บาราก โอบามา แบบอย่างการเปิดรับความคิดเห็นที่แตกต่าง
ในเวลานี้หากจะกล่าวถึงชื่อของ บาราก โอบามา (Barack Obama) ผมเชื่อว่า หลายคนจะมีความคุ้ยเคยกับชื่อนี้ ในฐานะตัวแทนของพรรคเดโมเครตเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาที่จะเกิดขึ้นช่วงปลายปี ค.ศ.2008 นับได้ว่าเป็นตัวแทนคนผิวสีคนแรกที่ได้มีโอกาสเข้ามาแข่งขันในระดับชาติ และเป็นนักการเมืองหนุ่มหน้าใหม่ที่มาแรง
โอบามาเกิดมาในสภาพแวดล้อมที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติ ศาสนา และวัฒนธรรม เนื่องจากพ่อผู้ให้กำเนิดเป็นชาวเคนยา แม่เป็นชาวอเมริกัน แต่ทั้งคู่หย่าร้าง แม่ของเขาแต่งงานกับชาวอินโดนีเซีย โอบามาจึงต้องย้ายถิ่นฐานไปเรียนในโรงเรียนท้องถิ่นของอินโดนีเซีย ต่อมาจึงได้ย้ายกลับมาอยู่กับครอบครัวของยายในสหรัฐอเมริกาอีกครั้ง
อีกทั้งชีวิตในช่วงหนึ่งของโอบามาจะพยายามค้นหาตัวตน เนื่องจากเขาเป็นเด็กผิวสี ที่เติบโตขึ้นมาท่ามกลางสังคมของคนผิวขาว จนต้องหันไปพึ่งพายาเสพติดเพื่อให้ลืมชาติพันธุ์ของตน แต่เมื่อเขาเกิดความเข้าใจตนเอง ประสบการณ์เหล่านี้จึงกลายเป็นส่วนหนึ่งที่หล่อหลอมให้เขามีความเห็นอกเห็นใจ เข้าใจและสามารถเรียนรู้วัฒนธรรมที่หลากหลายได้รวดเร็ว เปิดกว้างและยินดีรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง
ชีวิตในรั้วฮาร์วาร์ดของโอบามา เริ่มต้นขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1988 ในฐานะนักศึกษาปริญญาโทด้านกฎหมาย ที่มีประสบการณ์ในการทำงานชุมชนมากว่า 3 ปี และจบการศึกษาในระดับปริญญาเอกเมื่อปี ค.ศ.1991 ด้วยระดับคะแนนสูงสุด เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง (magna cum laude)
ระหว่างที่เขาศึกษาในฮาร์วาร์ดนั้น เขาเป็นคนผิวสีคนแรกที่ได้รับเลือกเป็นประธานของนิตยสาร Harvard Law Review นิตยสารอันมีชื่อเสียงยาวนานกว่าร้อยปี ซึ่งจัดทำโดยนักศึกษา ที่ตีพิมพ์ผลงานวิชาการ บทวิเคราะห์ด้านกฎหมาย ตำแหน่งดังกล่าวถือว่ามีเกียรติสูงในหมู่นักศึกษากฎหมายของฮาร์วาร์ด เนื่องจากผู้ที่ได้รับคัดเลือกต้องเป็นทั้งคนที่มีผลการเรียนทีดีและมีความสามารถ
การได้ร่วมทำงานกับนักศึกษาที่เป็นกองบรรณาธิการ โอบามาได้แสดงภาวะผู้นำที่ยินดีรับฟังความคิดเห็นของเพื่อนร่วมงาน เปิดโอกาสให้ทุกคนแสดงความคิดเห็นอย่างเสรี โดยที่เขาไม่เคยชี้นำความคิดให้คนอื่นคิดเห็นเช่นเดียวกับเขา โดยเฉพาะในเรื่องชาติพันธุ์ คนกลุ่มน้อยในสังคม
เพื่อนร่วมงานในกองบรรณาธิการส่วนหนึ่งกล่าวว่า การร่วมงานกับโอบามาทำให้เห็นว่า เขาเป็นคนที่แสดงออกว่าเป็น ldquo;เสรีนิยมrdquo; และทุกครั้งที่มีการประชุมกองบรรณาธิการ โอบามาจะเป็นผู้ไกล่เกลี่ยบรรยากาศ การถกเถียงในแนวคิดของแต่ละฝ่าย จนได้ข้อสรุปที่ทุกคนยอมรับร่วมกัน
