับโลกมามากมาย แต่กว่าจะประสบความสำเร็จได้นั้น ต้องผ่านความยากลำบากอย่างยิ่งในการพยายามที่จะรื้อฟื้นศิลปะการแสดงที่มีอายุกว่า 100 ปีนี้กลับฟื้นคืนมา
การที่เราจะรื้อฟื้นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมให้กลับคืนมามีชีวิตอยู่อย่างยั่งยืนจำเป็นต้องอาศัยแนวทางบางอย่าง สิ่งแรกที่สำคัญยิ่งคือ การแปรวัฒนธรรมให้เป็น ldquo;ทุนเอกลักษณ์rdquo; ที่สามารถเลี้ยงตัวเองได้ วัฒนธรรมใด ๆ จะอยู่รอดได้นั้น ตัววัฒนธรรมนั้นจำเป็นต้องสามารถตอบสนอง ldquo;ความต้องการrdquo; บางอย่างในสังคม หรือสามารถทำให้สังคมเห็น ldquo;คุณค่าrdquo; ของวัฒนธรรมนั้น ซึ่งอาจหมายความรวมถึงการแปรเปลี่ยนวัฒนธรรมนั้นให้เป็นสินค้าชุมชน ทำให้เกิดความต้องการในตลาด ตลอดจนมีการประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับบริบทความต้องการของยุคสมัยปัจจุบัน
ตัวอย่างเช่น หากเราต้องการรื้อฟื้น ldquo;หมู่บ้านริมน้ำrdquo; เอกลักษณ์ของคนกรุงเทพฯในอดีต ในชุมชนริมน้ำหรือหมู่บ้านริมคลองบางแห่งในเขตรอบนอก อาจจะต้องมีการผสมผสานระหว่างการท่องเที่ยวกับการอนุรักษ์ โดยอาจส่งเสริมให้ชาวบ้านแบ่งพื้นที่ทำเป็นโฮมสเตย์ (home stay) ให้นักท่องเที่ยวมีโอกาสเข้าไปสัมผัสชีวิตริมคลองริมแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งช่วยให้ชาวบ้านมีรายได้พร้อม ๆ กับช่วยอนุรักษ์วัฒนธรรมจากบรรพบุรุษควบคู่กันไป หรือหากต้องการอนุรักษ์ลวดลายไทย ก็อาจจะนำลายไทยมาประยุกต์กับเครื่องแต่งกายสมัยใหม่ให้ดูกลมกลืน ไม่เชย แต่ร่วมสมัย
โดยสรุป การรื้อฟื้นวัฒนธรรมให้ยั่งยืนได้ จำเป็นต้องสร้างกลไกให้เกิดความต้องการในสังคม ทั้งความต้องการทางเศรษฐกิจและความต้องการทางจิตใจที่เกิดจากการเห็นคุณค่าวัฒนธรรมนั้น
admin
เผยแพร่: 
หนังสือพิมพ์บางกอกทูเดย์
เมื่อ: 
2008-07-18