ปรับความเข้าใจแบบใช้คนกลาง
หากความขัดแย้งเกิดจากการมีความคิดเห็นแตกต่าง หรือเป็นความขัดแย้งที่เกิดความเข้าใจผิดกัน ความเข้าใจไม่ตรงกัน การพูดคุยปรับความเข้าใจกันระหว่างคู่กรณีจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด
อันที่จริง การพูดคุยเพื่อปรับความเข้าใจกัน ควรจะทำทุกกรณีของความขัดแย้ง เพื่อให้แน่ใจว่าเข้าใจสาเหตุของปัญหาที่แท้จริง และมีการปรับความคิดเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งหากองค์กรมีวัฒนธรรมในการสื่อสารที่โปร่งใสอยู่แล้ว การให้คู่กรณีมาปรับความเข้าใจกันคงทำได้ไม่ยากมาก แต่หากองค์กรมีวัฒนธรรมการสื่อสารที่ไม่ดีนัก การพูดคุยกันเพื่อปรับความเข้าใจ จำเป็นต้องดำเนินการด้วยความระมัดระวัง
ข้อแนะนำในการคุยเพื่อปรับความเข้าใจกัน ได้แก่
การหาคนกลาง หรือ ผู้ไกล่เกลี่ย มาเป็นกรรมการ ต้องมีคุณสมบัติคือ ไม่มีส่วนได้ส่วนเสีย เป็นคนที่ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบ ยิ่งหากเป็นผู้ที่ทั้งสองให้ความเคารพนับถือ จะยิ่งช่วยให้ทั้งสองฝ่ายเกิดความมั่นใจว่า ความขัดแย้งนั้นจะยุติลงได้ด้วยดี ที่สำคัญ คนกลางนั้นต้องเป็นผู้ที่มีความยุติธรรม มีความเข้าใจในประเด็นความขัดแย้ง มีความชำนาญในการจัดการความขัดแย้ง และสามารถนำเสนอทางออกหรือทางเลือกใหม่ที่ทั้งสองฝ่ายน่าจะพึงพอใจได้
ในทางปฏิบัติจริง ผู้ที่เป็นกรรรมการนี้ จะเป็นคนสำคัญในการจูงใจให้เกิดการตกลงกันได้ดังนั้นหากกรรมการนี้ไม่ทำหน้าที่ที่ดี และไม่ระมัดระวังและบังคับให้ผลสรุปออกมาตามที่ตนเองพอใจ จะไม่ได้ช่วยให้การพูดคุยเพื่อแก้ไขความขัดแย้งได้รับการแก้ไขอย่างแท้จริง
ตกลงกติกาก่อนเจรจา เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายทราบข้อตกลงและยอมรับร่วมกัน อาทิ ขั้นตอนเวลาและกติกา เช่น ใครพูดก่อน ใครพูดหลัง ใครจะมีโอกาสพูดกี่ครั้งและลำดับสิ่งที่ควรพูด การพูดจะอยู่ที่ประเด็นของความขัดแย้งโดยไม่เอาประเด็นอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องลากเข้ามา หากไม่ตกลงกันไว้ก่อน อาจจะเกิดการแย่งกันพูดหรือการไม่ลำดับความคิดการเสนอประเด็นให้ดีทำให้การสื่อสารเป็นไปได้ยากลำบากและการพูดไม่สามารถคุ้มประเด็นได้และจะกลายเป็นการโจมตีกันในเรื่องส่วนตัว
กำชับเรื่องคำพูดในการสื่อสาร การเจรจาปัญหาความขัดแย้ง จำเป็นต้องวางข้อกำหนดในเรื่องคำพูดของทั้งสองฝ่าย โดยจำเป็นต้องสร้างบรรยากาศแง่บวกในการพูดคุยกัน จึงควรมีการตกลงก่อน อาทิ ตกลงว่า ทุกฝ่ายจะยินดีที่จะให้อีกฝ่ายพูดได้โดยจะไม่ทำให้เกิดการขุ่นเคืองซึ่งกันและกัน เพื่อทำให้ทุกฝ่ายรู้สึกมีอิสรภาพในการพูด ตกลงในเรื่องของการใช้คำพูดที่สุภาพต่อกัน การอดทนรับฟังข้อชี้แจงของแต่ละฝ่าย การไม่พูดกล่าวหาอีกฝ่าย หลีกเลี่ยงภาษาที่กดหรือทำให้อีกฝ่ายเสียหน้า เสียศักดิ์ศรี แต่พูดเพียงข้อเท็จจริง รวมทั้งการตกลงที่ทั้งสองฝ่ายจะพูดด้วยเหตุผล ไม่ระเบิดอารมณ์เข้าใส่กัน
ทั้งสองฝ่ายที่ขัดแย้งต้องตระหนักเสมอว่า การตัดสินใจเจรจานั้น มุ่งหมายเพื่อสลายความขัดแย้ง และกลับคืนสู่สภาพปกติที่ทุกฝ่ายพึงพอใจ ดังนั้น จึงจำเป็นต้อง ดำเนินการเจรจาภายใต้กรอบกติกาที่ตกลงร่วมกัน เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายบรรลุเป้าหมาย ซึ่งย่อมมิใช่การมาเพื่อทะเลาะเบาวะแว้งหรือการเอาชนะคะคานกัน
เผยแพร่:
งานวันนี้
เมื่อ:
2008-07-15