สร้างความสุขในวัยเรียน

เมื่อกลางเดือนเมษายนที่ผ่านมา ข่าวสะเทือนขวัญและได้รับการกล่าวถึงในวงกว้างคือ เหตุการณ์ที่นักศึกษาเกาหลีใต้บุกสังหารกลุ่มเพื่อนนักศึกษาและครูในมหาวิทยาลัยเวอร์จิเนียเทค รัฐเวอร์จิเนีย สหรัฐอเมริกา จนมีผู้เสียชีวิต 32 ศพ พร้อมปลิดชีพตนเอง โดยสาเหตุของการกระทำดังกล่าวเกิดจากอาการเครียด ความกดดันจากสังคมรอบตัว ความผิดหวังขั้นกระทบกระเทือนจิตใจ และไม่สามารถปรับตัวเข้ากับสังคมอื่น ๆ ได้

เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนถึงปัญหาสุขภาพจิตของเด็กและเยาวชนในปัจจุบันที่เกิดขึ้นทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยด้วย โดยมีแนวโน้มสูงขึ้นและอาจเกิดการต่อต้านสังคมรอบตัวด้วยการใช้ความรุนแรงต่อผู้อื่นมากขึ้นได้ งานวิจัยหลายชิ้นพบว่า สาเหตุสำคัญของความเครียดในวัยเรียน ส่วนหนึ่งเกิดจากสภาพการแข่งขันด้านการเรียนและกิจกรรมนอกห้องเรียน ผู้เรียนต้องเผชิญกับการแข่งขันกับตนเอง เพื่อให้ได้คะแนนสูง การได้รับแรงกดดันจากพ่อแม่ผู้ปกครองด้านการเรียน การแข่งขันเพื่อสอบเข้าศึกษาต่อในสถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียง สิ่งเหล่านี้มีส่วนส่งผลก่อให้เกิดความเครียดในกลุ่มผู้เรียน

นอกจากนั้น สาเหตุของความเครียดอีกประการหนึ่งอาจมาจากธรรมชาติของตัวผู้เรียนที่อยู่ในช่วงวัยรุ่น ที่มีอารมณ์ไม่มั่นคง อ่อนไหวง่าย ใจร้อน ไม่ค่อยฟังเหตุผลของใคร ประกอบกับการอยู่ในวัยที่ยังขาดความเชี่ยวชาญในปัญหาชีวิต จึงเพลี่ยงพล้ำและก่อเกิดความวิตกกังวลและความเครียดได้ง่าย

สภาพแวดล้อมที่ก่อให้เกิดความเครียดดังข้างต้นนี้ ส่งผลกระทบต่อผู้เรียนจำนวนไม่น้อย โดยบางรายอาจจะไม่แสดงปฏิกิริยาออกมาภายนอกที่ชัดเจนนัก แต่สามารถสังเกตได้จากลักษณะของการหงุดหงิด เศร้าซึม วิตกกังวลอยู่ตลอดเวลา จนผู้เรียนบางส่วนหันไปพึ่งพายาเสพติด มั่วสุม หรือปลดปล่อยอารมณ์ด้วยการใช้ความรุนแรง การก่ออาชญากรรม หรืออาจเกิดการฆ่าตัวตายได้ เป็นต้น ซึ่งปรากฏการณ์เหล่านี้หากไม่รีบแก้ไข จะส่งผลกระทบต่อตัวเด็กและสังคมส่วนรวม

ดังนั้น สถาบันการศึกษาและพ่อแม่ผู้ปกครองจึงควรมีส่วนช่วยผู้เรียนในการหาวิธีการผ่อนคลายความเครียดและสร้างความสุขให้แก่ผู้เรียนไปพร้อม ๆ กับการพัฒนาทักษะความรู้ด้านวิชาการอย่างสมดุล อันเป็นการช่วยบรรเทาและปลดปล่อยความตึงเครียดของผู้เรียน ซึ่งจะส่งผลต่อการเพิ่มความสามารถในการเรียนและการดำเนินชีวิตของผู้เรียน ช่วยให้ผู้เรียนมีความสุขและสามารถถ่ายทอดเป็นพฤติกรรมที่ดีไปยังผู้อื่น อีกทั้ง ช่วยลดผลกระทบที่ร้ายแรงต่อร่างกาย เช่น โรคเครียด การฆ่าตัวตาย และอุบัติเหตุที่ไม่พึงประสงค์ต่าง ๆ โดยมีแนวทางดังนี้

