City Link Card บัตรโดยสารครบวงจร

 
 
ปัจจุบันปัญหาจราจรติดขัดยังเป็นปัญหาที่แก้ไม่ได้ และเป็นปัญหาที่ประชาชนชาว กทม.ต้องการให้มีการแก้ไขอย่างเร่งด่วนเป็นอันดับหนึ่ง สาเหตุหนึ่งเกิดจากปริมาณการใช้รถส่วนบุคคลจำนวนมากเมื่อเทียบกับถนนที่มีจำกัด ดังนั้นเพื่อเป็นการลดปริมาณการใช้รถส่วนบุคคล จึงมีการส่งเสริมให้ประชาชนหันมาใช้บริการรถสาธารณะมากขึ้น แต่ด้วยสภาพของปัญหาและคุณภาพการบริการของรถสาธารณะในปัจจุบัน ทำให้ความพยายามให้ประชาชนหันมาใช้รถสาธารณะไม่ประสบความสำเร็จ
 
จำนวนผู้ใช้บริการรถสาธารณะในปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 2 ล้านคน แม้จะมีผู้ใช้บริการเป็นจำนวนมาก แต่อัตราค่าโดยสารไม่ได้สะท้อนต้นทุนอย่างแท้จริง ทำให้ขสมก.ขาดทุนจำนวนมาก และให้สัมปทานแก่เอกชนเพื่อรองรับจำนวนผู้ใช้บริการที่มีมาก ซึ่งเอกชนก็ประสบปัญหาต้นทุนการดำเนินการเช่นเดียวกัน จึงส่งผลให้เกิดปัญหาคุณภาพการบริการของรถร่วมฯ ตามที่มีการร้องเรียนเป็นจำนวนมาก
 
เพื่อลดปัญหาการแก่งแย่งกันใช้บริการรถสาธารณะ ทางกทม. จึงส่งเสริมให้ประชาชนใช้บริการขนส่งมวลชนทางเลือกมากขึ้น เช่นโครงการ เรือต่อรถ รถต่อเรือ ช่วยเหลือชาติ หรือโครงการใช้บริการสาธารณะเชื่อมต่ออื่นๆ ซึ่งหากได้ผล จะลดความหนาแน่นของผู้ใช้รถสาธารณะ และยังคงลดการใช้งานรถส่วนบุคคลด้วย
 
แต่ปัจจุบัน เรายังคงชินตากับภาพของการพยายามแก่งแย่งเพื่อใช้บริการรถสาธรณะหรือรถเมล์ โดยเฉพาะช่วงเวลาเร่งด่วนแม้จะต้องพยายามอัดเข้าไปให้ยืนได้บริเวณประตู ซึ่งไม่ปลอดภัย โดยสัดส่วนของการเดินทางโดยระบบขนส่งสาธารณะซึ่งประกอบด้วยรถโดยสารประจำทาง ระบบราง (BTS/ รฟม./ รถไฟชานเมืองของ รฟท.) และเรือด่วน/ เรือข้ามฟาก โดยรถโดยสารประจำทาง เป็น ระบบขนส่งหลักของประชากรภายในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีส่วนแบ่งทางการตลาดสูงสุด คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 69 ในขณะที่ BTS, เรือด่วน, และ รฟท. คิดเป็นสัดส่วนเพียงอย่างละ 2%
 
ตัวอย่างเช่น นักศึกษาที่ต้องการเดินทางจากบริเวณรังสิต ไป ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์จะต้องรอรถเมล์บางสาย ซึ่งวิ่งระยะทางยาวตั้งแต่รังสิต จนถึงสนามหลวง ซึ่งที่จริงยังมีทางเลือกอื่นสำหรับการเดินทางไปจุดหมายปลายทางดังกล่าว เช่น การขึ้นรถเมล์แล้วไปต่อเรือโดยสาร แม้จะเป็นทางเลือกที่สามารถทำได้ แต่ในทางปฏิบัติ ประชาชนไม่เลือกเพราะเกิดความไม่สะดวกในหลายๆ ด้าน เช่น
 
middot; หากโดยสารโดยรถเมล์ และต้องมาต่อรถไฟฟ้าบีทีเอส หรือ รถไฟใต้ดิน ก็ต้องต่อแถวแลกเหรียญเพื่อซื้อบัตรโดยสารหรือเหรียญโดยสารอีก
 
middot; ต้องพกบัตรรถไฟฟ้าทั้ง 2 ใบ และเตรียมเศษเหรียญให้พอดีกับจำนวนค่าโดยสารรถเมล์ที่มีอัตราต่างกัน ยากต่อการเตรียมค่าโดยสาร

middot; ต้องเสียค่าเดินทางมากอันเกิดจากต้นทุนในการต่อ/ เปลี่ยนบริการ
 
เครือข่ายระบบคมนาคมที่ไม่เชื่อมโยงแบบนี้ ทำให้ประชาชนส่วนหนึ่งยังนิยมที่จะใช้รถยนต์ส่วนบุคคลเป็นพาหนะในการเดินทาง แม้จะมีบริการจากระบบขนส่งมวลชนที่มีประสิทธิภาพดังเช่นรถไฟฟ้าบีทีเอส และรถไฟใต้ดิน หรือสำหรับคนที่มีรายได้น้อยและไม่มียานพาหนะเป็นของตนเอง ซึ่งไม่มีทางเลือกของรูปแบบในการเดินทางเท่าใดนัก จึงต้องใช้บริการรถโดยสารประจำทางแต่เพียงอย่างเดียว ไม่ว่าราคาจะมีการปรับตัวสูงขึ้น หรือคุณภาพการให้บริการจะแย่ลงเท่าใดก็ตาม
 
