พื้นที่อยู่อาศัย....ปัญหาของเมืองใหญ่
ที่อยู่อาศัยคือหนึ่งในปัจจัย 4 ที่มีความสำคัญและจำเป็นสำหรับการดำรงชีวิต โดยเฉพาะในเมืองใหญ่เช่นกรุงเทพฯ การมีที่พักที่มั่นคงปลอดภัยบนพื้นที่เป็นหลักแหล่งถือเป็นหลักประกันพื้นฐานที่สำคัญในการสร้างความมั่นคงให้กับชีวิตของมนุษย์ ชีวิตของเราคงจะยากลำบากมากขึ้น หากวันนี้เราต้องอยู่กับความไม่แน่นอนว่า วันต่อไป เราเองยังจะได้อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่เคยอาศัยอยู่นี้ได้อีกหรือไม่
ท่ามกลางความเจริญของกรุงเทพฯ ที่มีตึกสูงระฟ้านับร้อยตึก หมู่บ้านจัดสรรนับพันโครงการ กลับยังมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่กำลังประสบกับปัญหาความไม่มั่นคงในที่อยู่อาศัย เพราะกำลังเผชิญกับปัญหาการถูกไล่ที่ เนื่องมาจากพื้นที่ดังกล่าวหมดสัญญาเช่าหรือเป็นพื้นที่บุกรุกเข้าไปอยู่อาศัยโดยไม่ได้ขออนุญาตเจ้าของ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ชุมชนแออัด เช่น ในเขตคลองเตยเขตสาทร เขตยานนาวา ซึ่งผู้อยู่อาศัยส่วนใหญ่ประกอบอาชีพหาเช้ากินค่ำ มีรายได้น้อย ไม่สามารถซื้อหาที่ดินเป็นของตนเองได้ จำเป็นต้องเช่าอยู่
ประชาชนที่อาศัยอยู่ในชุมชนแออัดเหล่านี้ต้องต้องประสบปัญหาไม่มีที่อาศัยเพราะพื้นที่บริเวณชุมชนเดิมถูกปิดไป เช่น ชุมชนคลองสาน เขตยานนาวา ที่ประชาชนต้องอพยพออกจากพื้นที่เดิม เพราะเจ้าของที่ดินต้องการเอาพื้นที่ไปใช้ประโยชน์ด้านอื่นและไม่ต่อสัญญาเช่า ในขณะที่ ยังมีชุมชนอีกจำนวนหนึ่งกำลังจะถูกปิดในอนาคต เช่น ชุมชนหลังปั้มน้ำมันเอสโซ่ เขตคลองเตย ที่มีกำหนดจะต้องถูกปิดประมาณช่วงระหว่างเดือนสิงหาคมถึงตุลาคมนี้
ชุมชนบางแห่งไม่ได้เป็นชุมชนแออัด แต่เป็นพื้นที่เก่าแก่ที่มีประวัติศาสตร์มายาวนานมากกว่า 80 ปี มีอาคารบ้านเรือนที่เป็นรูปลักษณ์สมัยโบราณที่ยังทรงคุณค่าทางศิลปวัฒนธรรม ตัวอย่างเช่น ชุมชนหวังหลี เขตบางรัก ซึ่งกรมศิลปากรเองก็มีความเห็นว่าสมควรอนุรักษ์ไว้ เพราะมีคุณค่าและความสำคัญทางประวัติศาสตร์ ในขณะที่เจ้าของพื้นที่ต้องการเอาพื้นที่คืนเพื่อใช้ประโยชน์อื่น แม้ว่าชุมชนจะพยายามต่อสู้ทางกฎหมาย แต่ท้ายที่สุดเมื่อศาลพิจารณาตัดสินให้ต้องย้ายออก ชุมชนก็ต้องยอมรับคำตัดสิน นำไปสู่จุดอวสานของชุมชนเก่าแก่แห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ ลงเมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
สิ่งนี้เป็นประเด็นท้าทายการทำงานของผู้บริหารกรุงเทพฯ อย่างไรก็ตามปัญหาเรื่องการเรียกคืนพื้นที่นี้ เป็นปัญหาที่มีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายฝ่าย จึงไม่ใช่ปัญหาที่จะแก้ไขได้ง่าย แนวทางในการแก้ไขจึงควรทำควบคู่กันไปทั้งการแก้ไขปัญหาระยะสั้นแบบทันทีและระยะยาวอย่างยั่งยืน ร่วมกับการกำหนดแนวทางการพัฒนาประเทศในภาพรวมที่ส่งเสริมให้คนอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่เป็นภูมิลำเนาของตนเอง เช่น การกระจายรายได้และความเจริญไปสู่ส่วนภูมิภาค ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการอพยพเข้ามาหางานทำและตั้งรกรากในเมืองใหญ่ อันเป็นสาเหตุสำคัญของปัญหาเรื่องนี้
Tags:
เผยแพร่:
หนังสือพิมพ์บางกอกทูเดย์
เมื่อ:
2008-06-12