ส่งเสริมให้ผู้เรียนรู้จักตนเอง

ครูควรเริ่มจากการสังเกตและการสอนให้ผู้เรียนรู้จักวิธีประเมินสภาพการเรียนและการดำเนินชีวิตประจำวันว่า มีสิ่งใดที่ส่งผลกระทบให้เกิดความเครียดหรือวิตกกังวล ความเครียดที่เกิดขึ้นส่งผลต่อผู้เรียนมากน้อยเพียงใดและที่ผ่านมาผู้เรียนผ่อนคลายโดยวิธีใด เพียงพอหรือไม่ รู้จักและเข้าใจอารมณ์และลักษณะนิสัยตนเอง เพื่อประเมินแนวทางผ่อนคลายที่เหมาะสมกับผู้เรียนแต่ละคน โดยกระทรวงศึกษาธิการและกรมสุขภาพจิตร่วมมือกันพัฒนาแบบทดสอบความฉลาดทางอารมณ์ ในผู้เรียนแต่ละช่วงวัย เพื่อให้สถานศึกษาใช้ประเมินความเข้าใจตนเองของผู้เรียนแต่ละคนอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ พ่อแม่ผู้ปกครองควรมีส่วนร่วมในการเสริมสร้างให้แก่ผู้เรียนรู้จักตนเองมากขึ้น ทั้งการสังเกตพฤติกรรม และการแนะนำในการปฏิบัติตัวในการอยู่น่วมกับผู้อื่นอย่างเหมาะสม เป็นแบบอย่างในการกระทำ คำพูด รวมถึงไม่สร้างแรงกดดันในเรื่องการเรียนจนเกินสมควร ในขณะเดียวกันพ่อแม่ ผู้ปกครองควรปลูกฝังให้เด็กเรียนรู้จักการเผชิญหน้ากับความผิดพลาด การพลาดหวังและการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นซึ่งเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้ผู้เรียนสามารถผ่านพ้นช่วงเวลาที่มีแรงกดดันเข้ามาในชีวิตได้

สร้างช่องทางผู้เรียนผ่อนคลายความเครียด

สถานศึกษาควรเปิดโอกาสให้ผู้เรียนมีกิจกรรมนอกเหนือจากการเรียนในชั้นเรียน โดยสนับสนุนจัดกิจกรรมที่หลากหลายสอดคล้องกับวัย และความสนใจของผู้เรียน อาทิ จัดกิจกรรมช่วงปิดเทอมโดยให้ผู้เรียนสามารถเลือกลงกิจกรรมตามความชอบ เพื่อให้ผู้เรียนมีโอกาสทำกิจกรรมที่สนใจ นอกเหนือจากกวดวิชา จัดกิจกรรมช่วงสุดสัปดาห์ให้ผู้เรียนใช้พื้นที่โรงเรียนทำกิจกรรม เช่น กีฬาสัมพันธ์ จัดแสดงดนตรี เป็นต้น

ส่งเสริมให้ผู้เรียนค้นหาความถนัด ความชอบหรือความสนใจของตน

ผ่านการเรียนการสอนในห้องเรียนและกิจกรรมนอกห้องเรียน โดยครูเป็นที่ปรึกษา สนับสนุนผู้เรียนมีเสรีภาพในการเรียนรู้ สอดแทรกกิจกรรมที่หลากหลายในแต่ละวิชา ส่งเสริมทักษะด้านต่าง ๆ เพื่อผู้เรียนได้รับการพัฒนาความสามารถและค้นหาความถนัดของตนเอง โดยครูควรมีส่วนในการต่อยอดและพัฒนาตามความสามารถของผู้เรียนให้มากขึ้นโดยการสนับสนุนผู้เรียนทำกิจกรรมที่ตนเองชอบ จนไปถึงระดับของการพัฒนาต่อยอดมากขึ้น เช่น การเปิดโอกาสให้ผู้เรียนนำผลงานไปเผยแพร่ในที่สาธารณะ ร่วมกิจกรรมที่จัดขึ้นโดยหน่วยงานต่าง ๆ ตลอดจนส่งเสริมสู่แนวทางการพัฒนาเป็นอาชีพเสริม หรือสร้างเป็นรายได้ให้กับผู้เรียนและครอบครัวได้ เป็นต้น ประเด็นนี้น่าจะมีการสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอกในการจัดกิจกรรมให้ผู้เรียน
การจะพัฒนาเด็กในวัยเรียน สถาบันการศึกษาและพ่อแม่ผู้ปกครองไม่ควรมุ่งความสนใจไปที่การพัฒนาทักษะความรู้ด้านวิชาการเท่านั้น แต่จำเป็นต้องพัฒนาเด็กอย่างสมดุล ทั้งด้านการเรียน และสภาพจิตใจ เพื่อเด็กจะสามารถดำเนินชีวิตในวัยเรียนได้อย่างมีความสุข และเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพต่อไป
admin
เผยแพร่: 
การศึกษาอัพเกรด
เมื่อ: 
2007-07-19