โอบามายังเป็นแบบอย่างในการทุ่มเททำงานหนักแก่ทีมงาน เขามักใช้เวลาประมาณ 50-60 ชั่วโมงในห้องทำงานของนิตยสาร อ่านบทความทุกประเภทที่ส่งมาเพื่อลงในนิตยสาร เพื่อศึกษาและเก็บเกี่ยวเอาแนวคิดที่หลากหลายจากกลุ่มคนประเภทต่าง ๆ
ประสบการณ์เหล่านี้จึงเป็นส่วนหนึ่งที่หล่อหลอมนักการเมืองหนุ่มคนนี้ให้กลายเป็น คนที่มีวาทศิลป์ยอดเยี่ยม มีความสุขุม สามารถเข้าถึงคนได้ทุกกลุ่ม มีภาวะผู้นำ ที่สามารถทำให้คนเชื่อมั่นว่า เขาสามารถนำทุกคน ทุกฝ่าย มาร่วมเจรจากันได้ โดยตัวเขาเองจะรับฟังความเห็นที่แตกต่าง
ลักษณะชีวิตของโอบามาได้ให้ข้อสังเกตว่า พื้นฐานสำคัญของการทำงานร่วมกับผู้อื่นคือ การเข้าใจผู้อื่นมองผู้อื่นในด้านบวก มองว่าทุกคนมีคุณค่าและมีศักยภาพ แม้มีความแตกต่างก็สามารถนำความแตกต่างมาเสริมสร้างกันได้
การสร้างทัศนคติต่อผู้อื่นอย่างถูกต้องเช่นนี้ นักศึกษาสามารถพัฒนาผ่านการทำกิจกรรมร่วมกับผู้อื่น อาจเป็นลักษณะของกิจกรรมเชิงสังคม ตามความถนัดและความสนใจ เช่น กิจกรรมอาสาพัฒนา กิจกรรมพัฒนาชุมชน เป็นต้น
การที่นักศึกษาได้เรียนรู้จักการทำงานร่วมกับผู้อื่น จะทำให้เราสามารถค้นพบหรือรู้จักตนว่า สามารถสื่อสารกับผู้อื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพเพียงใด มีความเข้าใจเพื่อนร่วมทีมและปัญหาของทีมมากน้อยเพียงใด สามารถหาแนวทางแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่
นอกจากนี้ เรายังสามารถพัฒนาลักษณะชีวิตส่วนตัว ในเรื่องที่เราอาจไม่เคยให้ความสำคัญมาก่อน ยกตัวอย่างเช่น
ให้ความเอาใจใส่เพื่อนร่วมงาน แม้ในเรื่องที่ดูเหมือนเล็กน้อยทั้งในเรื่องชีวิตครอบครัว ชีวิตประจำวัน และชีวิตอนาคต
ให้แรงบันดาลใจ แบ่งปันให้ทุกคนเห็นความสำคัญของเป้าหมายที่กำลังจะไปให้ถึง ทำให้ทุกคนรู้สึกมีส่วนร่วมในความสำเร็จ
ให้ความสำคัญกับงานของทุกคน ไม่ละเลยแม้งานเล็ก ๆ ที่บางคนรับผิดชอบ โดยพยายามทำความเข้าใจความยากลำบากที่ต้องเผชิญ
ให้คำแนะนำ ปรึกษา และชี้ทิศทาง ให้ทุกคนเกิดความรู้สึกว่าไม่ได้เพียงถูกสั่งให้ทำงาน แต่เป็นการทำงานร่วมกัน
การเข้าใจถึงอารมณ์ความรู้สึก ความต้องการ และการตอบสนองของผู้ร่วมงาน เพื่อจะทำให้สามารถร่วมงานกับผู้อื่นได้ดี หลายครั้งการที่เราไม่ถูกยอมรับจากเพื่อนรอบข้าง เกิดขึ้นเพียงเพราะยึดความต้องการของตนเองเป็นที่ตั้ง ไม่ได้ตระหนักถึงความต้องการของคนรอบข้างอย่างแท้จริง ทำให้ขาดความยืดหยุ่นในการปฏิบัติงานร่วมกัน นำไปสู่การเกิดความขัดแย้งอย่างที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น
ดังนั้นการเปิดใจให้กว้าง พยายามเข้าใจผู้อื่น มองคนอื่นอย่างมีคุณค่า เข้าใจและยอมรับความแตกต่างทางความคิด จะเป็นหนทางนำไปสู่การเปิดโลกทัศน์ใหม่ ก้าวข้ามความจำกัดทางความรู้ ความคิด เกิดการพัฒนาทางความคิด ต่อยอดความรู้ สามารถนำความแตกต่างมาใช้ประโยชน์ และอยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างมีความสุข
Tags:
เผยแพร่:
สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
เมื่อ:
2008-07-15