ผมจึงเสนอว่าควรเชื่อมโยงระบบขนส่งมวลชนหลายรูปแบบเข้าด้วยกัน เพื่อสร้างความสะดวกสบายแก่ผู้ที่เดินทาง โดยสามารถจ่ายเงินเพียงครั้งเดียว แต่สามารถเลือกรูปแบบการเดินทางที่หลากหลาย เพื่อให้ถึงจุดหมายปลายทางอย่างรวดเร็ว โดยใช้ชื่อว่า บริการบัตรโดยสารครบวงจร (City Link Card)
 
การให้บริการบัตรโดยสารครบวงจร (City Link Card) หรือตั๋วร่วม (Common Ticket) เป็นบัตรที่สามารถใช้บริการขนส่งมวลชนได้ทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นรถไฟฟ้าบีทีเอส รถไฟฟ้าใต้ดิน เรือโดยสาร หรือรถโดยสารประจำทาง ทำให้ผู้โดยสารมีความสะดวกสบาย และประหยัดเวลาในการเดินทาง เนื่องจาก
 
middot; ไม่ต้องรอต่อคิวเพื่อซื้อตั๋ว/ เหรียญ/ บัตรโดยสารแต่ละครั้ง
 
middot; ไม่ต้องพกบัตรโดยสารหลายใบ รวมถึงเหรียญและเศษเงิน
 
middot; ใช้เวลาการเดินทางสั้นลง เพราะไม่ต้องรถรถเมล์ที่วิ่งระยะทางไกล แต่สามารถเปลี่ยนรูปแบบการเดินทางได้
 
middot; ช่วยบรรเทาปัญหารถติดเนื่องจากปริมาณการใช้รถส่วนบุคคลลดลง
 
ทั้งนี้ในอนาคตอาจสามารถเจรจากับผู้ให้บริการขนส่งสาธารณะทุกระบบ ให้มีส่วนลดให้กับผู้ใช้บริการด้วยบัตร City Link Card เนื่องจากผู้ให้บริการสามารถลดต้นทุนจากการผลิตตั๋ว ต้นทุนจากการขาย/ เก็บตั๋ว และรายได้ที่มากขึ้นจากการเพิ่มอัตราการปล่อยรถหรือเรือได้มากขึ้น เพราะผู้โดยสารไม่ต้องเสียเวลารอคิวเพื่อซื้อตั๋ว นอกจากนี้หากมีการปรับเส้นทางการเดินรถ สำหรับรถที่วิ่งทางไกล ให้วิ่งสั้นลงเพราะสามารถต่อรถได้สะดวกขึ้น ก็จะเป็นการลดต้นทุนและประหยัดพลังงาน
 
บัตรโดยสารสามารถมีหลายลักษณะ เพื่อตอบสนองความต้องการที่แตกต่างกันของผู้โดยสาร ได้แก่ บัตรโดยสารประเภท 1 วัน เป็นบัตรโดยสารในราคาเหมาจ่าย สามารถใช้บริการขนส่งมวลชนได้ทุกรูปแบบ ไม่จำกัดระยะทางและไม่จำกัดเที่ยวการโดยสาร
 
บัตรโดยสารประเภทรายสัปดาห์ เหมาะกับบุคคลที่ใช้บริการขนส่งมวลชนเป็นประจำ ซึ่งจะมีลักษณะคล้ายๆ กับบัตรประเภทเหมาจ่าย 1 วัน แต่แตกต่างที่ระยะเวลา
 
การเชื่อมโยงการเดินทางทั้งระบบเพื่อให้ผู้โดยสารได้รับความสะดวกสบาย ประหยัดเวลา และลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางโดยใช้บัตรโดยสารครบวงจร (City Link Card) ย่อมสามารถจูงใจให้คนเมืองหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้นในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาบริบทของระบบขนส่งมวลชนในกรุงเทพฯ พบว่า ยังมีหลายประเด็นที่ต้องเร่งปรับปรุง เพื่อจะส่งผลต่อการลดระดับความคับคั่งของการจราจรบนท้องถนนได้อย่างแท้จริง
 
* นำมาจากหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันพฤหัสบดีดีที่ 10 กรกฎาคม 2551


แสดงความคิดเห็น
admin
เผยแพร่: 
0
เมื่อ: 
2008-07-12